วันนี้ (29 สิงหาคม) เวลา 19.30 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคประชาธิปัตย์ และ สส. เพื่อพิจารณายืนยันมติของกรรมการบริหารพรรค ที่มีมติเอกฉันท์มาก่อนหน้านี้ว่าให้ร่วมรัฐบาล พร้อมเสนอชื่อ เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค ให้เป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตามโควตาที่เพื่อไทยจัดให้
ทั้งนี้ ตลอดการพิจารณามีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ฝ่ายสนับสนุนต่างเชื่อว่าการเข้าร่วมเป็นไปเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อ และเป็นการเร่งสร้างผลงานกอบกู้พรรค และเชื่อว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้พรรคฟื้นขึ้นได้
ขณะที่ฝ่ายคัดค้านให้เหตุผลว่า พรรคได้ต่อสู้กับระบอบทักษิณที่มีการเลือกปฏิบัติ แบ่งแยกประชาชน มีการทุจริตคอร์รัปชัน เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องและกลุ่ม พร้อมสร้างความเสียหายให้ประเทศถึงขั้นต้องหนีออกนอกประเทศ และปัจจุบันระบอบนี้ก็ยังอยู่ ซึ่งการจะเข้าร่วมถือเป็นการละทิ้งอุดมการณ์ของพรรค อีกทั้งยังเป็นการละเลยฐานเสียงสนับสนุนพรรค โดยจะทำให้ฐานเสียงผู้สนับสนุนพรรคน้อยลง เสมือนทำการเมืองแบบไม่รับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมร่วมที่ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง เฉลิมชัยจึงได้ขอให้ที่ประชุมมีมติว่าจะรับรองมติของกรรมการบริหารพรรคในการเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่
ผลปรากฏว่า ที่ประชุมร่วมมีมติ 43 เสียง ให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และเสนอบุคคลทั้ง 2 ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลต่อไป
สำหรับเสียงที่ไม่เห็นด้วยมีจำนวน 4 เสียง ประกอบด้วย ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, สรรเพชญ บุญญามณี และมีผู้งดออกเสียง 2 เสียง
ต่อมาเฉลิมชัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยเดชอิศม์ เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค แถลงข่าวภายหลังที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคมีมติร่วมรัฐบาลว่า พรรคประชาธิปัตย์เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารและประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคและ สส. ตามข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ข้อ 94 จะต้องนำหนังสือเชิญร่วมรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา เข้าสู่การประชุมกรรมการบริหารและการประชุมร่วม สส. เพื่อมีมติในการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาล
ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาล ในส่วนกรรมการบริหารพรรคมีมติเอกฉันท์ ส่วนการประชุมร่วมระหว่าง สส. และกรรมการบริหารพรรค มีมติให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลเช่นกัน โดยจากนี้จะทำหนังสือไปถึงพรรคเพื่อไทยเพื่อให้ทราบถึงมติ และพูดคุยเรื่องการทำงานต่อไปในวันข้างหน้า
จากการพูดคุยเบื้องต้นพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการจัดสรรสองเก้าอี้รัฐมนตรี 2 เก้าอี้ ที่ประชุมจึงมีมติให้เฉลิมชัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนเดชอิศม์เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
เฉลิมชัยกล่าวย้ำว่า มั่นใจว่าการกระทำหรือการดำเนินกิจกรรมทุกประการของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการตามข้อบังคับทุกประการ วันนี้รับฟังความคิดเห็นหลากหลายจากทุกกลุ่มคนในพรรค เป็นการพูดคุยด้วยเหตุผล ซึ่งจะนำไปเป็นแนวทางและข้อคิดไปปฏิบัติในวันข้างหน้า
ส่วนผลที่จะตามมาหลังเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย พรรคพูดคุยทุกมิติตั้งแต่ผู้ใหญ่ กรรมการบริหารพรรค ตัวแทนจังหวัด สส. เก่าและใหม่ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนหลากหลายแนวทาง สุดท้ายทุกคนเคารพการลงมติของพรรค เชื่อมั่นว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีวินัย วันนี้มีความเห็นต่างได้ แต่เมื่อทุกอย่างจบลงด้วยมติพรรคทุกคนก็พร้อมปฏิบัติตาม
ขณะที่ความกังวลเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการการเมือง อยู่ที่คณะกรรมการตรวจสอบ พวกเราเชื่อมั่นในตัวพวกเรา นายกรัฐมนตรีคงตรวจสอบ เพราะมีผลโดยตรงต่อท่านเอง ขอให้เป็นหน้าที่ของคนมีอำนาจตรวจสอบ และยังไม่ได้วางตัวสำรองไว้ เพราะยังไม่ได้ถึงขั้นนั้น
เฉลิมชัยกล่าวทิ้งท้ายว่าในการเข้าร่วมประชุมวันนี้มีความเห็นหลากหลาย มีการพูดถึงการร่วมรัฐบาล ซึ่งจะต้องพูดคุยกับพรรคแกนนำในการนำจุดยืนและนโยบายพรรคประชาธิปัตย์เพื่อพิจารณา ทั้งการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่เป็นจุดยืนหลักของพรรคประชาธิปัตย์ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลครั้งที่แล้ว จะต้องไม่เกิดขึ้นใน ครม. ชุดนี้ด้วย การกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่อยากเห็นท้องถิ่นพัฒนา และปัญหาที่ดินทำกิน พร้อมกับราคาสินค้าเกษตร โดยจะต้องพูดคุยกับแกนนำบรรจุเรื่องเหล่านี้ไว้ในการแถลงนโยบาย
กลุ่มเสียงข้างน้อยว่าอย่างไร
ชวน หลีกภัย สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเสียงข้างน้อย กล่าวกับสื่อกับสื่อมวลชนสั้นๆ ว่า ในที่ประชุมมีการให้แสดงความเห็น ก็เป็นอย่างที่รู้กันอยู่ ซึ่งตนและอีก 3 คนได้แลกเปลี่ยนความเห็นของทั้ง 2 ฝ่าย
ด้าน บัญญัติ บรรทัดฐาน สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับว่ามีความหนักใจทางการเมือง วันนี้ถกเถียงกันมากเป็นเรื่องปกติ มีทั้งคนที่เห็นด้วยและเห็นต่าง แต่สุดท้ายก็ต้องเคารพมติที่ออกมา
ส่วนบทบาทการทำหน้าที่ สส. ในสภา ยอมรับว่าเมื่อร่วมรัฐบาลแล้วเราก็ต้องอยู่ในรัฐบาล เพียงแต่ว่าถ้ารัฐบาลทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควรเราก็ต้องทักท้วง เพราะการตรวจสอบคนพรรคประชาธิปัตย์ทำกันอยู่แล้ว แต่มันคงไม่เข้มข้นเหมือนทำหน้าที่ฝ่ายค้าน วันนี้ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะฝากไปยังรัฐมนตรีทั้ง 2 คน เพื่อให้นำนโยบายของรัฐไปหารือกับพรรคแกนนำ เช่น เรื่องการกระจายอำนาจ และการประกันรายได้ ว่าเวลากำหนดนโยบายให้คิดถึงนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย
ส่วน สรรเพชญ บุญญามณี สส. สงขลา กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคุยกันฉันพี่น้อง จนเป็นมติพรรคออกมา พร้อมมองว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่ได้ก็ด้วยมติพรรค เนื่องจากเป็นสถาบันทางการเมือง วันนี้ถือว่าทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และใครมีอะไรในใจก็ได้พูดออกมา
“ในฐานะที่เราเป็นครอบครัวพรรคประชาธิปัตย์ แต่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ผิดถูกอย่างไร เชื่อว่าประชาชนจะเป็นคนตัดสินในอนาคต แต่สำคัญที่สุดคือไม่มีใครผิดหรือถูก ซึ่งทุกคนอยากเห็นพรรคไปข้างหน้าและมีเอกภาพ ดังนั้นการได้แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา จึงได้มีการลงมติและเห็นชอบว่าจะเข้าร่วมรัฐบาล”
สรรเพชญกล่าวว่าเป็นการรักษาจุดยืนของพรรคและรักษาเกียรติภูมิ ศักดิ์ศรี และสัจจะจุดยืนของพรรคที่เคยให้กับประชาชน ซึ่งวันนี้ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และไม่ได้เป็นเรื่องของความขัดแย้งหรือสู้รบกับใคร แต่เป็นการต่อสู้กันทางความคิดและอุดมการณ์ เป็นเรื่องของผิดและถูก สิ่งไหนถูกก็ว่าถูก สิ่งไหนผิดจะว่าถูกไม่ได้ วันหนึ่งเคยพูดไว้อย่างหนึ่ง
“วันนี้ก็คงจะกลับไปในพื้นที่และมองหน้าประชาชนที่เลือกตนเองมาไม่ได้ คือสิ่งที่ตัวเองได้เรียนไป แต่สุดท้ายก็จบแล้ว และเป็นไปตามมติของพรรค จะชอบหรือไม่ชอบก็ถือว่าเป็นมติที่ตัวแทนของประชาชน ได้เลือกทางที่คิดว่าเหมาะสมที่จะเข้าร่วมรัฐบาล และเป็นไปตามคณะกรรมการบริหารพรรค”
ส่วนจะทำงานยากในพื้นที่หรือไม่หลังจากนี้ สรรเพชญกล่าวว่า ถ้าในแง่ของการทำหน้าที่ สส. และนิติบัญญัติ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาก็ได้ทำหน้าที่มาโดยตลอด และได้ทำหน้าที่อย่างหนัก พร้อมผลักดันโครงการและกฎหมายที่คิดว่ามีประโยชน์และส่งผลดีกับประชาชน และในพื้นที่ก็พยายามผลักดันโครงการต่างๆ ที่จะสามารถทำได้ในขอบเขตของ สส. ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของกรรมการบริหารพรรคที่จะได้ชี้แจงรายละเอียดต่อไป
“ดีใจที่เรื่องนี้จบได้เสียที จะได้ไม่ต้องคาราคาซังกัน จะได้ชัดเจน หมดคำว่าเป็นพรรคอะไหล่แล้ว”