ต้นปี 2564 มีธุรกิจเปิดตัวใหม่ทั่วประเทศกว่า 7,000 ราย ตัวเลขที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยให้เห็นนี้อาจเป็นแรงกระตุ้นให้กับผู้ประกอบการรายย่อย SMEs และ Micro SMEs ต้องตื่นตัว เตรียมหาวิธีรับมือกับความท้าทาย ทั้งจำนวนผู้เล่นที่มากขึ้นและความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนตลอดเวลา
เพื่อผลักดันภาคธุรกิจให้พร้อมรับมือกับความท้าทายและการแข่งขันในอนาคตทั้งในประเทศและเวทีโลก สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ จึงจัดโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการออกแบบ หรือ Design Service Society 2021 ขึ้น ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดของ SMEs และ Micro SMEs ให้สามารถนำความรู้ด้านการออกแบบและเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจสู่สากล
ก่อนที่จะให้นักพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และ SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการสร้างสรรค์รุ่นใหม่ได้ลงมือปฏิบัติ กลั่นไอเดีย ดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ ได้จัดกิจกรรมสัมมนาส่งเสริมความรู้ด้านการออกแบบเพื่อการพัฒนาธุรกิจ (Webinar) ภายใต้หัวข้อ ‘The future of business: transformation through design and technology’ เพื่อปูทางแนวคิดการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยและการออกแบบและเทคโนโลยี โดยผู้เชี่ยวชาญจากสาขาที่เกี่ยวข้องมาร่วมแชร์ประสบการณ์ให้กับผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็น Business Transformation by Design, Design Service, Design-Driven Enterprise และ Digital Solution for Business
จากผู้เข้าร่วมงานสัมมนากว่า 600 คน มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ‘Design Service Sandbox’ (สนามทดลองแนวคิดธุรกิจ) รุ่นที่ 1 เพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ภายใต้คอนเซปต์ ‘Tech Innovation x Design Creativity’ กว่า 200 ราย มีทั้งนักออกแบบ นักพัฒนาเทคโนโลยี และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งคณะกรรมการได้คัดเลือกเหลือเพียง 44 ราย แบ่งเป็น 10 ทีม เพื่อร่วมกันพัฒนาผลงานต้นแบบตลอดระยะเวลา 1 เดือน ภายใต้ 4 โจทย์หลัก ได้แก่
1. Thailand: Kitchen of the World: สรรสร้างนวัตกรรมอาหาร บรรจุภัณฑ์ หรือ บริการดันครัวไทยสู่ครัวโลก ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แห่งอนาคต
2. Agricultural Transformation: ปั้นเกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล คิดค้นโซลูชันที่ช่วยยกระดับภาคการเกษตรของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสู่สากล
3. Innovation Solution for New Normal: คิดค้นนวัตกรรมสินค้าและบริการใหม่ๆ แก้ปัญหาธุรกิจ คาดการณ์เทรนด์สินค้าในยุค New Normal
4. Innovation Solutions to for a Renewable-Powered Future: ค้นหาคำตอบสำหรับแหล่งพลังงานทางเลือก สร้างโอกาส ปั้นธุรกิจ รับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
เป้าหมายหลักของกิจกรรมเชิงอบรมในครั้งนี้ ยังเน้นไปที่เรื่องการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการออกแบบ (Design Service) และนักพัฒนาเทคโนโลยี ผู้ประกอบการ Tech Startup/ SMEs เพื่อดึงศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถการสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจใหม่ที่สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมของประเทศได้
และเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ต้นแบบนวัตกรรมของทั้ง 10 ทีมก็ถูกนำเสนอในงาน Demo Day โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมตัดสินและให้คำแนะนำ จนได้ 3 ผลงานที่ชนะรางวัล Design Service Sandbox ในปีนี้
รางวัลที่ 1 UPCYDE: แนวคิด Startup ผลิตภัณฑ์รองเท้าจากขยะทางการเกษตร
ธุรกิจ SMEs ผู้ผลิตรองเท้าคิดโซลูชันที่ช่วยแก้ปัญหาขยะทางการเกษตรที่มีปริมาณมาก พร้อมสร้างมูลค่าให้กับขยะทางการเกษตร โดยผลิตรองเท้าจากหนังเทียม Vegan Leather ซึ่งทำจากขยะทางการเกษตร เช่น สับปะรด และ ทุเรียน แนวคิดนี้ยังเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการขยะ ซึ่งปลายทางคือสังคมที่ยั่งยืน
รางวัลที่ 2 Happy Meal: นวัตกรรมอาหาร Future Food โปรตีนจาก ‘ไข่ผำ’
จับกระแส Plant-based ต่อยอดวัตถุดิบของไทยจาก ‘ไข่ผำ’ พืชน้ำ แหล่งโปรตีนทางเลือกของคนรักสุขภาพ อุดมด้วยโภชนาการ ผ่านสินค้าต้นแบบ Green Pearl Protein Bar หลากรสชาติ
รางวัลที่ 3 Gacha Thani: แนวคิด Art Toy และ AR Guide Tour ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี
จับเทรนด์การเติบโตของ Art Toy มาสร้างโอกาสด้วยการพัฒนา Gallery Platform ที่เชื่อมโยงคอมมูนิตี้ระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขายในประเทศไทยผ่านเว็บไซต์ และยังสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้ามีส่วนด้วยการนำเทคโนโลยี AR และเกมมาใช้งาน
จริงๆ แล้วไอเดียนวัตกรรมและแนวคิดธุรกิจของทั้ง 10 ทีมน่าสนใจทั้งสิ้น ใครอยากฟังแบบเต็มๆ สามารถดูกิจกรรม Demo Day ย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/DitpValueCreation
ส่วนผลงานจากต้นแบบของ 3 ทีมที่ชนะ กระทรวงพาณิชย์จะมีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และยังมีแนวทางในการสนับสนุนผู้เข้าร่วมโครงการต่อไป เช่น ส่งเสริมให้แสดงศักยภาพในเวทีประกวดออกแบบระดับนานาชาติอย่าง DEmark, G-Mark ซึ่งเป็นเวทีประชันฝีมือของบรรดานักออกแบบฝีมือดีและเป็นประตูสู่การแข่งขันในระดับสากล