×

มองผ่านเลนส์ ‘ทิพยประกันภัย’ เมื่อค่ายประกันแห่ปรับความคุ้มครองโควิด-19

20.03.2020
  • LOADING...

ธุรกิจประกันภัยกลายเป็นที่จับตามอง เมื่อประชาชนแห่ซื้อประกันโควิด-19 จนหน้าเว็บไซต์บางบริษัทต้องพักการขายไปก่อน ซึ่งล่าสุดยังเห็นการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขแบบประกันโควิด-19 ให้ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

ว่าแต่ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อการรับประกันภัยโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มาไขข้อข้องใจนี้

 

 

บริษัทประกันคำนวณความคุ้มครองและคิดราคาเบี้ยประกันโควิด-19 อย่างไร 

ดร.สมพร เล่าว่าตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 มีมากขึ้น ทำให้ประชาชนบางส่วนเริ่มมองหาความคุ้มครองเกี่ยวกับโรคนี้ ฝั่งบริษัทประกันภัยหันมาออกแบบประกันวินาศภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคโควิด-19 โดยจะมีความคุ้มครองหลักๆ เช่น ความคุ้มครองกรณีตรวจเจอโควิด-19 จะได้รับเงินก้อน ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ฯลฯ

 

ทั้งนี้การคำนวณราคาเบี้ยประกันภัยจะขึ้นอยู่กับอัตราความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เช่น ข้อมูลสถิติอัตราค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) สมมติฐานการระบาดทั้ง Best Case และ Worst Case รวมถึงข้อมูลสถิติในต่างประเทศ เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส จีน ฯลฯ เพื่อนำข้อมูลมาประเมินความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยงผ่านบริษัทรับประกันภัยต่อ

 

“การคำนวณความเสี่ยงหรือการออกแบบประกันภัยรวมถึงเบี้ยจะต้องดูจาก Loss Ratio หากมีสูงกว่า 70-75% บริษัทประกันอาจจะไม่ไหว ซึ่งปัจจุบัน Loss Ratio ของโควิด-19 ถือว่าต่ำมาก เพราะอัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตจากโรคของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งก่อนออกแบบประกันต่างๆ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะใช้ข้อมูลการแพร่ระบาดที่เคยเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ซาร์ส, ไข้หวัดนก, ไข้หวัดหมู, อีโบลา ฯลฯ มาประเมินความเสี่ยงจากสมมติฐานข้อมูลต่างๆ และนำมาออกแบบประกันใหม่ให้ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค”

 

ปัจจุบันทางทิพยประกันภัยจะมีการบริหารความเสี่ยงผ่านบริษัทรับประกันภัยต่อ และขณะนี้มียอดขายกรมธรรม์ประกันโควิด-19 กว่า 1 ล้านกรมธรรม์ ถือว่ามียอดขายสูงสุดในตลาดประกันนี้ ซึ่งมีลูกค้าทั้งรายย่อยและหน่วยงานต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ และบริษัทเอกชน ฯลฯ 

 

 

บริษัทประกันปรับเงื่อนไขเพราะอะไร ​

ช่วงที่ผ่านมาเห็นบางบริษัทประกันปิดการขายและปรับเปลี่ยนเงื่อนไขรูปแบบการรับประกันภัยอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดเปลี่ยนไป รวมถึงบางบริษัทจำกัดจำนวนในการรับประกันตามความสามารถในการรับประกันภัย (Capacity) ที่มีอยู่ เช่น บางบริษัทจำกัดการขายไว้ที่ 1 แสนกรมธรรม์ และยังเห็นการปรับเงื่อนไขระยะรอคอย (Waiting Period) มากขึ้น 

 

ทั้งนี้เงื่อนไขระยะรอคอยส่วนใหญ่จะใช้กับคนที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่ภาครัฐกำหนดไว้ เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง มาเก๊า อิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ ฯลฯ

 

“ที่ผ่านมาเราเห็นบางบริษัทปิดการขายแบบประกันที่เป็นแบบเจอ จ่าย จบ คือเมื่อตรวจเจอเชื้อโควิด-19 เป็นครั้งแรก ทางบริษัทจะจ่ายเงินตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งความคุ้มครองแบบนี้มีความเสี่ยงที่จะใช้สิทธิ์ไม่ชอบ อย่างที่เห็นในอินเทอร์เน็ตว่าให้ไปซื้อประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ หลายๆ บริษัท แล้วหาโอกาสที่จะติดเชื้อ ซึ่งตามเงื่อนไขการรับประกันภัย การเจตนาทำให้เกิดภัยนั้นขึ้น เมื่อบริษัทตรวจสอบเจอก็จะไม่คุ้มครองอยู่แล้ว และอาจถือเป็นการฉ้อฉลด้วย”

 

ในส่วนของทิพยประกันภัยยังไม่มีการปรับเงื่อนไขในการรับประกัน และยังเปิดขายแบบไม่จำกัดจำนวน โดยยอดขาย 1 ล้านกรมธรรม์ ลูกค้าส่วนใหญ่กว่า 65% มาจากกลุ่มอายุ 20-60 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปราว 20% และกลุ่มที่มีสัดส่วนน้อยที่สุดคือกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี อยู่ที่ราว 15%

 

 

โควิด-19 รุนแรงแค่ไหน นโยบายรัฐส่งผลต่อธุรกิจประกันภัยอย่างไร

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด แม้ว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยติดเชื้อที่เสียชีวิตจะอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ และหลายประเทศออกนโยบายในการรับมือกับโควิด-19 มากขึ้น แต่ทางบริษัทต้องติดตามว่าไทยจะเข้าสู่การแพร่ระบาดระยะที่ 3 หรือไม่ เพราะหากมีการประกาศเข้าสู่ระยะ 3 อาจจะเห็นมาตรการรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ซึ่งทางบริษัทต้องนำมาประเมินเพื่อออกแบบประกันภัยโควิด-19 ให้ตรงตามความต้องการของประชาชน 

 

“ต่อไปถ้านโยบายภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลง บริษัทก็อาจมีการออกแบบประกันใหม่ เช่น ตอนนี้หากผู้ติดเชื้อโควิด-19 รักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชน รัฐจะออกค่าใช้จ่ายให้เพียงบางส่วน ดังนั้นแบบประกันที่ทางบริษัทออกมาจะมุ่งเน้นความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และอนาคตหากภาครัฐประกาศว่าผู้ติดเชื้อไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล อาจมีการออกแบบประกันผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ความคุ้มครองกรณีตรวจเจอเชื้อและรับเงินก้อน เป็นต้น”

 

อย่างไรก็ตาม ทิพยประกันภัยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่า หากเกิดการระบาดจำนวนมาก ผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางภาครัฐต้องประเมินว่าจะมีเวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ และพื้นที่รองรับการรักษาได้หรือไม่ ซึ่งทางทิพยประกันภัยออกแบบประกันด้านค่ารักษาพยาบาลเพราะเชื่อว่าระบบสาธารณสุขไทยรองรับปัญหาได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising