วันนี้ (3 พฤศจิกายน) ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงแนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ของสถาบันพระปกเกล้าว่า ตามที่ปรากฏแนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ มีอยู่ 2 แนวทาง ซึ่งเป็นการวางโครงสร้างที่ถือได้ว่ามีความเหมาะสม
แนวทางแรก คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ 7 หรือ 5 ฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายที่มีอำนาจตัดสินใจหรือเป็นตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี, ส.ส. รัฐบาล, ส.ส. ฝ่ายค้าน, วุฒิสภา และตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอ ถือว่าเป็นโครงสร้างที่ดี มีองค์ประกอบทุกฝ่าย เพราะหากขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมมีความไม่สมบูรณ์ในการพูดคุยเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ
ส่วนแนวทางที่สอง คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ที่ประกอบด้วยคนกลางตามที่แต่ละฝ่ายเสนอให้เป็นกรรมการ โดยการเสนอจากทุกฝ่าย หรือให้ประธานรัฐสภาไปสรรหาบุคคล หรือให้ประธานรัฐสภาตั้งประธานคณะกรรมการซึ่งจะเป็นผู้ไปคัดเลือกทาบทามบุคคลมาเป็นคณะกรรมการ ก็เป็นโครงสร้างที่ให้มีคนกลางเข้ามาเพื่อเข้ามาร่วมกันหาทางออก
ซึ่งเห็นว่าหากสถาบันพระปกเกล้าได้นำสองแนวทางนี้มาผสมผสานกัน ก็จะเกิดความลงตัวมากขึ้น เพราะหากมีฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว หากมีบุคคลที่เป็นคนกลาง มีความน่าเชื่อถือ มีประสบการณ์ เป็นบุคคลที่สังคมยอมรับ ย่อมจะส่งผลดีต่อภาพรวมของคณะกรรมการสมานฉันท์ที่จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย สัดส่วนคนกลาง หากมีการกำหนดจำนวนบุคคลให้มีจำนวนพอสมควร เพื่อให้มีกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่สังกัดอยู่ฝ่ายไหน ย่อมได้รับความเชื่อถือเพิ่มมากขึ้นจากทุกฝ่าย ก็อยู่ที่การออกแบบของสถาบันพระปกเกล้า เชื่อว่าจะออกแบบโครงสร้างอยู่บนหลักการประโยชน์ของบ้านเมือง
ราเมศกล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ไม่มีทางใดดีไปกว่าการพูดคุยทำความเข้าใจกันเพื่อหาทางออก ข้อเรียกร้องส่วนไหนที่ทุกฝ่ายรับได้และรับไม่ได้ก็ต้องมีการพูดคุยกัน เหตุผลข้อเรียกร้องก็อยากให้อยู่บนหลักการของความเป็นจริง ที่สำคัญสถานการณ์ปัจจุบันอยากให้ยึดหลักการของบ้านเมือง การเคารพกฎหมาย เพราะหากมีกฎหมายแต่เราไปละเมิด ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไม่มีทางอื่นใด นอกจากการเผชิญหน้ากับกฎหมายบ้านเมืองซึ่งไม่เป็นผลดี
เมื่อโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์เสร็จแล้ว ก็อยากเรียกร้องทุกฝ่ายเข้าร่วม เพื่อมาแสวงหาทางออกให้กับบ้านเมือง ถ้ารักบ้านเมือง สิ่งไหนที่จะเกิดประโยชน์กับบ้านเมือง เชื่อว่าทุกคนจะร่วมมือกัน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล