ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ถือเป็นอีกหนึ่งในวันประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย หลัง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพำนักอยู่ต่างประเทศมากว่า 15 ปี เดินทางกลับมายังประเทศไทย ก่อนจะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
แต่ทว่ายังไม่ทันข้ามคืน มีการย้ายตัว ทักษิณ ชินวัตร มายังโรงพยาบาลตำรวจ และพักรักษาตัวที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาล เนื่องจากแพทย์ตรวจพบว่ามีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ ก่อนที่จะมีการตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องห้องผู้ป่วยของทักษิณที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ว่าเป็นห้องพิเศษ VIP หรือไม่
ผ่านไปเกือบหนึ่งเดือน ความเคลื่อนไหวต่างๆ เริ่มปรากฏตามมา หลังกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. เริ่มเดินหน้าสอบถามหน่วยงานต่างๆ ถึงความชัดเจนของอาการป่วยของทักษิณ อย่างไรก็ตามอีกแง่มุมหนึ่งก็มองว่าอาการป่วยหรือการรักษาต่างๆ นั้นถือเป็นสิทธิของผู้ป่วย ไม่สามารถเปิดเผยได้หากไม่ได้รับความยินยอม
THE STANDARD ชวนย้อนประมวลความเคลื่อนไหวในการเสาะหาคำตอบของข้อสงสัยถึงอาการป่วยของทักษิณ กับสิทธิของผู้ป่วยที่กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่าไม่สามารถเปิดเผยได้หากไม่ได้รับการยินยอม
- วันที่ 18 กันยายน 2566 เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อสอบถามถึงกรณีอาการป่วยของ ทักษิณ ชินวัตร และรายชื่อแพทย์ พร้อมขอให้นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจชี้แจงความจริง
- หนึ่งในตัวแทนกลุ่ม คปท. ระบุว่า ภายหลังจากที่ ทักษิณ ชินวัตร ได้อ้างสิทธิในการเป็นผู้ป่วยแล้วย้ายมารักษาตัวนอกเรือนจำเมื่อคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน สังคมได้มีคำถามที่รอคำตอบจากคณะแพทย์โรงพยาบาลตำรวจถึงอาการป่วยของ ทักษิณ ชินวัตร ว่ามีการป่วยจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่
- กลุ่ม คปท. ยังได้เรียกร้องให้ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้บังคับบัญชาของแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ 3 ข้อคือ ขอให้สั่งการให้เปิดเผยรายชื่อคณะแพทย์ที่รักษา ทักษิณ ชินวัตร, ขอให้สั่งการให้คณะแพทย์ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้ถึงอาการป่วยของ ทักษิณ ชินวัตร และขอให้สั่งการให้คณะแพทย์ได้ดำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณของแพทย์ และรักษาไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจ
- ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2566 แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เปิดเผยอาการ ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดาว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เข้ารับการผ่าตัดจากแพทย์ผู้ดูแล แต่รายละเอียดของอาการขอให้ทางแพทย์เป็นผู้เปิดเผย ขณะนี้อยู่ในช่วงของการพักฟื้น และจะต้องรักษาตัวอีกนานแค่ไหนตนยังไม่ทราบ
- วันเดียวกันนี้ พล.ต.ท. โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวยืนยันว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ารับการผ่าตัดจริง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สาเหตุที่ต้องผ่าตัดมีจากหลายอาการ หลายสาเหตุ แต่ขณะนี้ขอยืนยันว่าอาการอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยแล้ว และกำลังดีขึ้นตามลำดับ
- วันที่ 22 กันยายน 2566 กลุ่ม คปท. ยื่นหนังสือถึง อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ขอให้มีการเปิดเผย และชี้แจงอาการป่วยของทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยแกนนำรายหนึ่งย้ำว่า เพราะสังคมสงสัย เนื่องจากหลังจากทักษิณถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็มีอาการป่วยจนโรงพยาบาลราชทัณฑ์ส่งตัวมาที่โรงพยาบาลตำรวจ และขณะนี้แจ้งว่ามีการผ่าตัดเกิดขึ้นอีก ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการสมคบคิด มีการวางแผนเป็นขั้นตอนหรือไม่ ขอให้กรมราชทัณฑ์ชี้แจงอาการป่วยของทักษิณให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้น หากเป็นการเอื้ออำนวยประโยชน์ ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อหน้าที่
- เช้าวันที่ 25 กันยายน 2566 กรมราชทัณฑ์ออกจดหมายข่าวระบุว่า กรมราชทัณฑ์ชี้แจงกรณีไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยได้ เป็นไปตามหลักกฎหมายและมาตรฐานสากล พร้อมระบุว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลให้เป็นไปโดยเสมอภาคกันตามกฎหมาย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขัง การสัมภาษณ์ การเปิดเผยใบหน้า โดยเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์ การรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังรายใดก็ตาม ทั้งที่เป็นประชาชนคนธรรมดา ดารานักแสดง นักการเมือง หรือผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคม ฯลฯ ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำโดยกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ไม่สามารถเปิดเผยได้หากผู้ต้องขังไม่ยินยอม และกรณีที่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ต้องมีการลงนาม
ในแบบฟอร์มเพื่อยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลเท่านั้น (Informed Consent)
- การเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยนั้นต้องยึดหลักกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
- พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
มาตรา 7 ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่น เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้
- ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 323 ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่นโดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงาน
ผู้มีหน้าที่ โดยเหตุที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้พยาบาล นักบวช หมอความ ทนายความ หรือผู้สอบบัญชี หรือโดยเหตุที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้นแล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้รับการศึกษาอบรมในอาชีพดังกล่าวในวรรคแรก เปิดเผยความลับของผู้อื่น อันตนได้ล่วงรู้หรือได้มาในการศึกษาอบรมนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560
- ข้อบังคับแพทยสภา
ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ข้อ 27 ซึ่งแพทย์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ระบุว่า กรมราชทัณฑ์ยึดมั่นในหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังพึงได้รับตามมาตรฐานสากล โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภาคีสมาชิกแห่งองค์การสหประชาชาติ มีการวางมาตรฐานข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง
โดยรายละเอียดของผู้ต้องขังในฐานะผู้ป่วย ตามข้อกำหนดที่ 26, 32 ที่กำหนดว่า ข้อมูลด้านเวชระเบียนผู้ต้องขังทุกคนต้องเก็บเป็นความลับ ผู้ต้องขังมีสถานะเป็นผู้ป่วยตามปกติเมื่อเข้าพบแพทย์ ผู้ป่วยต้องให้ความยินยอมบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง (Informed Consent) สำหรับการตรวจหรือรักษาทางการแพทย์ ประวัติการรักษาของผู้ต้องขังต้องถูกเก็บเป็นความลับ การไม่เปิดเผยข้อมูลเรื่องสุขภาพของผู้ต้องขังนั้น ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับเท่าเทียมกัน
- กรมราชทัณฑ์ยังชี้แจงเพิ่มเติมถึงสถิติผู้ต้องขังที่ต้องดูแลทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมราชทัณฑ์มีสถิติผู้ต้องขังที่ต้องดูแลทั่วประเทศกว่า 276,686 คน โดยมีผู้ต้องขังเจ็บป่วยอยู่ทั่วประเทศ ทั้งที่เจ็บป่วยทั่วไปสามารถดูแลได้ภายในสถานพยาบาลเรือนจำ หรือกรณีส่งต่อออกไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก ส่งรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกราว 30,000 คน โดยออกรักษามากกว่า 75,000 ครั้ง และมีผู้ป่วยกรณีที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลภายนอกเกินกว่า 30 วัน ประมาณ 140 คน
“ซึ่งผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างเต็มที่ แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ หรือแพทย์พยาบาล และเครื่องมือทางการแพทย์ที่เป็นข้อจำกัด โดยเป้าหมายคือ การรักษาชีวิตของผู้ต้องขังทุกคนให้ปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยจะเห็นได้ว่า มีอัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงขอเรียนย้ำว่า การดูแลผู้ต้องขังให้มีสุขภาพดีเป็นมาตรฐานสากล แม้เป็นผู้กระทำความผิดก็ต้องดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนให้ครบถ้วน”
- อย่างไรก็ตาม บ่ายวันที่ 25 กันยายน 2566 การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ซึ่งมี สมชาย แสวงการ สว. เป็นประธาน ได้พิจารณาติดตามการดูแลนักโทษของระบบราชทัณฑ์ ซึ่งมีการเชิญตัวแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, โรงพยาบาลตำรวจ, กระทรวงยุติธรรม, กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เข้าร่วมการประชุม
สว. สมชาย กล่าวตอนหนึ่งก่อนการเข้าสู่ระเบียบวาระว่า การเชิญตัวแทนหน่วยงานมาให้ข้อมูลกับกมธ. นั้น ต้องการทราบถึงการดูแลผู้ป่วยตามมาตรการของกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส รวมถึงติดตาม หรือข้อสงสัย ในกรณีของ ทักษิณ ชินวัตร ที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่จะไม่ให้กระทบกระเทือนของสิทธิผู้ป่วย ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมลับ และจะเปิดเผยรายละเอียดเฉพาะที่ได้รับอนุญาต