ก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์ฯ, สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย, สมาคมธนาคารไทย, CMDF และ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย จับมือเปิดตัว DIF Web Portal ให้บริการออกหุ้นด้วยระบบดิจิทัลครบวงจร ชูจุดเด่นช่วยลดต้นทุนผู้ออก-เข้าถึงนักลงทุนได้ง่าย
ธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ, สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย, สมาคมธนาคารไทย (Main Operator), กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เพื่อพัฒนาบริการ Digital Infrastructure for Capital Market โดยเริ่มจากระบบ Web Portal รองรับการเสนอขายตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือหุ้นกู้ในตลาดแรกด้วยดิจิทัลตลอดทั้งกระบวนการเป็นครั้งแรกในไทย ตั้งแต่การออกเสนอขาย ซื้อขาย ตลอดจนการชำระราคาและส่งมอบ
สำหรับโครงการนี้อยู่ในระยะนำร่องของสำนักงาน ก.ล.ต. (Sandbox) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการให้บริการของตลาดทุนไทย ลดต้นทุน และเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงตลาดทุนของผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล พลิกโฉมตลาดทุนไทยสู่ตลาดทุนดิจิทัลรับกระแสโลกที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
ด้าน ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทน Main Operator กล่าวว่า DIF Web Portal เป็นระบบให้บริการออกเสนอขายตราสารหนี้ในตลาดแรกในรูปแบบดิจิทัลตลอดทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การออกเสนอขาย ซื้อขาย ตลอดจนการชำระราคาและส่งมอบตราสารหนี้ในรูปแบบไร้ใบ (Scripless) ระบบนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) โดยได้จัดตั้ง บริษัท ซีเอ็มดีเอฟ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล จำกัด เป็นเจ้าของระบบ และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เป็นหน่วยงานปฏิบัติการของระบบ
ขณะที่ สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ในฐานะฝ่ายปฏิบัติการของโครงการ DIF กล่าวว่า ThaiBMA มีส่วนร่วมในโครงการ DIF ในสองบทบาท คือในฐานะผู้รับขึ้นทะเบียนตราสารหนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของสมาคมอยู่แล้ว และที่สำคัญยังได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติการธุรกิจของโครงการ DIF
สำหรับ DIF Web Portal นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เชื่อมต่อกับระบบการทำธุรกรรมการเสนอขายตราสารหนี้ดิจิทัลระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันอย่างครบวงจร ด้วยมาตรฐานข้อมูลเดียวกันในรูปแบบดิจิทัล (Standard Messages) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งต่อข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ลดต้นทุน ลดการใช้กระดาษ และลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน การส่งข้อมูลอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนำข้อมูลไปประมวลผลต่อได้ (Machine Readable) และผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานในตลาดทุนไทย ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบนิเวศการลงทุน และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ในอนาคต
ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2566 มีผู้ออกหลักทรัพย์เสนอขายตราสารหนี้ดิจิทัลผ่านระบบดังกล่าวกลุ่มแรก จำนวน 4 ราย มูลค่ารวม 6.7 พันล้านบาท ได้แก่
- บมจ.ปตท. หรือ PTT
- บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP
- บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
- ธนาคารกสิกรไทย