เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แถลงผลตรวจผักและผลไม้ประจำปี 2562 โดยเก็บตัวอย่างทั้งหมด 286 ตัวอย่างจากห้างค้าปลีก ตลาดสดทั่วไปในกรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ขอนแก่น, ยโสธร, สระแก้ว, จันทบุรี, ราชบุรี และสงขลา ครอบคลุมผัก 15 ชนิด และผลไม้ 9 ชนิด ที่นิยมบริโภคทั่วไป โดยส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO-17025 ในสหราชอาณาจักร พบว่าผักและผลไม้ที่ส่งตรวจมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานสูงถึง 41%
โดยผักที่พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานเยอะที่สุดคือ กวางตุ้ง พบมากถึง 10 ตัวอย่างจากทั้งหมด 12 ตัวอย่าง รองลงมาคือ คะน้า (9 ตัวอย่าง), กะเพรา (8 ตัวอย่าง), พริก (7 ตัวอย่าง), กะหล่ำดอก (7 ตัวอย่าง) และผักชี (7 ตัวอย่าง) ส่วนที่พบน้อยมากหรือแทบไม่เกินค่ามาตรฐานเลยคือ กระเทียมจีน (ไม่พบสารพิษตกค้าง) กะหล่ำปลี (2 ตัวอย่างมีสารพิษตกค้างต่ำกว่าค่ามาตรฐาน) และมะละกอดิบ (3 ตัวอย่างมีสารพิษตกค้างต่ำกว่าค่ามาตรฐาน)
ด้านผลไม้ที่พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากที่สุดคือ ส้ม ที่พบมากถึง 12 ตัวอย่าง จากการสุ่มตรวจทั้งหมด 12 ตัวอย่าง รองลงมาคือ ชมพู่ (11 ตัวอย่าง), ฝรั่ง (7 ตัวอย่าง), องุ่น (7 ตัวอย่าง) และผลไม้ที่พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานน้อยที่สุดคือ กล้วยหอม, มะม่วงสุก และแอปเปิ้ล (1 ตัวอย่าง)
ทำให้ผลการตรวจภาพรวมพบว่า มีสารพิษตกค้างในตัวอย่างผักและผลไม้ที่สุ่มตรวจ 118 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 286 ตัวอย่าง คิดเป็น 41.3%
อีกข้อมูลที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพบคือ จำนวนชนิดของสารพิษตกค้างในผักและผลไม้แต่ละชนิด โดยพบว่าคะน้ามีจำนวนชนิดของสารพิษตกค้างมากที่สุดถึง 27 ชนิด รองลงมาคือผักชี 25 ชนิด, พริก 23 ชนิด, มะเขือเทศ 22 ชนิด, กวางตุ้ง 18 ชนิด ส่วนผลไม้ที่มีจำนวนชนิดสารพิษมากที่สุดคือ ส้มแมนดาริน 32 ชนิด, องุ่น 31 ชนิด, ชมพู่ 18 ชนิด, ฝรั่ง 14 ชนิด
ภาพประกอบ: Sradarit