กวิน พงษ์พันธ์เดชา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทาซซ่า จำกัด (Bitazza) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมเข้าไปแสดงความคิดเห็นกับหน่วยงานกำกับดูแล กรณีที่มีการออกร่างหลักเกณฑ์ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งเบื้องต้นยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวในบางประเด็นว่าอาจทำไม่ได้ในเชิงปฏิบัติ และอาจทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคต
“ประเด็นแรกที่เรากังวลก็เช่น การระบุให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องตรวจสอบ กรณีที่ลูกค้านำบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ โดยต้องดำเนินการยกเลิกการให้บริการซื้อขายหรือระงับบัญชี เพราะในทางปฏิบัติการจะทราบถึงวัตถุประสงค์ของลูกค้าว่ามีการโอนไปเพื่อชำระสินค้าหรือทำอย่างอื่น คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะทำได้ในทางปฏิบัติ” กวินกล่าว
ประเด็นต่อมาคือ การที่หน่วยงานกำกับออกเกณฑ์ ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลไทยให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการนั้น หากร้านค้ายังมีความประสงค์จะรับชำระด้วยคริปโตเคอร์เรนซีหรือสเตเบิลคอยน์อยู่ ก็ยังสามารถไปเปิดบัญชีกับแพลตฟอร์มต่างประเทศได้อยู่ดี ซึ่งการตรวจสอบจะไม่สามารถทำได้เลย และยังไม่มีการแปลงธุรกรรมให้กลับเป็นเงินบาทอีกด้วย
“ถ้าหน่วยงานกำกับกังวลเรื่องการฟอกเงิน ก็ต้องบอกว่าร้านค้าที่มาใช้บริการกับผู้ประกอบการที่มีไลเซนส์จะต้องผ่าน KYC และมีการตรวจกับ ปปง. ตามหลักสากล นอกจากนี้ ข้อดีของการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางชำระ คือ สามารถตามรอยได้บนบล็อกเชน โปร่งใส และไร้ตัวกลาง ส่วนในเรื่องข้อกังวลเรื่องความผันผวนของคริปโต ปัจจุบันผู้ประกอบการก็ได้สร้างโซลูชันสำหรับเรื่องนี้ โดยช่วยให้ร้านค้าเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินบาท ซึ่งตอบโจทย์ตลาดได้อยู่แล้ว” กวินกล่าว
กวินกล่าวอีกว่า การมีกฎหมายปิดกั้นไม่ให้ผู้ประกอบการไทยให้บริการที่เกี่ยวกับการชำระสินค้าในลักษณะนี้ อาจจะทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคต หากเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างเช่นในโลก Metaverse มีการเติบโตขึ้น โดยมองว่าหน่วยงานกำกับควรชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีและผลเสียจากข้อห้ามที่ออกมาให้ดี
“เราอยากเข้าไปพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจถึงข้อกังวลต่างๆ ของหน่วยงานกำกับให้แน่ชัด เพื่อที่จะได้ร่วมกันหาทางออกต่อเรื่องนั้นๆ เราอยากอธิบายว่าร้านค้ามาหาเรา เพราะเขาต้องการแก้ Pain Point บางอย่าง โดยเราจะเข้าไปแสดงความเห็นตามขั้นตอน หรืออาจจะมีการหารือกันภายในสมาคมผู้ประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลก่อนแล้วเข้าไปพร้อมกัน” กวินกล่าว
เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โดยส่วนตัวเข้าใจว่าการออกเกณฑ์ห้ามผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยุ่งเกี่ยวกับการชำระสินค้าในครั้งนี้ เกิดจากการที่หน่วยงานกำกับกังวลเรื่องความผันผวนของราคา ค่าธรรมเนียมแอบแฝง และที่กลัวมากที่สุดคงเป็นเรื่องเสถียรภาพของเงินบาท
“ผมไม่เข้าใจว่าคริปโตเป็นอันตรายต่อเงินบาทขนาดนั้นเลยเหรอ เพราะปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ยังใช้คริปโตเพื่อการลงทุนเท่านั้น มีเพียงส่วนน้อยมากๆ ที่ใช้ชำระสินค้า สิ่งที่ผมอยากเห็นมากกว่าคือ ธปท. และ ก.ล.ต. จับมือกันตั้ง Sandbox ขึ้นมาให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางชำระสินค้าไปเลย องค์กรใดอยากลองก็มาลอง เพื่อทดสอบความปลอดภัย ความสะดวก Pain Point และ Key Success ต่างๆ แทนที่จะปิดกั้นโอกาสกันแบบนี้เลย” เอกลาภกล่าว
เอกลาภกล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวรู้สึกเสียดายที่การพัฒนานวัตกรรมทางการเงินในไทยถูกปิดกั้น แทนที่จะถูกฟูมฟักให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องจากหน่วยงานกำกับ ซึ่งอาจทำให้ไทยพลาดโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยเชื่อว่าหากไทยสามารถพัฒนาระบบ Crypto Payment ได้ดี จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้อีกมาก เนื่องจากไม่จำเป็นต้องแลกเป็นเงินบาท ทั้งนี้หากมีข้อกังวลเรื่องความผันผวนและการฟอกเงิน ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขขึ้นมาป้องกันได้ เช่น การจำกัดให้ใช้สเตเบิลคอยน์ หรือจำกัดให้หนึ่งบัญชีคริปโตใช้ชำระสินค้าได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อวัน เป็นต้น
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP