พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นเหตุการณ์แห่งความทรงจำของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ซึ่งทุกคนได้ร้อยรวมหัวใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อถวายพระเกียรติยศแด่ ‘พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย’ แม้จะได้ผ่านห้วงเวลาดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ภาพของพระองค์ยังคงสถิตอยู่ในใจของปวงชนชาวไทย
เช่นเดียวกับ ‘พระเมรุมาศ’ ที่รัฐบาล โดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เริ่มการเตรียมงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 จนเสร็จสมบูรณ์สมพระเกียรติยศ
พระราชพิธีสำเร็จล่วงแล้วทุกประการ…ปฐมบทแห่งการรื้อถอนพระเมรุมาศ
นับแต่การจัดสร้างพระเมรุมาศ อาคารประกอบ ซ่อมสร้างราชรถ ราชยาน พระบรมโกศ และทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ครบถ้วนตามขัตติยราชประเพณี กระทั่งผ่านห้วงเวลาของพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพถือว่าบัดนี้ได้แล้วเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย ด้วยพลังของหน่วยงานและประชาชน ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันมาตลอด
หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เป็นเวลาเกือบ 2 เดือน และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีประชาชนหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ ตามรายงานของกระทรวงวัฒนธรรม ตลอด 60 วัน เป็นจำนวนกว่า 4,000,086 คน
และวันนี้ ถึงเวลาที่จะทำการรื้อถอน ‘พระเมรุมาศ’ แต่ก่อนจะทำการรื้อถอน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 89 รูป เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9
และเมื่อเวลา 10.19 น. พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้แทนพระองค์ เป็นประธานในการประกอบพิธีบวงสรวงการรื้อถอน และอัญเชิญพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ลงจากยอดพระเมรุมาศ
พลเอก ประยุทธ์ กล่าวรายงานต่อผู้แทนพระองค์ ตอนหนึ่งว่า
“นับแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสู่สวรรคาลัย ยังความโศกเศร้าใหญ่หลวงมาสู่พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์และประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดพระราชพิธีพระบรมศพ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายอย่างสมพระเกียรติ และจัดสร้างพระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ ท้องสนามหลวง
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตามโบราณขัตติยราชประเพณี ได้สำเร็จล่วงแล้วทุกประการ ด้วยเดชะพระบารมี ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีเชิญพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรลงจากยอดพระเมรุ และรื้อถอนพระเมรุมาศกับอาคารประกอบทั้งปวงโดยลำดับ
บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว กระผมขอกราบเรียนเชิญ ฯพณฯ ผู้แทนพระองค์ ประกอบพิธีอัญเชิญ พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรลงจากยอดพระเมรุ เป็นปฐมแห่งการรื้อถอนพระเมรุมาศต่อไป”
เจ้าหน้าที่โหรลั่นฆ้องชัย…เริ่มพิธีบวงสรวง
เวลา 10.10 น. พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้แทนพระองค์ ประธานในการประกอบพิธีบวงสรวงการรื้อถอน และอัญเชิญพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ลงจากยอดพระเมรุมาศ เดินทางมายังมณฑลพิธีบวงสรวง
เวลา 10.19 น. เจ้าหน้าที่โหรพราหมณ์ ได้ลั่นฆ้องชัย สังข์ บัณเฑาะว์ ประธานปักธูปบริวารที่เครื่องบวงสรวงทั้งหมด จากนั้นประธานจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยและกราบ หัวหน้าโหรพราหมณ์ กล่าวโองการทำพิธีบวงสรวง
ลำดับต่อมา ประธานเดินมายังหน้าชาลาพระเมรุมาศ ประธานประพรมน้ำมนต์ที่หน้าชาลาพระเมรุมาศ และรับค้อนจากเจ้าพนักงาน ประธานเคาะที่ชาลาหน้า 3 ครั้ง เจ้าหน้าที่โหรพราหมณ์ ลั่น ฆ้องชัย สังข์ บัณเฑาะว์ จากนั้น ประธานโปรยข้าวตอกดอกไม้ แล้วจึงอัญเชิญพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรลงจากยอดพระเมรุมาศ ซึ่งถือเป็นการบวงสรวงก่อนการเริ่มต้นการรื้อถอน
เริ่มรื้อถอนพระเมรุมาศแล้ว อัญเชิญพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ไปไว้สำนักพระราชวัง
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า หลังพิธีบวงสรวงรื้อถอนย้ายพระเมรุมาศ อาคารประกอบและอัญเชิญนพปฎลมหาเศวตฉัตรเจ้าหน้าที่จะเริ่มดำเนินการรื้อถอนพระเมรุมาศทันทีในช่วงบ่าย โดยพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร จะถูกอัญเชิญไปเก็บไว้ที่กองพระราชพิธีสำนักพระราชวัง
โครงสร้างพระเมรุมาศที่เป็นเหล็กและชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมบางส่วน จะนำไปไว้ที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตัวพระที่นั่งทรงธรรมบางส่วนจะนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์งานพระราชพิธีฯ ตำบลคลอง 5 จังหวัดปทุมธานี และทำการเพิ่มตัวอาคารอีก 1 ชั้น สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ งานประติมากรรม และจิตรกรรม
นอกจากนี้บรรดาศาลาลูกขุน ทับเกษตร 2 งานศิลปกรรม สัตว์หิมพานต์ เทวดา และสัตว์ประจำทิศต่างๆ ก็ถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์งานพระราชพิธีฯ จังหวัดปทุมธานี และสำนักช่างสิบหมู่ จังหวัดนครปฐม
ส่วนนิทรรศการบนพระที่นั่งทรงธรรมซึ่งเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะนำไปจัดแสดงใน 3 สถานที่คือ วังพญาไท หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หอวชิราวุธานุสรณ์ ขณะที่นิทรรศการบนศาลาลูกขุน จะนำไปจัดแสดงที่สำนักช่างสิบหมู่
สำหรับไม้ดอกไม้ประดับที่เป็นไม้ใหญ่จะส่งคืนให้กับสวนนงนุช ดอกดาวเรืองจะนำไปจัดแสดงในงานฤดูหนาว ที่พระลานพระราชวังดุสิต ปลายเดือนมกราคมนี้ ส่วนแปลงนาหมายเลข 9 กรมการข้าว กระทรวงเกษตรจะเก็บเกี่ยวเอง
อย่างไรก็ตาม ศิลปกรรม จิตรกรรม ฉากบังเพลิง หรือแม้แต่ผ้าทองย่น บางส่วนจะเก็บเป็นตัวอย่างสำหรับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป
ในการรื้อถอนคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน หรือแล้วเสร็จในวันที่ 15 มีนาคม
คุณใหม่ ร่วมเกี่ยวข้าวในภูมิสถาปัตยกรรมแปลงนาข้าว ประกอบพระเมรุมาศ
กรมการข้าวถือฤกษ์เดียวกับการประกอบพิธีบวงสรวงรื้อถอน ย้ายพระเมรุมาศ เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในแปลงนาเลข 9 ซึ่งเป็นงานภูมิสถาปัตยกรรม ประกอบพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
โดยมี นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ สำนักพระราชวัง นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว พล.ต. ธานี ฉุยฉาย ที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะ รอง ผอ.กอร.รส. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ร่วมกันเกี่ยวข้าวในแปลงนาสาธิต ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 โดยมีคุณสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ร่วมเกี่ยวข้าวด้วย
สำหรับแปลงนาข้าวเลข 9 บนพื้นที่กว่า 1 ไร่ เป็นภูมิสถาปัตยกรรมที่ศิลปากรได้จำลองไว้ด้านหน้า ทางเข้ามณฑลพิธีด้านทิศเหนือ ด้วยแรงบันดาลใจจากโครงการส่วนพระองค์ ที่เกี่ยวกับเกษตรตามแนวพระราชดำริ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ภายในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9
ขณะที่มีประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งจิตอาสาเฉพาะกิจ ร่วมเกี่ยวข้าวและนำเอาเมล็ดพันธ์ุข้าวไปเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นสิริมงคลของชีวิต
โศกเศร้า…แต่จะขอทำความดีตลอดไป
‘พรสิทธิ์ ตั้งพงศ์บัณฑิต’ พสกนิกรชาวไทย ที่ทราบข่าวการรื้อถอนพระเมรุมาศ ได้เดินทางมายังมณฑลพิธี เพื่อกราบสักการะเป็นครั้งสุดท้าย โดยได้นำเอาพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ใส่กรอบพกติดตัวไว้ตลอดมาด้วยในครั้งนี้
พรสิทธิ์ เปิดเผยความรู้สึกกับ THE STANDARD ด้วยสีหน้าและแววตาที่เจือปนไปด้วยความโศกเศร้าว่า
“ผมรู้สึกโศกเศร้าเสียใจ ที่ต้องสูญเสียพระองค์ แต่นั่นคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้ว คิดถึงพระองค์ และคิดว่าคนไทยทุกคนก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทั้งชีวิต ได้ทรงงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
“ผมจะขอทำตามคำสอนของพระองค์ เป็นคนดีช่วยเหลือผู้อื่นทุกครั้งที่มีโอกาส ผมอยากขอให้คนไทยเลิกทะเลาะกัน เลิกแบ่งข้าง รู้รักสามัคคี อยู่กันอย่างสงบร่มเย็นเป็นสุข และมีชีวิตด้วยความพอเพียง เพื่อพระองค์ท่าน”