×

กรมการจัดหางาน เผยมีคนขึ้นทะเบียนออนไลน์ ใช้สิทธิกรณีว่างงานแล้วกว่า 1.4 แสนคน

03.04.2020
  • LOADING...

วันนี้ (3 เมษายน) ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ประชาชนที่ว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ที่ทำให้นายจ้าง/สถานประกอบการต้องปิดกิจการ จะได้รับเงินชดเชย 70% ของค่าจ้างที่เคยได้รับ โดยระยะเวลาที่จ่ายจะไม่เกิน 200 วัน หากเป็นการว่างงานจากการลาออกเอง จะได้รับเงินในอัตรา 45% ของค่าจ้างที่เคยได้รับ โดยระยะเวลาที่จ่ายจะไม่เกิน 90 วัน 

 

แต่หากเป็นกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ได้แก่ กรณีนายจ้างไม่ให้ทำงานเพราะต้องกักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 และกรณีหน่วยงานภาครัฐสั่งให้ปิดสถานประกอบการชั่วคราว จะต้องลงทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกับสำนักงานประกันสังคม 

 

ด้าน สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า หลังจากได้แจ้งให้ พนักงาน ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง จากสถานประกอบการที่ประสบปัญหา ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ส่งเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน มาลงลงทะเบียนใช้สิทธิกรณีว่างงานออนไลน์ ทางเว็บไซต์ https://empui.doe.go.th ภายใน 30 วันหลังจากถูกเลิกจ้างนั้น 

 

โดยพบว่า ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา มีผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิกรณีว่างงานออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://empui.doe.go.th กับกรมการจัดหางานแล้ว 144,861 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ที่มีผู้มาขึ้นทะเบียน จำนวน 84,177 คน และเดือนมกราคม จำนวน 74,775 คน คิดเป็นร้อยละ 41.89 และ 48.38 ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ดี สำหรับรายละเอียดขั้นตอนการขึ้นทะเบียนว่างงานและรายงานตัว ทางเว็บไซต์ empui.doe.go.th ของกรมการจัดหางาน สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.youtube.com/watch?v=z_eKpk9sPzg&t=20s ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถทำได้เองที่บ้านผ่านระบบ e-Service ในทุกที่ตลอดเวลา และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปติดต่อที่สำนักงาน เพื่อลดความแออัดหรือการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อันเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล 

 

หากผู้ใดมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X