×

ประชาธิปัตย์ประกาศทำสงครามฝุ่น PM2.5 พร้อมตั้ง ‘ดร.เอ้’ คุมมลพิษใจกลางเมือง

โดย THE STANDARD TEAM
13.03.2023
  • LOADING...
พรรคประชาธิปัตย์

วันนี้ (13 มีนาคม) องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบายกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ร่วมกันแถลงถึงแนวทางการประกาศสงครามกับฝุ่น PM2.5 กำหนดเขตควบคุมมลพิษใจกลางเมือง 16 เขต และการแก้ไขปัญหา เพื่อเดินหน้าจัดการจนกว่าจะได้อากาศสะอาดไว้หายใจ ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

องอาจกล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เล็งเห็นความสำคัญของปัญหา PM2.5 จึงได้พยายามหามาตรการและแนวทางต่างๆ เพื่อเข้ามาแก้ปัญหานี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้พยายามนำเสนอข้อมูลและเหตุผลในการแก้ไขปัญหา แต่พบว่าการแก้ไขปัญหายังไม่สามารถดำเนินการได้เท่าที่ควร ด้วยสาเหตุ 3 ประการ

 

ประการที่ 1 เนื่องจากผู้บริหารที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา PM2.5 ยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง เมื่อหลายปีก่อนในช่วงเริ่มต้นที่มีปัญหา PM2.5 เฉพาะในกรุงเทพมหานครเพิ่มมากขึ้น ผู้บริหารบอกว่าอีกไม่นานปัญหานี้ก็จะค่อยๆ หมดไป เป็นเรื่องที่มาตามเทศกาลช่วงปลายปีต่อเนื่องกับช่วงต้นปี สิ่งนี้ถือว่าเป็นทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง

 

ประการที่ 2 ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ยังไม่เอาจริงเอาจังเท่าที่ควรกับมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันในการแก้ไขปัญหา PM2.5 การบังคับใช้กฎหมายยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง

 

ประการที่ 3 มีวิธีการและมาตรการอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหา PM2.5 แต่พบว่าผู้บริหารที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ยังไม่ได้พยายามที่จะหามาตรการหรือแนวทางให้ทันกับการแก้ไขปัญหา PM2.5 ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

 

ด้วยเหตุนี้พรรคประชาธิปัตย์จึงได้มอบหมายให้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. ของพรรค ได้ศึกษาตามกระบวนการ ฟัง-คิด-ทำ ร่วมกับพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 นักวิชาการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง จนกระทั่งได้มีข้อสรุปในเชิงนโยบาย เพื่อกำหนดวิธีการ แนวทาง และมาตรการในการแก้ไขปัญหา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าถ้าเราได้มีโอกาสรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา PM2.5 เราจะสามารถแก้ไขปัญหา PM2.5 ได้ในที่สุด

 

ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายประกาศสงครามกับฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ประกอบด้วย

 

1. ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิรับรู้ข้อมูลและอันตรายของมลพิษทางอากาศอย่างเท่าเทียม รัฐรู้เท่าไร ประชาชนต้องรู้เท่านั้น

 

  • ต้องแสดงปริมาณฝุ่นให้ประชาชนได้รับรู้ บริเวณโรงเรียน โรงพยาบาล พื้นที่ก่อสร้าง และพื้นที่เสี่ยง เพื่อการปกป้องสุขภาพและเพื่อการควบคุมฝุ่น
  • ในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบและขอประเมินคุณภาพอากาศ
  • ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ ประเมิน และตรวจสอบ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน

 

2. เร่งออกกฎหมายอากาศสะอาด Clean Air Act จากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง โดยยึดหลักมาตรฐานสากล

 

  • กฎหมายอากาศสะอาด จะกำหนดเป้าหมายและมาตรฐานมลพิษทางอากาศอย่างเป็นธรรมต่อสุขภาพประชาชนและการพัฒนาประเทศตามหลักสุขภาพสากล
  • กฎหมายอากาศสะอาดจะเน้นการกระจายอำนาจในการควบคุม ประเมิน ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ
  • กฎหมายสะอาดจะใช้มาตรการ ‘ภาษีฝุ่นและค่าธรรมเนียม’ กับการปลอดมลพิษอย่างไร้ความรับผิดชอบของบุคคลและนิติบุคคล เพื่อนำมาใช้ในการรักษา เยียวยาปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และจะให้ประโยชน์การลดหย่อนภาษีและโบนัสแก่บุคคลและนิติบุคคลที่ช่วยป้องกันฝุ่น ลดมลพิษ
  • กฎหมายอากาศสะอาดจะส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในประเทศ รวมทั้งการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดการมลพิษทางอากาศและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด

 

3. กำหนดเขตมลพิษต่ำ Bangkok Low Emission Zone หรือ B-LEZ (บีเลส) นำร่อง 16 เขตกรุงเทพชั้นใน บริเวณเขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ดุสิต พญาไท ราชเทวี ปทุมวัน สาทร บางรัก บางคอแหลม บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี และเขตยานนาวา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 130 ตารางกิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจัง เพราะเขตกรุงเทพชั้นใน 16 เขต มีสถานศึกษามากกว่า 300 โรงเรียน และสถานพยาบาลมากกว่า 40 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นอย่างรุนแรง ด้วยการควบคุมรถขนส่งและรถสาธารณะที่ปล่อยฝุ่น รวมทั้งการก่อสร้างที่ไร้ความรับผิดชอบอย่างจริงจังในพื้นที่ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบในการแก้ปัญหามลพิษ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising