×

ธปท. เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจ หวังยกระดับการค้าดิจิทัล-ช่วย SME เข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น

09.12.2021
  • LOADING...
การค้าดิจิทัล

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินอย่างพร้อมเพย์ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่รองรับภาคประชาชนเป็นหลัก ขณะที่ภาคธุรกิจยังขาดบริการที่ช่วยการชำระเงินหรือการทำธุรกรรมการค้าให้เกิดความสะดวก ดังนั้น ธปท. ภาคธุรกิจ ภาคการเงิน ภาครัฐ จึงร่วมมือในการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจ หรือ โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business

 

สิริธิดา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางสำหรับรับส่งข้อมูล การชำระเงินและชำระภาษีทางดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถทำธุรกรรมการค้าเป็นดิจิทัลอย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และยกระดับการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย โดยใช้หลักในการเปิดกว้างให้เชื่อมต่อข้ามธุรกิจและองค์กรได้ มีความเสถียร ขยายตัวรองรับนวัตกรรมต่างๆ ได้ และมีการกำกับดูแลที่เอื้อให้เกิดการใช้งานที่เหมาะสม

“ปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการค้าส่วนใหญ่ของ SME และลูกค้ารายย่อยยังใช้เอกสารกระดาษในกระบวนการซื้อขาย ซึ่งมีต้นทุนสูงและใช้เวลา ซึ่งโครงการนี้จะช่วยลดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจแบบเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ SME ที่มี 2-3 ล้านราย และธุรกิจใหญ่ๆ ที่จะต้องมีต้นทุนเอกสารและการจัดส่งไปมา ซึ่งในต่างประเทศช่วยลดต้นทุนไปได้ 60-80% จากต้นทุนที่ลดลงมาจากการทำอิเล็กทรอนิกส์ และอีกส่วนคือต้นทุนการชำระเงิน” ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าว 

ทั้งนี้การพัฒนาโครงการในระยะแรก จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ โครงสร้างพื้นฐานกลางที่ให้ผู้ใช้บริการส่งข้อมูลทางการค้า การชำระเงินและภาษี เพื่อให้ทำธุรกรรมดิจิทัลแบบต้นทางยันปลายทาง โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในครึ่งหลังปี 2565 ทั้งบริการส่ง-รับใบแจ้งหนี้ทางดิจิทัลและการส่งใบกำกับภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) บริการการชำระเงินพร้อมข้อมูลการค้าที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจมีข้อมูลในการตรวจสอบกระทบยอด (Reconcile) ที่รวดเร็ว และ  บริการการชำระเงินที่เชื่อมโยงกับการออกใบเสร็จรับเงิน ที่ช่วยกระบวนการทำงานของภาคธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

ขณะที่ส่วนที่สองคือ บริการให้สินเชื่อ หรือ Digital Supply Chain Financing ที่สมาคมธนาคารร่วมกับภาคธุรกิจพัฒนาต่อยอดจากส่วนแรก โดยจะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นของภาคธุรกิจที่ช่วยตรวจสอบ Invoice รวมทั้งการให้สินเชื่อซ้ำซ้อน (Double Financing) ช่วยลดเวลาในการพิจารณาให้สินเชื่อ ซึ่งจะเริ่มเปิดในบริการภายในเดือนธันวาคม 2564 นี้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X