วานนี้ (21 เมษายน) รายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD สัมภาษณ์ พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ถึงการรับมือของพรรค กรณี ปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคถูกดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับเพศซึ่งมีผู้เสียหายหลายราย
พนิตกล่าวว่า ก่อนอื่นคงจะต้องยอมรับว่า ทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์รู้สึกเสียใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น และแน่นอนตกใจ ขออนุญาตกราบขอโทษพี่น้องประชาชนคนไทยทุกท่าน ตนในฐานะสมาชิกพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องกราบขอโทษประชาชนที่เคยมั่นใจและยังมั่นใจในความเป็นสถาบันการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ แม้บรรยากาศคงไม่เหมือนเดิมแน่ แต่เราคงจะต้องทำอะไรที่เรียกศรัทธาให้กับพวกเราชาวประชาธิปัตย์อย่างเร็วที่สุด แล้วเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นศรัทธาและเป็นเรื่องบุคลากรที่มีตำแหน่งสูงและมีความสำคัญต่อพรรคประชาธิปัตย์
ผู้ดำเนินรายการถามว่า ก่อนจุรินทร์แถลงข่าวขอโทษ แสดงความเสียใจ และลาออกจาก 2 ตำแหน่งประธานคณะกรรมการ เรื่องนี้ในพรรคมีการพูดคุยหรือไม่ว่าลำดับขั้นตอนของความรับผิดชอบจะเป็นอย่างไร เนื่องจากออกมาช้า
พนิตกล่าวว่า พอดีช่วงนั้นเกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ หลายคนไม่ได้อยู่ที่พรรค ต่างคนต่างแยกย้ายกันไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานการเมืองคือการทำงาน 365 วัน และไม่มีวันหยุด แม้กระทั่งช่วงปิดสมัยประชุมสภาและช่วงวันสงกรานต์ แต่นี่คือวิกฤตที่เกิดขึ้นเหมือนกับไฟไหม้ ถ้าไฟไหม้แล้วบอกว่าติดวันหยุด แล้วไม่ออกมาดับเพลิง บ้านก็ไหม้แน่นอน
“สำหรับผมก็คิดว่า ในฐานะเป็นคนที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเมื่อวันอาทิตย์ (17 เมษายน) ว่าจำเป็นแล้วที่ผู้บริหารพรรคโดยเฉพาะท่านหัวหน้าพรรคจะต้องออกมาตอบคำถามสังคม ซึ่งเป็นคำถามที่ถูกตั้งมาในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา แล้วต้องให้ความเป็นธรรมกับท่านหัวหน้าว่า ท่านก็คงจะรู้ แต่ก็คงคาดคิดไม่ถึงว่ามันจะมีคำถามมากมาย และจะต้องทำอย่างไรที่จะตอบแล้วไม่เกิดความผิดพลาด แล้วก็ยังเป็นเรื่องของคดีความที่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่ทั้งหมดทั้งปวงไม่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่ ศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อพรรคประชาธิปัตย์ คือเรื่องที่จะต้องมีการดำเนินการให้เร็วที่สุด”
กรณีมีคนทักท้วงคุณสมบัติของปริญญ์ในการเป็นรองหัวหน้าพรรค แต่จุรินทร์ใช้กฎข้อยกเว้น เพื่อให้ปริญญ์เป็นรองหัวหน้า ตอนนั้นเหตุการณ์เป็นอย่างไร อยู่ในเหตุการณ์หรือไม่
พนิตกล่าวว่า ยอมรับว่าอยู่ในเหตุการณ์ตลอด มีเรื่องที่หลายคนอาจจะไม่เคยทราบและอาจจะไม่กล้าพูดเรื่องนี้
“ผมขอพูดที่นี่ที่แรกแล้วกัน มีผมและผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่อยู่กับผม ได้พูดกับคุณปริญญ์เป็นการส่วนตัวว่า มันมีข่าวมีข้อมูลส่งมาถึงผมส่วนตัวเลย และส่งถึงผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งเรื่องพฤติกรรมในอดีตของคุณปริญญ์ เราพูดกัน 3 คนในห้อง แล้วผมก็พูดกับคุณปริญญ์ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก และเป็นเรื่องที่อาจจะกระทบกับการทำงานของตัวเขาเองและพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคต แล้วผมก็ต้องเรียนตรงๆ ว่า ก่อนที่คุณปริญญ์จะมารับตำแหน่ง ทันทีที่ทราบข่าวว่าคุณปริญญ์ซึ่งเป็นคนเก่งมาก เป็นนักการเงินที่เก่งจะเข้าพรรค ก็มีหลายคนโทรมาหาผมแล้วก็เตือน เพราะเมื่อประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้วก่อนผมมาเป็นนักการเมือง ผมอยู่ในวงการการเงินเกือบ 10 กว่าปี ดังนั้นจะมีเพื่อนฝูง มีคนที่เคยทำงานด้วยกันโทรมาเตือน โทรมาบอก ในฐานะที่เขาหวังดีต่อพรรคประชาธิปัตย์
“ผมและผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งก็ได้พูดตรงๆ ว่า อย่างไรก็ตาม มองหน้าผม แล้วช่วยตอบได้ไหมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร คุณปริญญ์ก็ตอบโดยตรงนะครับว่า มันเป็นเรื่องในอดีตแล้วมีการกลั่นแกล้ง และในบริษัทที่เคยอยู่ก็มีการกลั่นแกล้ง แน่นอนครับ หลักฐานมันไม่มี มันเป็นแค่คำกล่าว คำบอกเล่าจากคนที่อยู่ในวงการ เราเองเมื่อได้ยินอย่างนี้ เราก็เตือน
“เขาก็ยืนยันว่าเป็นการกลั่นแกล้ง และไม่มีจริง คนที่กลั่นแกล้งเขาก็คือคนที่อยู่ในบริษัท แล้วเขาในฐานะเป็นหัวหน้าได้ย้ายคนคนนี้ไปทำงานอย่างอื่น จึงอาจจะมีความไม่พอใจ ซึ่งก็เข้าใจได้ และแน่นอนนะครับว่า เราก็ต้องเชื่อและยกประโยชน์ให้กับเขา เพราะมันไม่มีหลักฐาน มันไม่เหมือนกรณีที่มีการฆาตกรรมหรืออะไรอย่างอื่น คดีความมันไม่มี แม้กระทั่งเรื่องที่เกิดขึ้นที่อังกฤษ เราก็พูดกันถึงเรื่องนี้ คุณปริญญ์ก็บอกว่ามันเป็นการกลั่นแกล้ง แล้วมันก็ไม่ได้มีเรื่องต่อ คดีก็ไม่ถึงที่สิ้นสุด เพราะว่ามันเป็นการพักคดี ผมยังพูดกับคุณปริญญ์ว่าตำแหน่งที่อาจจะได้รับมันเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรีและสำคัญมากสำหรับประชาธิปัตย์ ก็คือตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค คุณปริญญ์เองก็เป็นคนที่เก่ง มีศักยภาพ แต่ยังไม่เคยทำงานทางการเมืองเลย การที่เข้ามานี้อาจจะส่งผลให้เกิดความไม่พอใจหรือยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเอง ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่อาจจะเริ่มจากตำแหน่งที่รองจากนี้หน่อยดีไหม เช่น รองเลขาธิการพรรค
“จะได้ไม่เป็นจุดเพ่งเล็ง ผมยังพูดกับคุณปริญญ์ คุณปริญญ์ก็บอก พี่ต้องเชื่อผม ซึ่งผมเชื่อเขานะครับ ผมบอกตรงๆ ว่า เวลาคนเรามองตากัน เราอ่านไม่ออกหรอก แต่เมื่อเขามีความมุ่งมั่นตั้งใจ เราต้องยกประโยชน์ให้กับเขาก่อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็เป็นห่วง ไม่ใช่เป็นห่วงเขา แต่เป็นห่วงชื่อเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นสถาบันการเมือง ต้องได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนครับ”
ผู้ดำเนินรายการถามว่า หลังคุยวงแคบ 3 คนแล้ว ได้ไปคุยกับจุรินทร์หรือท่านอื่นต่อหรือไม่
พนิตกล่าวว่า มีการส่งข้อมูลนี้ให้กับหัวหน้าพรรค แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เป็นเพียงข้อมูลจากปากหนึ่งถึงปากหนึ่งแล้วก็ไปถึงหัวหน้าพรรค ไม่มีหลักฐาน ไม่มีอะไรทั้งสิ้น เป็นการเตือนกันเพื่อประโยชน์ของพรรคประชาธิปัตย์ในการบริหารจัดการ ในการบริหารงานในอนาคต และที่สำคัญที่สุด คือเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเมื่อคุณก้าวมาสู่ตำแหน่งทางการเมือง คือตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค สิ่งที่เป็นปัญหาของคุณ ไม่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่ มันไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกแล้ว
ในปี 2562 กลางปีที่เราแต่งตั้งหัวหน้าพรรคและรองหัวหน้าพรรคซึ่งมีคุณปริญญ์ สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เมื่อเขามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว เขาจะต้องปฏิบัติตัวอย่างบุคคลสาธารณะ เรื่องเก่าไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก เราก็เลยรู้สึกเสียใจ และส่วนตัวก็รู้สึกเสียใจว่าเรื่องหลายเรื่องมาเกิดขึ้นหลังจากที่เราได้เตือนเขาแล้ว
เมื่อถามว่า หลังจากพรรคประชาธิปัตย์แต่งตั้งปริญญ์เป็นรองหัวหน้าพรรคแล้ว มีเรื่องซึ่งปัจจุบันกลายเป็นคดีมาเข้าหูให้ได้ยินอีกหรือไม่
พนิตตอบว่า ไม่มีจนกระทั่งเป็นข่าว
“ไม่มี เพราะว่าทันที่ที่เขาเตือนผมหนักๆ ในช่วงก่อนแต่งตั้ง เขาก็คิดว่า เมื่อคุณแต่งตั้งไปแล้ว คุณก็ต้องรับผิดชอบแล้ว ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องมาเจอกันจริงๆ ความหมายคือว่าเมื่อเขาเตือนคุณแล้ว แล้วคุณไม่เชื่อเขาหรือเชื่อแต่คุณทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องให้สถานการณ์เป็นตัวตัดสิน เป็นตัวพาไป แล้วก็มาพาไปหลังคุณปริญญ์รับตำแหน่ง 3 ปี ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าพวกเราตกใจ แล้วก็ต้องยอมรับว่าผิดหวังเพราะมันมีการพูดกันแล้ว”
ผู้ดำเนินรายการถามว่า ทิศทางประชาธิปัตย์หลังจากนี้จะไปอย่างไรต่อ
พนิตกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรค เราจะต้องพยายามวิเคราะห์ให้ออกว่าอะไรจะเป็นสิ่งที่ประชาธิปัตย์สามารถเรียกความศรัทธากลับมาได้ แน่นอนที่สุด จะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารที่ได้แต่งตั้งบุคลากรหรือบุคคลคนนี้เข้ามาบริหารแล้วเกิดปัญหา
“ผมขออนุญาตใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษนิดหนึ่งนะครับ วันนี้เรารู้จักคำว่า Responsibility หรือความรับผิดชอบ ซึ่งคำนี้สำหรับผมมันยังไม่พอสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่แค่ Responsibility แต่มันคือคำว่า Accountability ซึ่งมากกว่าแค่ความรับผิดชอบ แต่มันคือสิ่งที่จะต้องรับผิดชอบและดำเนินการกับสิ่งที่คุณได้ทำลงไป มันต้อง Accountable หรือจะต้องมีความชัดเจนมากกว่าแค่พูดว่ารับผิดชอบ มันต้องเป็นการกระทำ
“สำหรับผมในฐานะที่เคยบริหารงานมาเยอะ การกระทำเท่านั้นที่จะเรียกศรัทธา ไม่ใช่แค่บอกว่าผมรับผิดชอบแค่นี้ ดังนั้นการกระทำของผู้บริหาร การกระทำของคนที่แต่งตั้งบุคลากรเข้าไปแล้วมีปัญหา มันจะต้องมากกว่าแค่คำว่า ผมรับผิดอย่างเดียว มันอยู่ที่แอ็กชัน อยู่ที่พฤติกรรม”
ผู้ดำเนินรายการถามว่า ตั้งแต่เลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. จำนวนลดลง หลังจากนั้นพรรคมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะกลับมาเป็นพรรคใหญ่หรือไม่
พนิตกล่าวว่า ตนเองเป็น 1 ใน 16 เสียงที่ไม่สนับสนุนการเข้าร่วมรัฐบาล และคิดว่าประชาธิปัตย์มีจุดยืนตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา 76 ปี คือจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจและเผด็จการ ซึ่งเรื่องนี้ก็แล้วแต่มุมมอง แต่ ณ วันนี้ ต้องยอมรับว่าเมื่อเรากลายเป็นพรรคขนาดกลาง สิ่งที่ทำได้คือทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วถ้าตัดสินใจไปร่วมรัฐบาลก็ต้องบริหารประเทศให้ดีที่สุดเพื่อเรียกศรัทธากลับคืนมา
แต่การที่เราลดลงมาจาก 140-150 คน มาเป็น 53 คน ต้องเข้าใจบริบททางการเมือง คือว่ามันแบ่งเป็นขั้ว มี 2 ขั้ว เมื่อก่อนเราเคยเป็นขั้วใหญ่สู้กับอีกขั้วหนึ่ง แต่วันนี้เราไม่ได้เป็นขั้วใหญ่ แล้ววันที่เราเสนอตัวตอนปี 2562 เรากลายเป็นขั้วที่ 3 ซึ่งประชาชนคนไทยได้ตัดสินแล้วว่ามันไม่เหมาะสมในสถานการณ์ ณ วันนั้น และกรุงเทพฯ เองก็ชัดเจน
“ผมเคยเป็น ส.ส. กรุงเทพฯ แต่ครั้งที่แล้วไม่ได้ลง ลูกชายลงเลือกตั้ง ลูกชายผมไม่ได้ผิดอะไรเลย แต่ปรากฏว่าเขาตก เพราะว่าคนกรุงเทพฯ ต้องการความสงบจบที่ลุงตู่ ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ตัดสินใจ ณ ปี 2562 ว่าจะขอเลือกพรรคคู่แข่งเรา ประชาธิปัตย์ใน 30 เขต จึงกลายเป็นศูนย์ไปเลย แล้วที่สำคัญที่สุด คะแนนใน 30 เขต ได้ 10,000-15,000 คะแนน แม้กระทั่งเขตที่แข็งที่สุด สมัยก่อนเคยได้ 40,000 คะแนนก็ได้หมื่นกว่า
“ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องทำก็คือว่า ในวันนี้เราต้องสร้างและกลับมาทบทวนถึงจุดยืนของพรรค ว่าเรากำลังสู้กับอะไร แล้วที่เรียกว่าพื้นฐานของเรา ที่เคยอยู่มาได้ 76 ปี ที่เราขายอยู่ ประชาชนศรัทธา เรายังจะใช้ตรงนั้นอยู่ไหม ดังนั้นผมเชื่อว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปตอนปี 2562 ก่อนเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคในวันนั้น ถ้าเป็นท่านเดิมจะย้อนกลับไปอีกกี่ครั้งท่านก็คงจะตัดสินใจเหมือนเดิม แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา เราเหลือ 53 คนจากร้อยกว่า ผิดพลาดไหม ต้องรับผิดชอบไหม ต้องรับผิดชอบ อดีตหัวหน้าพรรคคนก่อนหน้านี้รับผิดชอบโดยการลาออก ผมอยู่กับท่านเป็นรองหัวหน้าพรรคก็รับผิดชอบโดยการต้องอยู่กับท่านคือการลาออก แล้วก็สู้ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
“ถ้าเราไม่ได้ตัดสินใจออกนโยบายอย่างที่หัวหน้าพรรคคนเก่าพูดไว้ (ไม่ไปร่วมกับ พล.อ. ประยุทธ์) เราอาจจะเหลือ ส.ส. แค่ 10 คนก็ได้ อาจจะน้อยกว่า 53 คน ผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้ ต้องมีแฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์ 3-4 ล้านคนเห็นว่าแนวทางนี้ใช่เลย อย่างไรต่อสู้เรื่องนี้มา เราเลือกคุณ แต่ถ้าคุณอภิสิทธิ์ตัดสินใจสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกฯ แล้วประชาธิปัตย์จะเหลืออะไรครับ
“ถ้าคุณอภิสิทธิ์ตอบนักข่าวว่ายินดียกมือให้คุณประยุทธ์ แล้วประชาธิปัตย์จะเหลืออะไรครับ เรื่องนี้จบไปแล้ว แต่เราพูดได้ วิเคราะห์ได้ ผมยอมรับว่าผมอยู่ในขบวนการการตัดสินใจ แล้วผมก็พร้อมที่จะรับ แต่สำคัญที่สุดก็คือว่า เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วมันพูดง่าย ขณะที่ในวันที่ต้องตัดสินใจโดยยึดจุดยืนของพรรค ณ วันนั้น หัวหน้าพรรค ผู้นำพรรคก็จะต้องกล้าตัดสินใจในสิ่งที่ใหญ่มาก แล้วอาจจะผิดหรือถูก ถ้าวันนั้นประชาธิปัตย์ได้ 170-200 คน วันนี้เราก็ไม่มาพูดกันแล้วครับ”
ผู้ดำเนินรายการถามว่าประชาธิปัตย์เจอวิกฤตซ้ำ แถมยังมีเลือดไหลออกไปเรื่อยๆ ณ วันนี้ออกไป 18 คน ไม่รู้จะมีคนที่ 19 หรือไม่ มองอย่างไร จะเป็นคนต่อไปหรือไม่
พนิตกล่าว่า “ผมมองหน้าตัวเองในกระจกทุกวัน และถามตัวเองเสมอว่ายังอยู่กับประชาธิปัตย์ใช่ไหม ผมต้องยอมรับว่าผมยังต้องการทำงานอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ถามว่าหลายอย่างที่ผมอาจจะเห็นไม่ตรงกับผู้บริหารพรรคก็เป็นจุดยืนของผม ดังนั้นจะมีคนที่ 19, 20, 21, 22 ไหม ก็อาจจะเป็นไปได้ หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้ ขึ้นอยู่กับผู้นำของพรรคจะสามารถออกมาทำอะไรให้คนที่อยู่มั่นใจว่าพรรคยังเป็นทางเลือกและจะกลับมาเป็นพรรคใหญ่ แต่ถ้าผู้บริหารไม่สามารถที่จะสร้างความรู้สึกนี้ได้ หรือทำไม่ได้เฉพาะบางกลุ่ม มันก็แน่นอน พรรคมีบุคลากรเยอะแยะ ไม่สามารถที่จะเอาใจทุกคนได้ แต่มันมีวิธีที่จะแสดงออกถึงภาวะผู้นำที่จะทำให้ทุกคนมั่นใจได้ แม้จะมีแนวคิดทางการเมืองหรือแนวทางที่ต่างกัน
“ผู้บริหาร หัวหน้าพรรค มีความสำคัญมาก มีสไตล์การบริหาร จะถึงลูกถึงคน หรือจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ มันมีสไตล์ แล้วเราไม่โทษใครนะครับ แต่ละท่าน หัวหน้าพรรคที่ผ่านมา มีสไตล์เฉพาะคน วันนี้ท่านจุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรค ท่านก็มีสไตล์ของท่านที่ผมต้องยอมรับว่าในฐานะบุคคล ผมเคารพท่านมาก เป็นรองหัวหน้าพรรคด้วยกันครั้งที่แล้ว ท่านเป็นคนดี แต่ถามว่า ดีแล้วจะนำพาองค์กรไปได้อย่างไร อันนี้ผมก็สามารถคิดได้ แต่ท่านก็จะต้องทำให้สังคม ประชาชน และสมาชิกพรรคเห็น”
เมื่อถามว่า มีการพูดคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่
พนิตกล่าวว่า “กระแสสังคมถามเยอะ ผมก็ถูกถามมาตลอดว่า เรื่องนี้จะจบแบบนี้หรือ ออกมาแถลงข่าวแล้วจบหรือ ผมก็ตอบกลับไปบอกว่ามันไม่ได้อยู่ที่การพูด แต่อยู่ที่การกระทำ แล้วการกระทำอะไรที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถเรียกศรัทธามาได้ ณ วันนี้ยังไม่ได้ พรุ่งนี้อาจจะได้ก็ได้ถ้ามีอะไรเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ ผู้นำจะต้องกล้าทำในสิ่งที่เขาเองอาจจะไม่ชอบ ผู้นำจะต้องกล้าตัดสินใจเพื่อรักษาองค์กร แต่ ณ วันนี้ ผมในฐานะสมาชิกพรรค ให้กำลังใจและแน่นอนที่สุด สนับสนุนท่านหัวหน้าและคณะผู้บริหาร
“แต่สังคมเขาไม่ได้พูดอย่างนั้น เขาถามว่าช้าไปหรือเปล่าและเพียงพอหรือเปล่า ถ้าตัดเรื่องช้าออกไป คือถ้าช้าแล้วพอ เรื่องนี้ก็อาจจะกลายเป็นอีกมุมหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าช้าแล้วยังไม่พอ มันก็จะไปเรื่อยๆ ดังนั้นทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง หรือเป็นองค์กรอะไรก็แล้วแต่ ศรัทธาสำคัญที่สุด
“ผมมองว่าวิกฤตของประชาธิปัตย์วันนี้เหมือนธนาคารที่คนมาฝากเงิน แล้วปรากฏว่าไม่เชื่อว่าบริหารทรัพย์สินได้ดี คนมาถอนเงินหมดเลย ถอนเงินเสร็จ เขาเรียกว่า Bank Run ก็จะเกิดวิกฤต แล้ววิธีเดียวที่จะทำให้หยุดได้ก็คือ ผู้บริหารจะต้องออกมาทำมาตรการอะไรที่ชัดเจนว่าสามารถจะหยุดปัญหานี้ได้
“วันนี้ต้องยอมรับว่าเรื่องคุณปริญญ์ยังเป็นปัญหาอยู่แน่ ให้กระบวนการกฎหมายเป็นตัวตัดสิน แต่เรื่องที่สังคมยังถามอยู่คือ แล้วประชาธิปัตย์จะทำอย่างไรต่อ แน่นอนครับคลิปที่ออกมาซึ่งแย่มากในไลน์ผู้บริหาร ก็เป็นตัวกระตุ้นคูณสองเข้าไปอีก จากเรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ แล้ววันนี้กลายเป็นใหญ่มากๆ ซึ่งมันไม่ควรเกิดขึ้นครับ
“ผมเองไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบนะครับ ในฐานะสมาชิกพรรค ผมก็ต้องรับผิดชอบ รับผิดชอบด้วยการที่ทำอย่างไรให้เกิดความชัดเจน ความโปร่งใส และมั่นใจว่าเรื่องนี้จะต้องมีการแก้ไข ดังนั้นถ้าถามว่าการเปลี่ยนผู้บริหารพรรคจะเป็นทางออกไหม มันก็ต้องคิด
“รับผิดชอบ Responsibility กับ Accountability ต้องรับผิดชอบและกระทำในสิ่งที่แก้ไขปัญหา ผมจะไม่พูดว่าการลาออกของผู้บริหารคือการทิ้งปัญหาไว้ ไม่ใช่ เพราะพรรคยังอยู่ ต้องมีคนมาสานต่อ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารชุดปัจจุบันหรือชุดใหม่ แต่ทำอย่างไรให้ประชาชนมั่นใจว่า เราคือสถาบันที่ประชาชนยังให้ความไว้วางใจได้ครับ พูดแล้วก็รู้สึกเห็นใจผู้บริหาร แต่ไม่มีทางเลือกครับ ไม่มีทางเลือก” พนิตกล่าว
ชมคลิป: