×

กรมอนามัย คาดการณ์หลังปีใหม่ แนวโน้มฝุ่น PM2.5 เมืองกรุงสูงขึ้น แนะเช็กค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้าน

โดย THE STANDARD TEAM
03.01.2022
  • LOADING...
PM2.5

วันนี้ (3 มกราคม) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ถึง 3 มกราคม 2565 สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในทุกพื้นที่อยู่ในระดับดีถึงดีมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงเหนือที่มีกำลังแรงขึ้น แต่ในช่วงวันที่ 4-5 มกราคม 2565 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อาจมีแนวโน้มของระดับฝุ่นละอองที่สูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและลมอ่อน ร่วมกับการจราจรที่เพิ่มขึ้นหลังเดินทางกลับจากการหยุดยาวในช่วงปีใหม่ 

 

ประชาชนจึงควรติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้าน ด้วยการดูค่า PM2.5 หรือค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th หรือ         แอปพลิเคชัน ‘Air4Thai’ ของกรมควบคุมมลพิษ โดยต้องแปลผลให้ถูกต้อง หากค่า PM2.5 อยู่ในช่วง 51–90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งเท่ากับค่า AQI ที่ 101-200 ถือว่าอยู่ในระดับเกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) แต่หากพบค่า PM2.5 ที่สูงกว่า 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ซึ่งเทียบเท่า AQI ที่สูงกว่า 201 ขึ้นไป อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และสามารถประเมินอาการจากการรับสัมผัสฝุ่นละออง และพฤติกรรมการป้องกันฝุ่นละอองได้ที่ https://4health.anamai.moph.go.th/index หรือ LINE Official https://lin.ee/P63zRoP ​

.

​นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีแหล่งกำเนิดจากหลายแหล่งด้วยกัน เช่น ไอเสียรถยนต์ การผลิตไฟฟ้า การเผาในที่โล่ง การจุดธูป และกิจกรรมเผาไหม้อื่นๆ ในบ้าน เป็นต้น ซึ่งวิธีการลดปริมาณฝุ่นที่ดีที่สุดคือ ประชาชนต้องร่วมกันลดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละออง เช่น ลดการจุดธูป ลดการเผาขยะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ โดยใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ แทนการกวาด เพื่อเป็นการลดฝุ่นละออง รวมทั้งป้องกันตนเองโดยการสวมหน้ากากที่เหมาะสม ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยา และอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม ถ้าที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงฝุ่น PM2.5 ให้ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด

 

​“ทั้งนี้ จากผลการสำรวจอนามัยโพลเดือนธันวาคม 2564 พบว่า ประชาชนร้อยละ 80 มีความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดยร้อยละ 67 กังวลผลกระทบต่อสุขภาพเด็กในระยะยาว และร้อยละ 58 คิดว่าทำให้โรคประจำตัวมีอาการรุนแรงมากขึ้น สำหรับในส่วนการเตรียมตัวดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว ช่วงก่อนเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 พบว่า ร้อยละ 84 เตรียมหน้ากากป้องกันฝุ่น ร้อยละ 75 ดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง ร้อยละ 63 ทำความเข้าใจระดับค่าสี PM2.5 และปฏิบัติตามคำแนะนำ ส่วนการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ประชาชนกว่าร้อยละ 82 ต้องการให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ขณะที่ร้อยละ 70 ให้แจ้งเตือนสถานการณ์ และสื่อสารคำแนะนำด้านสุขภาพล่วงหน้า และร้อยละ 58 ให้ตรวจรถที่มีควันดำ ดังนั้น การใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว ก็ช่วยลดการเพิ่มปริมาณฝุ่นได้อีกทางหนึ่งด้วย” ​นพ.สุวรรณชัยกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X