สืบเนื่องจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก ธีระวุฑฒ์ หวงสุวรรณากร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 ภรรยาของตนเอง (กิ๊ฟ) ได้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ หลังมีอาการปวดท้องน้อยมา 3-4 วัน คลื่นไส้อาเจียน 1 สัปดาห์ โดยการเลือกคลินิกอายุรกรรมทางเดินอาหาร เพราะในเบื้องต้นไม่แน่ใจว่าอาการปวดท้องเกิดจากอะไร
จากนั้นแพทย์ได้แจ้งว่า ภรรยาอาจมีนิ่วทางเดินปัสสาวะ และให้เข้ารับการแอดมิต เพื่อตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องส่วนล่างที่มีการฉีดสารทึบรังสี หรือ CT Lower Abdomen with Contrast Media
ทว่า ที่ห้องเอกซเรย์ ภรรยาเกิดอาการแพ้สารทึบรังสีขั้นรุนแรงที่สุด และจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ภายในไม่กี่ชั่วโมง แม้จะอยู่ในมือแพทย์และโรงพยาบาล แต่อาการกลับทรุดหนัก จนทำให้ภรรยาเสียชีวิตในท้ายที่สุด
ล่าสุด วันนี้ (30 กันยายน) ญาติของผู้เสียชีวิตให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว THE STANDARD โดยระบุว่า เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นวันที่ 8 กันยายน 2563 ผู้ป่วยเริ่มเข้ารับการรักษาในช่วงเช้า แต่หลังจากนั้นช่วงบ่ายพบว่า ผู้ป่วยมีอาการแพ้สารทึบรังสีรุนแรงจนต้องกู้ชีพถึง 2 รอบ ก่อนจะเสียชีวิตเวลาประมาณ 19.00 น.
นอกจากนี้ญาติของผู้เสียชีวิตได้กล่าวต่อว่า ทางครอบครัวทราบอยู่แล้วว่าการตรวจโดยการฉีดสารทึบรังสีนั้นมีความเสี่ยง เพียงแต่การที่แพทย์ที่รับหน้าที่รักษาระบุว่า ผู้ป่วยมีอาการเป็นนิ่ว น่าจะใช้วิธีการตรวจแบบอัลตราซาวน์ก็น่าจะพบแล้ว หรือทำ CT Scan โดยไม่ต้องฉีดสารทึบแสงก็น่าจะเจอเช่นกัน
“เราไม่เข้าใจว่าทำไมทางโรงพยาบาลถึงได้ให้ CT Scan โดยการฉีดสารทึบแสงเพื่อเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนไข้โดยไม่จำเป็น จนทำให้เสียชีวิต ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงข้ามมาทำขั้นตอนดังกล่าวได้ ในเมื่อแค่ต้องการตรวจนิ่ว”
อย่างไรก็ตาม ญาติของผู้เสียชีวิตกล่าวเพิ่มเติมว่า ครอบครัวได้พยายามเข้าไปคุยกับทางโรงพยาบาลถึง 2 ครั้ง แต่ทางโรงพยาบาลได้ปฏิเสธที่จะอธิบายทุกอย่าง โดยย้ำเพียงว่า มาตรการรักษาของโรงพยาบาลตรงตามขั้นตอนตามมาตรฐาน และอ้างถึงศักดิ์ศรีของวิชาชีพของแพทย์
และเมื่อได้รับเอกสารการรักษาก็ได้รับมาไม่ครบถ้วน อีกทั้งตัวเอกสารมีอยู่หลายจุดที่คนในครอบครัวที่ประกอบอาชีพหมอด้วยกันเองอ่านแล้วยังติดใจเกี่ยวกับการรักษา ตั้งแต่การซักประวัติคนไข้, ได้ตรวจปัสสาวะหรือไม่ และได้อ่านผลก่อนส่งไปตรวจ CT Scan หรือไม่ รวมถึงเรื่องการตั้งครรภ์ที่ครอบครัวไม่ทราบมาก่อน โดยแพทย์ได้แจ้งภายหลังจากคนไข้เสียชีวิตแล้ว
ทั้งนี้ ครอบครัวยืนยันว่า จะยื่นเรื่องต่อแพทยสภาแห่งประเทศไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรึกษาทนายและรวมรวมข้อมูลเพื่อยื่นต่อแพทยสภาในสัปดาห์หน้า
สำหรับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการตรวจด้วยการฉีดสารทึบรังสีจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า การฉีดสารทึบรังสีเป็นการนำสารที่ใช้ในการตรวจทางรังสีวิทยา ประกอบการถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อเพิ่มความแตกต่างของเนื้อเยื่ออวัยวะที่ต้องการตรวจกับเนื้อเยื่ออื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียงได้ชัดเจน ซึ่งสามารถนำเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การรับประทาน , การสวนเข้าทางทวารหนัก และฉีดเข้าหลอดเลือด หรือเข้าช่องโพรงของร่างกาย
ทั้งนี้ การใช้สารทึบรังสีชนิดใดก็ตามขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และสถานะทางการเงินของผู้ป่วย โดยผู้ที่ไม่ควรตรวจด้วยการฉีดสารทึบเข้าทางหลอดเลือดคือ
- สตรีที่ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์
- เป็นโรคหอบหืดขั้นรุนแรง
- ไตวายเรื้อรังหรือมีระดับสารครีเอตินินสูง
- แพ้อาหารทะเลหรือแพ้สารรังสีอย่างรุนแรง
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: