×

‘ดิว ไปด้วยกันนะ’ เพื่อนเก่า วันก่อน และบางเรื่องที่ไม่เคยเลือนหาย

04.11.2019
  • LOADING...
ดิว ไปด้วยกันนะ

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ความรักอันยิ่งใหญ่ของตัวละครต้องเผชิญกับบททดสอบครั้งมโหฬาร ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องของเพศสภาพอีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่องของความศรัทธา ความเชื่อ การหลงละเมอเพ้อพก ความถูกต้องเหมาะควร ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เรื่องของกาลเทศะ เรื่องของความซื่อสัตย์และจงรักภักดีกับคนใกล้ตัว และในระหว่างที่หนังบอกเล่าโน่นนี่นั่น คำถามหนึ่งที่ผุดพรายก็คือ ความรักใช่เป็นคำตอบหรือข้ออ้างสำหรับความดันทุรังและไม่รู้จักปล่อยวางของตัวละครได้หรือไม่

ดิว ไปด้วยกันนะ

 

ถ้าจำแนกตามแนวเนื้อหาแล้ว หนังเรื่อง ดิว ไปด้วยกันนะ ผลงานเรื่องล่าสุดของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (รักแห่งสยาม, เกรียน ฟิคชั่น ฯลฯ) ก็เป็นหนังรัก หรือหนังโรแมนซ์ หรืออีกนัยหนึ่ง หนังที่บอกเล่าเรื่องราวความรักอันสุดแสนดูดดื่ม อ่อนหวาน และซาบซึ้งของตัวละคร ท่ามกลางอุปสรรคขวากหนามนานัปการ

 

และก็อย่างที่แฟนหนังแนวนี้น่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ดีกรีของความดูดดื่ม อ่อนหวานและซาบซึ้งระหว่างตัวละครในหนังโรแมนซ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรักที่พวกเขาหยิบยื่นให้แก่กัน เท่ากับ ‘ความใหญ่โตมหึมา’ ของอุปสรรคขวากหนามที่ถาโถมเข้ามา หมายความว่า ยิ่งคู่รักทั้งสองพบเจอกับสิ่งกีดขวางมากเท่าไร อานุภาพของความรักก็ยิ่งท่วมท้นและทรงพลังมากขึ้นเท่านั้น และแทบจะร้อยทั้งร้อย ความยุ่งยากและข้อขัดข้องทั้งหลายทั้งปวงสำหรับตัวละครในหนังโรแมนซ์มักจะต้องเป็นเรื่องที่ก้าวผ่านข้ามพ้นไม่ได้โดยง่าย หลายครั้งหลายครา ก้าวผ่านข้ามพ้นไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง หรือแม้กระทั่งกลายเป็นเรื่องต้องห้ามในมุมมองความนึกคิดของผู้คนในสังคม ซึ่งอาจไล่เรียงได้ตั้งแต่เรื่องฐานะ ชนชั้น เพศสภาพ เชื้อชาติ ไปจนถึงศีลธรรม

 

มองในแง่มุมนี้ หนังเรื่อง ดิว ไปด้วยกันนะ ซึ่งดัดแปลงจากหนังเกาหลีเรื่องโด่งดัง Bungee Jumping of Their Own (2001) ก็อาศัยเรื่องราวความรักของตัวละครเป็นเสมือนแรงส่งจากสปริงบอร์ด ที่นำพาผู้ชมไปสำรวจประเด็นต้องห้ามในสังคมได้อย่างโน้มน้าวชักจูงและชวนให้ครุ่นคิดทีเดียว

 

ดิว ไปด้วยกันนะ

 

จริงๆ แล้วการนำเสนอเรื่องราวความรักระหว่างคนเพศเดียวกันก็ไม่ได้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นหรือแปลกใหม่อีกต่อไป และว่ากันตามจริง เป็นตัวมะเดี่ยวเองนั่นแหละที่ทำให้ผู้ชมวงกว้างอ้าแขนต้อนรับหนัง ซึ่งแตะต้องประเด็นดังกล่าว อันได้แก่ รักแห่งสยาม โดยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องตะขิดตะขวงแต่อย่างใด กระทั่งเป็นผลงานที่ติดแน่นในความทรงจำ และก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริงๆ ที่ใครที่ได้ดูหนังเรื่อง ดิว ไปด้วยกันนะ จะอดนำไปเปรียบกับหนังรักในตำนานเรื่องนั้น อย่างน้อยก็ในส่วนที่ว่าด้วยความรักของเด็กหนุ่มสองคน

 

แต่ก็อีกนั่นแหละ หนังทั้งสองเรื่องก็มีเส้นทางก้าวเดินของตัวเอง ในกรณีของ ดิว ไปด้วยกันนะ ซึ่งอาศัยฉากหลังเป็นเมืองสมมติอันสุดแสนโรแมนติกทางตอนเหนือที่ชื่อ ปางน้อย ในช่วง พ.ศ. 2539 จุดปะทุของเรื่องจริงๆ ไม่ใช่ส่วนที่ว่าด้วยการพบรักกันระหว่างเด็กหนุ่ม ม.ปลายสองคน อันได้แก่ ดิว (ภวัต จิตต์สว่างดี) และภพ (ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์) ตามที่ได้รับการแจกแจงในเทรลเลอร์ และนั่นเป็นเพียงแค่บทโหมโรง ทว่า ชนวนสำคัญมาจากความคิดบ้าๆ ของผู้อำนวยการโรงเรียนที่อ้างเรื่องการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และโยนความผิดบาปทั้งหมดให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และประกาศหน้าเสาธงให้นักเรียนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทุกคนเข้ารับการบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญ อันได้แก่ แพทย์ ซึ่งแปลว่า ความหลากหลายทางเพศเป็น ‘โรค’ ที่ต้องได้รับการรักษา และทหาร ซึ่งแปลว่า นี่คือแหล่งบ่มเพาะความเป็นชาย

 

เป็นไปได้ว่า ผู้ชมอาจจะนึกสงสัยว่าเหตุการณ์ดังกล่าวรองรับไว้ด้วยข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด (ผู้กำกับให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กของเขาว่า นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเขาโดยตรง) แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธอีกเช่นกันว่า สิ่งที่หนังบอกเล่าไม่ได้สอดคล้องกับวิธีคิดในระบบการศึกษาของบ้านเรา หรือจะเหมารวมแทบทุกระบบในสังคมก็น่าจะได้ที่มองเห็นความผิดแผกแตกต่างในทุกมิติและองคาพยพเป็นภัยคุกคาม

 

ดิว ไปด้วยกันนะ ดิว ไปด้วยกันนะ

 

และแน่นอนว่า นั่นทำให้ความรู้สึกดีๆ ที่สองหนุ่มช่วยกันฟูมฟักอย่างอ่อนหวานและไร้เดียงสา กลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เลวทราม และพวกเขาต้องโกหกทั้งคนรอบข้างและตัวเอง และประมวลจากความยุ่งยากที่ตั้งเค้ามาแต่ไกล โดยเฉพาะในกรณีของภพ ซึ่งเกิดและเติบโตในครอบครัวคนจีน และผู้เป็นพ่อยังคงยึดมั่นในชาติกำเนิด ตลอดจนวิถีดั้งเดิมของตัวเอง หนังถึงกับแสดงให้เห็นว่า เขาไม่ยอมพูดภาษาไทยแม้แต่คำเดียว ก็ชวนให้สันนิษฐานได้ไม่ยากว่า หนทางข้างหน้าของตัวละครน่าจะทั้งระหกระเหินและทุลักทุเล

 

พูดแบบไม่อ้อมค้อม สมมติว่า หนังเล่าเรื่องเพียงเท่านี้ มันก็คงมีคุณค่าเพียงแค่หนังสั้นเรื่องหนึ่งที่ใครต่อใครสร้างกันมานับครั้งไม่ถ้วน และแทบจะไม่หลงเหลือแง่มุมแปลกใหม่ให้สำรวจตรวจสอบแต่อย่างใด แต่ส่วนที่กลายเป็นเหมือนเรื่องท้าทาย ‘การยอมรับ’ ของคนดูจริงๆ ได้แก่ ช่วงครึ่งหลัง ซึ่งเล่าเรื่องราวในอีก 23 ปีถัดมา หรือเหตุการณ์ในช่วงเวลาปัจจุบันนั่นเอง และเพื่อไม่ให้ข้อเขียนนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนังจนเกินไป (แต่จริงๆ แล้ว หนังตัวอย่างเวอร์ชันสองก็บอกอะไรๆ พอสมควร) 

 

ขอสรุปอย่างรวบรัดว่า ความรักอันยิ่งใหญ่ของตัวละครต้องเผชิญกับบททดสอบครั้งมโหฬาร ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องของเพศสภาพอีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่องของความศรัทธา ความเชื่อ การหลงละเมอเพ้อพก ความถูกต้องเหมาะควร ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เรื่องของกาลเทศะ เรื่องของความซื่อสัตย์และจงรักภักดีกับคนใกล้ตัว และในระหว่างที่หนังบอกเล่าโน่นนี่นั่น คำถามหนึ่งที่ผุดพรายก็คือ ความรักใช่เป็นคำตอบหรือข้ออ้างสำหรับความดันทุรังและไม่รู้จักปล่อยวางของตัวละครได้หรือไม่

ดิว ไปด้วยกันนะ

 

ประเด็นหนึ่งที่น่ากล่าวถึงอย่างยิ่ง ได้แก่ วิธีการที่คนทำหนังแจกแจงบุคลิกของภพในช่วงวัยหนุ่มเต็มตัว (ศุกลวัฒน์ คณารศ) และอย่างหนึ่งที่พวกเราสรุปได้แน่ๆ ก็คือ นอกจากเหตุการณ์ในอดีตทำให้เขากลายเป็นคนที่สึกหรอหรือมีบาดแผล หรือปมผิดบาปที่เกาะกุม 

 

จากที่หนังให้เห็น เจ้าตัวยังเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง (Flaws) นานัปการ ผู้ชมได้รับการบอกกล่าวว่า เขาหวนกลับมาเมืองเล็กๆ แห่งนี้อีกครั้ง เพราะล้มเหลวจากการทำธุรกิจที่กรุงเทพฯ และในฐานะคุณครูคนใหม่ของโรงเรียนที่ครั้งหนึ่งตัวเขาเคยตกเป็นเหยื่อของระบบ เขากลับยอมศิโรราบให้กับวิธีการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของโรงเรียน ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ชีวิตของเขาอยู่ในสภาพที่อาจเรียกได้ว่า ‘ไม่ค่อยจะเป็นโล้เป็นพาย’ อย่างในปัจจุบัน และว่ากันตามจริง ช่วงหนึ่งของหนัง เราถึงกับได้เห็นเจ้าตัวชกต่อยกับนักเรียน ทั้งหลายทั้งปวง มันชักชวนให้สรุปได้ว่า ภพเป็นตัวละครที่โตแต่ตัว ทว่า วุฒิภาวะของเขายังใกล้เคียงกับตอนที่ผู้ชมได้พบเขาในช่วงต้นเรื่อง ไม่มากไม่น้อย นั่นอธิบายโดยอ้อมได้ว่า ด้วยเหตุผลกลใด เขาถึงได้เลือกหนทางชีวิตข้างหน้าแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ตัวเปล่าเล่าเปลือยเหมือนสมัยยังเป็นวัยรุ่นแต่อย่างใด

 

ส่วนประกอบที่แข็งแรงมากๆ ของหนัง และเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ผู้ชมเชื่อในสิ่งละอันพันละน้อยที่หนังบอกเล่า และนั่นรวมถึง ‘พล็อตเรื่องในส่วนที่พิลึกพิลั่น’ ก็คือการแสดงของเหล่านักแสดงน้อยใหญ่ และคนที่ต้องเอ่ยถึงก่อนเพื่อนก็คือ ศุกลวัฒน์ คณารศ ผู้ซึ่งดังที่กล่าวข้างต้น ถ่ายทอดบทบาทของชายหนุ่มที่ฝังใจอยู่กับบางเรื่องที่ไม่เคยเลือนหายไปจากห้วงคำนึงได้อย่างน่าเห็นอกเห็นใจ เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ผู้ชมไม่มีวันเห็นพ้องกับการตัดสินใจของตัวละคร แต่การแสดงของศุกลวัฒน์ทำให้อย่างน้อย เราได้เห็นและเข้าใจภาวะดำดิ่งและจนตรอกของชายหนุ่มอย่างน่าเวทนา

 

ดิว ไปด้วยกันนะ

 

นักแสดงอีกคนที่เปล่งประกายฉายแสง ได้แก่ ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์ ในบทภพวัยรุ่นนั่นเอง ผู้ซึ่งภายใต้บุคลิกที่ดูเงียบขรึม เราสัมผัสได้ถึงความเปราะบางอ่อนไหวของตัวละคร และนั่นยิ่งทำให้สถานการณ์ที่เจ้าตัวต้องเลือกระหว่างการเป็นเหมือนคนอื่นๆ แล้วปลอดภัย กับเป็นตัวของตัวเอง ทว่า หนทางข้างหน้ากลับคับแคบและตีบตัน ก็กลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากขึ้นทุกที อีกอย่างหนึ่งที่โดดเด่นและไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ งานสร้างและงานกำกับภาพที่เนรมิตเมืองสมมติทางตอนเหนือได้ชวนฝัน และมีส่วนอย่างยิ่งยวดในการชักชวนให้ผู้ชมเตลิดไปในโลกของภวังค์

 

ดิว ไปด้วยกันนะ

 

อย่างที่กล่าวข้างต้น ประเด็นความรักระหว่างตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศตามที่หนังนำเสนอ ไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายอีกแล้ว และการที่ผู้สร้างเลือกที่จะไม่โฟกัสแต่เฉพาะแง่มุมนี้เพียงอย่างเดียว ก็น่าจะช่วยให้หนังเข้าถึงกลุ่มผู้ชมวงกว้างมากขึ้น และว่ากันตามจริง ส่วนที่ได้รับการสอดแทรกเอาไว้ในหนัง และกลายเป็นเหมือนกระจกสะท้อนโลกของความเป็นจริงว่า มีปัญหาและเป็นเรื่องน่าขุ่นเคืองก็คือ ความคิดความเชื่อที่ว่า หมอและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทหารสามารถแก้ไขเรื่องยุ่งยากต่างๆ นานาในสังคมได้ ซึ่งก็อย่างที่มองเห็น

 

นอกจากไม่ได้ช่วยทำให้อะไรๆ ดีขึ้นแต่อย่างใด ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของความบิดเบี้ยวและสับสนที่มองไม่เห็นจุดจบหรือทางออกอย่างที่เคยให้คำมั่นสัญญา

 

ดิว ไปด้วยกันนะ (พ.ศ. 2562)

กำกับ: ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล 

นักแสดง: ศุกลวัฒน์ คณารศ, ภวัต จิตต์สว่างดี, ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์, ญารินดา บุนนาค, ดริสา การพจน์

 

ดิว ไปด้วยกันนะ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising