×

อัปเดต ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ กับ ‘ปิ่นปราชญ์ จักกะพาก’ ปั้นแพลตฟอร์มระดมทุนรูปแบบใหม่

09.12.2020
  • LOADING...
อัปเดต ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ กับ ‘ปิ่นปราชญ์ จักกะพาก’ ปั้นแพลตฟอร์มระดมทุนรูปแบบใหม่

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • “เทคโนโลยีไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีทางของธุรกิจในแบบเดิมไปมากขนาดนั้น เราจะเห็นว่าวิธีการระดมทุนก็ยังเป็นแบบเดิม แต่เราเพียงแค่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามานี้มันไม่ได้เป็นการปฏิวัติวงการ (Revolutionary) แต่มันเป็นวิวัฒนาการ (Evolutionary) ซึ่งช่วยอัปเกรดระบบเดิมที่มีอยู่แล้ว” คือสิ่งที่ปิ่นปราชญ์ช่วยฉายภาพให้เราเข้าใจการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับโลกของการลงทุนมากขึ้น 
  • ปิ่นปราชญ์ จักกะพาก เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ERX ผู้ซึ่งต้องการจะสร้างตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านรูปแบบของ ‘โทเคน’ 
  • ‘โทเคน’ แตกต่างไปจากสกุลเงินดิจิทัลทั่วไปอย่าง ‘บิตคอยน์’ โดยเฉพาะในส่วนที่โทเคนจะมีสินทรัพย์อ้างอิง ทำให้โทเคนสามารถถูกประเมินมูลค่าพื้นฐานได้
  • ปิ่นปราชญ์เชื่อว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า สินทรัพย์ดิจิทัลจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นพร้อมๆ กับการตื่นตัวของผู้คน ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศ 

หากพูดถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ‘บิตคอยน์’ น่าจะเป็นชื่อแรกๆ ที่โผล่เข้ามาในความคิดของใครหลายคน และอาจจะรวมไปถึงสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ที่เชื่อกันว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบ ‘การเงินการลงทุน’ ที่เราคุ้นชินกันอยู่ให้แตกต่างออกไปจากเดิม

“ในปีนี้ผู้คนเริ่มเข้าใจว่าเทคโนโลยีทำอะไรได้บ้าง สำหรับผม เทคโนโลยีไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีทางของธุรกิจในแบบเดิมไปมากขนาดนั้น เราจะเห็นว่าวิธีการระดมทุนก็ยังเป็นแบบเดิม แต่เราเพียงแค่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามานี้มันไม่ได้เป็นการปฏิวัติวงการ (Revolutionary) แต่มันเป็นวิวัฒนาการ (Evolutionary) ซึ่งช่วยอัปเกรดระบบเดิมที่มีอยู่แล้ว” ปิ่นปราชญ์ จักกะพาก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด (ERX) เริ่มต้นอธิบายถึงภาพรวมของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทกับโลกของการลงทุน หรือแม้แต่โลกของการเงินในชีวิตประจำวันของแต่ละคน

ส่วน ERX คือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการเงินผ่านสิ่งที่เรียกว่าสินทรัพย์ดิจิทัล หากจะอธิบายให้เข้าใจอย่างง่าย สิ่งที่ ERX กำลังทำคือการสร้างตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล คล้ายกับตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นตลาดสำหรับซื้อขายสินทรัพย์ดั้งเดิม เช่น หุ้น หรืออนุพันธ์

สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาซื้อขายกันบนแพลตฟอร์มของ ERX คือสิ่งที่เรียกว่า ‘โทเคน’ ซึ่งเจ้าโทเคนนี้จะแตกต่างไปจากบิตคอยน์หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันอย่างแพร่หลายมากกว่าแล้วในปัจจุบัน โดยจุดแตกต่างที่สำคัญระหว่าง ‘โทเคน’ และสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ คือโทเคนจะถูกสร้างขึ้นมาโดยมีสินทรัพย์บางอย่างอ้างอิงอยู่ เช่น โทเคนของโครงการอสังหาริมทรัพย์โครงการหนึ่ง ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินงานอยู่จริง สามารถสร้างรายได้ได้จริง ทำให้มูลค่าของโทเคนจะถูกประเมินจากสินทรัพย์ที่อ้างอิงอยู่นั้น

ปิ่นปราชญ์กล่าวต่อว่า บางคนอาจจะบอกว่าเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์สิ่งเดิม แต่ในมุมของผมมันเป็นการอัปเกรดของเดิมมากกว่า เชื่อว่าในปีนี้หรือปีหน้าผู้คนจะเริ่มเข้าใจเทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น ซึ่งก็รวมถึงบล็อกเชนที่มีบทบาทอย่างมากสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล

“การพัฒนาของโลกการเงินในขณะนี้มันเหมือนกับพัฒนาการของการสื่อสาร ซึ่งสมัยก่อนเราใช้วิธีเขียนจดหมาย ก่อนจะพัฒนามาเป็นการส่งแฟกซ์ และต่อมาก็เป็นอีเมล จนมาถึงการสื่อสารในยุคปัจจุบัน จะเห็นว่าโดยรวมแล้วพื้นฐานของการสื่อสารไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่วิธีการมันเปลี่ยนไป มันเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับสินทรัพย์ดิจิทัล”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ซึ่งเริ่มมีผู้ที่สนใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่บ้างแล้ว แต่ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเพราะในขณะนั้นมีการหลอกลวง (Fraud) อยู่มาก โดยเฉพาะในส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งไม่ได้มีสินทรัพย์อ้างอิงที่เป็นสินทรัพย์จริงๆ ซึ่งสามารถประเมินมูลค่าได้

ตัดภาพมาในปัจจุบัน ความท้าทายของการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลมี 2 ด้าน คือการทำความเข้าใจเทคโนโลยี และการเข้าใจความเสี่ยงของสินทรัพย์อ้างอิง

“ปัจจุบันต้องยอมรับว่าผู้คนยังไม่ค่อยเข้าใจว่าเทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้คืออะไร ซึ่ง ERX พยายามทำส่วนต่างๆ ให้ง่ายเพื่อให้ผู้คนเข้าใจมากขึ้น ส่วนในเรื่องของความเสี่ยงของสินทรัพย์อ้างอิง ERX พยายามมองหาสินทรัพย์อ้างอิงที่คนเข้าใจพื้นฐานของสินทรัพย์หรือของธุรกิจนั้นๆ”

ในแง่ความพร้อมของประเทศไทยสำหรับการรองรับการเข้ามาของสินทรัพย์ดิจิทัล ในด้านกฎเกณฑ์ถือว่ามีความพร้อมระดับหนึ่ง หน่วยงานกำกับอย่าง ก.ล.ต. มีการปรับตัวเข้ากับการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล และมีการพัฒนากฎหมายในด้านต่างๆ ขึ้นมารองรับ

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนอาจจะตั้งคำถามว่าแล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสินทรัพย์อ้างอิงเหล่านี้ไม่ได้มีความเสี่ยงมากเกินไป ในส่วนนี้ทาง ก.ล.ต. ได้ออกแบบกรอบแนวคิดขึ้นมาเพื่อคัดกรองสินทรัพย์ต่างๆ ขณะที่ ERX ก็พยายามสร้างเกณฑ์ในการคัดเลือกสินทรัพย์ต่างๆ ที่จะถูกนำมาแปลงเป็นโทเคน (Tokenization) เพื่อรองรับอีกชั้นหนึ่ง

“สำหรับโทเคนที่จะมีการออกขายนี้จะมีข้อมูลที่คล้ายกับหนังสือชี้ชวนและการระบุถึงความเสี่ยงในด้านต่างๆ ของการลงทุน ขณะเดียวกันบริษัทพยายามที่จะให้ความรู้กับตลาดให้ได้มากที่สุดก่อน เพื่อทำให้นักลงทุนทั่วไปเข้าใจการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น”

ปัจจุบันจะเห็นว่าสถาบันการเงินเริ่มสนใจการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าสถาบันการเงินรู้จักสินทรัพย์เหล่านี้อยู่แล้ว และเมื่อนักลงทุนสถาบันทั่วไปเริ่มสนใจมากขึ้นก็จะช่วยให้นักลงทุนทั่วไปในตลาดเริ่มสนใจมากขึ้นตามไปด้วย

สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต่างประเทศ จะเห็นว่ามีกองทุนหลายแห่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะ รวมถึงความสนใจจากบริษัทขนาดใหญ่ เช่น MicroStrategy หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ได้ประกาศว่าต้องการจะเข้าซื้อบิตคอยน์ด้วยมูลค่าถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นเงินทุนสำรองของบริษัท และยังมี Hedge Fund อีกหลายแห่งที่ต้องการเข้ามาลงทุน รวมถึง PayPal ที่อนุญาตให้ซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยสกุลเงินดิจิทัลได้

อย่างไรก็ดี ความกังวลในเรื่องความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี เช่น ในอดีตตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลบางแห่งโดนแฮ็กข้อมูล ซึ่งในกรณีของสกุลเงินดิจิทัล หากโดนเช่นนั้นและถูกขโมยเงินออกไปจากบัญชีอาจจะยากสำหรับการเรียกคืนกลับมาได้ เปรียบกับการที่ใครบางคนมาขโมยเงินเราไป หรือเก็บเงินของเราหากเราทำหล่นไว้

แต่ในกรณีของโทเคนเปรียบเหมือนกับหุ้น ซึ่งจะมีสิ่งที่คล้ายกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น แม้ว่าเราจะทำหายหรือโดนแฮ็กข้อมูล แต่ก็ไม่สามารถขโมยไปได้ เพราะจำเป็นต้องยืนยันตัวตนด้วย

ในส่วนของสินทรัพย์อ้างอิงที่จะนำมาระดมทุนและแปลงเป็นโทเคนเพื่อการลงทุนสามารถเป็นไปได้หลากหลาย นอกจากสินทรัพย์ธุรกิจทั่วไป เช่น อสังหาริมทรัพย์ ยังสามารถเป็นไปได้ทั้งส่วนแบ่งรายได้ของโครงการต่างๆ หรืออาจจะเป็นส่วนแบ่งรายได้ของลิขสิทธิ์เพลง หรือแม้แต่บางส่วนของธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ได้ โดยที่ผลตอบแทนของโทเคนจะอยู่ในรูปแบบของทั้งส่วนต่างราคา เงินปันผล และสิทธิในการใช้สินทรัพย์อ้างอิงบางอย่าง

“หากเทียบกับการลงทุนในหุ้นแบบดั้งเดิม เราจะไม่สามารถนำใบหุ้นไปซื้อกาแฟได้ แต่ส่วนของโทเคนทำให้เราสามารถได้รับประโยชน์จากการถือครองโทเคนนั้นๆ ด้วย เช่น การรับบริการจากสินทรัพย์อ้างอิง”

นอกจากนี้โทเคนยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการเก็บรักษามูลค่าของเงินหากเทียบกับการถือเงินสด ซึ่งจะเห็นว่าผลตอบแทนจากดอกเบี้ยต่ำและเงินเฟ้อสูง เพราะฉะนั้นถ้าถือเงินสดไว้ในระยะยาว อำนาจในการซื้อมีแนวโน้มจะลดลง แต่ในมุมของโทเคนซึ่งมีสินทรัพย์อ้างอิงรองรับ มูลค่าจะไม่ลดลงเหมือนกับเงินสด

ปัจจุบัน ERX เริ่มเปิดให้นักลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายบ้างแล้วในปีนี้ ส่วนสินทรัพย์ลงทุนจะเริ่มเปิดตัวให้ลงทุนในช่วงไม่เกินไตรมาส 1/64 สำหรับโทเคนสองตัวแรกยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นสินทรัพย์ใด แต่จะเป็นโทเคนที่ให้สิทธิในการใช้ด้วย ทำให้คนที่ลงทุนจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมนอกเหนือจากตัวเงิน และในอนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้าเชื่อว่าจะเห็นการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ตลาดยังเล็กอยู่มาก

นอกจากประเด็นในส่วนของโทเคนแล้ว ปิ่นปราชญ์ยังได้ทิ้งท้ายถึงเรื่องของบิตคอยน์ในมุมมองส่วนตัวว่า ในขณะนี้จะเห็นว่าธนาคารกลางของประเทศต่างๆ สนใจที่จะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองขึ้นมามากขึ้น เช่น จีน สหรัฐฯ สวีเดน หรือแม้แต่บาฮามาส รวมไปถึงธนาคารกลางยุโรปก็ศึกษาในเรื่องนี้เช่นกัน

ซึ่งหากเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกออกโดยธนาคารกลางต่างๆ แต่ละประเทศจะสามารถติดตามดูธุรกรรมของเงินได้หมด แต่ในกรณีของบิตคอยน์ซึ่งสามารถสร้างขึ้นมาได้โดยที่ไม่มีผู้ออกหรือเจ้าของอย่างแท้จริง ทำให้การติดตามทำได้ค่อนข้างยาก ส่งผลให้บิตคอยน์จะยังมีความน่าสนใจในอนาคต

อีกมุมหนึ่งในด้านเทคโนโลยี จริงๆ แล้วบิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่มีต้นทุนในการได้มาอยู่เช่นกัน คือพลังงานและฮาร์ดแวร์ต่างๆ เท่ากับว่าบิตคอยน์มีมูลค่าพื้นฐานในตัวมันอยู่ด้วย แต่คงไม่สามารถพูดได้อย่างชัดเจนว่าราคาพื้นฐานที่แท้จริงควรจะเป็นเท่าใด

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising