วันนี้ (2 กันยายน) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่มี สิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน มีการประชุมวาระสำคัญคือ การพิจารณาศึกษาแนวนโยบายด้านกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่าทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดด้วยการใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะ เพื่อเรียกรับเงินจนผู้ต้องหาเสียชีวิต หรือคดีอดีตผู้กำกับโจ้
โดยได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวเข้าร่วมการประชุมเพื่อซักถามในหลายประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม นำโดย พล.ต.อ. สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) รับมอบมาชี้แจงแทน พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.), พล.ต.ต. เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 (รอง ผบช.ภ.6), พล.ต.ต. ระพีพงษ์ สุขไพบูลย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ (ผบก.ภ.จว.นครสวรรค์), พ.ต.อ. ณรงค์ศักดิ์ พรหมทา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ (รอง ผบก.ภ.จว.นครสวรรค์ ), นพ.ชนินทร์ จารุวัฒนมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์, ตัวแทนสำนักงานศาลยุติธรรม, ตัวแทนสภาทนายความ และ รัชพล ศิริสาคร ตัวแทน ษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ
สิระเปิดเผยก่อนการประชุมว่า แนวทางในการพิจารณาวันนี้เป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจและเคลือบแคลงสงสัยว่าตำรวจจะให้การช่วยเหลือผู้ก่อเหตุหรือไม่ โดยอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปร่วมฟังและไลฟ์ได้ เพราะอยากให้เห็นว่าทุกขั้นตอนมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
ส่วนกรณี พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล อ้างว่ามีโรคบางอย่าง ที่อาจจะทำให้ความผิดลดน้อยลงหรือไม่นั้น เบื้องต้นก็จะต้องมีการพูดคุยกันก่อน โดยยืนยันว่าไม่มีการช่วยเหลือใดๆ ในคดีนี้
จากนั้นเมื่อเริ่มการประชุม สิระได้ถามทางตำรวจว่า คดีดังกล่าวมีการช่วยเหลือผู้ต้องหาในระหว่างดำเนินการจับกุมหรือไม่
ด้าน พล.ต.อ. สุชาติกล่าวว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ให้เจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาเป็นหัวหน้าชุดสืบสวนคดีนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม และตนก็ได้ลงพื้นที่ที่เกิดเหตุ พบว่าการกระทำของอดีตผู้กำกับโจ้มีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่ากระทำผิดจริง 3 ข้อหาด้วยกัน ตามที่เป็นข่าวไป และหากผลการสอบมีการกระทำผิดเพิ่มก็จะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป หลังจากนั้นก็ได้มีการควบคุมตัวผู้กระทำผิดทั้ง 7 รายมาดำเนินคดีนี้ไปแล้ว ยืนยันการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้มีการช่วยเหลือผู้กระทำผิดแต่อย่างใด
จากนั้น พล.ต.ต. เอกรักษ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยเจอกับอดีตผู้กำกับโจ้มาก่อนบ้าง ยอมรับว่ารู้จักแต่ไม่ได้สนิท ขณะที่คืนวันก่อนที่อดีตผู้กำกับโจ้จะมอบตัว ได้มีโทรศัพท์มาตอน 23.00 น. ซึ่งตอนนั้นจับผู้กระทำผิดไปแล้ว 4 ราย เหลืออีก 3 ราย หนึ่งในนั้นคืออดีตผู้กำกับโจ้ และในสายโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาก็คืออดีตผู้กำกับโจ้ที่ร้องไห้ แล้วบอกว่า “อยากตาย เรื่องจะได้จบ” ตนจึงกล่าวไปว่า “ถ้าโจ้ตายไปแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเหลืออะไร ตำรวจไทยจะเหลืออะไร อย่างน้อยต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ”
อดีตผู้กำกับโจ้ตอบกลับมาว่า “ถ้าอย่างนั้นพี่ต้องมารับที่ชลบุรี” จากนั้นตนจึงรายงานไปที่ผู้บังคับบัญชาว่าอดีตผู้กำกับโจ้จะมอบตัว ต่อมาตอนเช้าตนได้ขอชุดพิเศษ เอารถไป 4 คันตามในคลิป ออกจากตำรวจภูธรภาค 6 ในเวลา 10.00 น. จากนั้นเวลา 16.00 น. ตนถึงหน้าโรงพักแสนสุข เมื่ออดีตผู้กำกับโจ้ลงมาจากรถยนต์คันหนึ่ง สมาธิตนอยู่กับตัวผู้ต้องหา จึงไม่มีความจำเป็นที่ตนจะไปจำทะเบียนรถที่มาส่ง และไม่ได้วิ่งไปตามดูทะเบียนแต่อย่างใด ก่อนที่ตนจะนำไปส่งกองปราบปราม ย้ำว่าตนกับอดีตผู้กำกับโจ้ไม่เคยมีความสัมพันธ์อะไรระหว่างกันเลย
จากนั้นในที่ประชุมยังได้มีการซักถามในประเด็นต่างๆ อีกหลายประเด็น เช่น เรื่องของการซ้อมผู้ต้องหาด้วยการเอาถุงดำมาครอบศีรษะจนถึงแก่ความตาย คดีความเรื่องยาเสพติดของผู้ต้องหาที่เสียชีวิต การจัดแถลงข่าวการจับกุมอดีตผู้กำกับโจ้ รวมไปถึงกรณีใบรับรองสาเหตุการตายใบแรก ที่ระบุว่าสาเหตุการตายของผู้ตายมาจากสารเสพติด เป็นต้น
ทั้งนี้ บรรยากาศในห้องประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย การซักถามและการชี้แจงไม่ได้มีการโต้เถียงกันแต่อย่างใด