ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ ส.ส. รวมกันเพียง 52 คน ส่งผลให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องประกาศลาออกเพื่อรักษาสัจจะวาจา หลังครองตำแหน่งหัวหน้าพรรคสีฟ้ามาเกือบ 14 ปี
วันนี้ (15 พ.ค.) มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงหัวหน้าพรรค 4 คน
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค
กรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้าพรรค
อภิรักษ์ โกษะโยธิน รักษาการรองหัวหน้าพรรค
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส. บัญชีรายชื่อ
โดยทั้ง 4 คน แสดงวิสัยทัศน์คนละ 15 นาที
‘อภิรักษ์’ ชูสโลแกน เลือกอภิรักษ์พรรคเปลี่ยน
อภิรักษ์ โกษะโยธิน รักษาการรองหัวหน้าพรรค แสดงวิสัยทัศน์ชูใช้เทคโนโลยีประสานเชื่อมโยงเก็บข้อมูลประชาชนที่อาจมีความรู้ความคิดทางการเมืองที่เปลี่ยนไป รวมถึงใช้เชื่อมโยงสมาชิกพรรคและสาขาพรรค
อภิรักษ์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่มีความสำคัญคือก้าวต่อไปของพรรค คือเป็นพรรรคของคนไทยทั้งประเทศ และผลักดันให้ไทยก้าวไปข้างหน้า
ส่วนการกลับมาชนะเลือกตั้งพรรคต้องมีจุดยืนชัดเจน นโยบายโดนใจ และเจาะคนทุกกลุ่ม เปลี่ยนประชาธิปัตย์ให้กลับมาครองใจประชาชนเหมือนเดิม
“เลือกอภิรักษ์พรรคเปลี่ยน” อภิรักษ์กล่าว
‘จุรินทร์’ เต็งหนึ่ง ชูให้โอกาสทุกคน ไม่สนว่าเป็นเด็กใคร
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ในช่วงต้น กล่าวถึงประวัติและผลงานในอดีตใต้ร่มเงาของประชาธิปัตย์
โดยร่วมอุดมการณ์กับประชาธิปัตย์มาอย่างน้อย 33 ปี นับจาก พ.ศ. 2529 ตอนเป็น ส.ส. ครั้งแรก
เคยเป็นเลขาฯ ชวน หลีกภัย สมัยเป็นรัฐมนตรี และรองนายกฯ ในช่วงปี 2531 ก้าวเป็นรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ครั้งแรกอายุ 36 อยู่ในทีมเศรษฐกิจของนายกฯ ชวน
สมัยรัฐบาลชวน 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ดูและท่องเที่ยว กีฬา
และทำหน้าที่วิปรัฐบาลในยุครัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มีเสียงเหนือฝ่ายค้าน 18 เสียง จนกระทั่งอยู่จนเกือบครบเทอม ขาดเพียงสัปดาห์เดียว เพราะนายกฯ ชวนไปประกาศก่อนว่าจะไม่อยู่ครบเทอม
จุรินทร์กล่าวต่อว่า ที่พูดมาไม่ได้อวดว่าเก่งหรือดี แต่ผมมีโอกาส ซึ่งทำให้ตระหนักดีว่าโอกาสเป็นสิ่งสำคัญ
ถ้าได้เป็นหัวหน้าพรรค จะยิบยื่นโอกาสให้ทุกคนที่ทำงานหนักเพื่อพรรค โดยไม่จำเป็นว่าท่านจะอยู่ฝ่ายไหน หรือเป็นเด็กของใคร
ถ้าเลือกตน ‘ประชาธิปัตย์’ ต้องเปลี่ยน แต่เปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ
อะไรดีต้องรักษา อะไรไม่ดีต้องเปลี่ยน
อุดมการณ์ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องไม่เปลี่ยน
อุดมการณ์การทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ต้องไม่เปลี่ยน
แต่นโยบาย วิสัยทัศน์ ต้องเปลี่ยน
และระบบบริหารจัดการต้องเปลี่ยน ระบบ Big Data และ AI ต้องถูกนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจทั้งในทางบริหารและการเมือง
“หมดยุคซูเปอร์แมนแล้ว ยุคต่อไปต้องเป็นยุคของ Avenger ซูเปอร์ฮีโร่ของพรรคต้องมาร่วมมือกัน จับมือกันเป็น Avenger คุณกรณ์ คุณอภิรักษ์ และคุณพีระพันธุ์ จะเป็นซูเปอร์ฮีโร่หนึ่งในทีม Avenger นี้” จุรินทร์กล่าว
จุรินทร์กล่าวด้วยว่า แต่แค่นี้ไม่พอ เพราะประชาธิปัตย์ต้องมีความเป็นเอกภาพภายใต้การร่วมมือ
“ผมพร้อมจับมือกับทุกคนที่มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อพรรค ทั้งรวมกันเป็นหนึ่งและพาพรรคประชาธิปัตย์ไปเป็นที่หนึ่งในใจประชาชนในอนาคต” จุรินทร์กล่าว
‘พีระพันธุ์’ ประกาศนำพรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่ขอรับตำแหน่ง
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส. บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า เราต้องปรับปรุงพรรคในเรื่องการบริหารจัดการพรรค ที่ผ่านมาไม่ใช่ไม่ดี พรรคเราผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน แต่รูปแบบการบริหารจัดการพรรคเราไม่ได้เปลี่ยนเลย
สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือการเปิดโอกาสให้เพื่อนๆ เข้ามาทำงาน โดยจะไม่รวบอำนาจไว้ที่หัวหน้าพรรค และเลขาฯ พรรค แต่เราจะเดินไปด้วยกันข้างหน้า
พีระพันธุ์กล่าวด้วยว่า ถ้าตนเป็นหัวหน้าพรรคแล้วร่วมรัฐบาล ยืนยันว่าตนไม่รับตำแหน่งบริหารในรัฐบาลเด็ดขาดเพื่อพิสูจน์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยวิ่งเต้นเพื่อตำแหน่ง และพิสูจน์ให้เห็นว่าคนในพรรคประชาธิปัตย์มีคนที่มีความสามารถมากมาย
นอกจากนี้ยังเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องกลับมาคิดแบบชาวบ้าน พูดแบบชาวบ้าน พูดสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ
‘กรณ์’ บอกเป็นนัย โดดร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ
กรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้าพรรค กล่าวว่า เป้าหมายคือเราต้องทำให้พรรคกลับมาเป็นทางเลือกหลักของประชาชนและชนะเลือกตั้ง
จากนี้ไปนอกจากทำงานหนัก เราต้องมีความชัดเจนในเป้าหมายที่ประชาชนสัมผัสได้ สื่อให้ประชาชนเห็นว่าเลือกประชาธิปัตย์แล้วได้อะไร บนหลักการ 3 ข้อ คือ
อันดับแรก ทุกๆ อย่างที่เราคิด พูด ทำ ต้องทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิต
อันดับสอง ต้องทำให้ประเทศพัฒนา แข่งขันได้
และอันดับสามในทุกคำพูด พุ่งเป้าไปที่สังคมไทยมีความสงบ และสถาบันหลักมีความมั่นคง
ตราบใดที่เรายึดเป้าหมายหลัก 3 ข้อที่กล่าวไว้ เรามั่นใจว่าสุดท้ายประชาชนจะยอมรับและสนับสนุนการตัดสินใจของประชาธิปัตย์
นอกจากนี้ กรณ์ยังเสนอให้ปฏิรูปการสื่อสารของพรรค โดยมีฝ่ายดูแลเรื่องการสื่อสารโดยเฉพาะ และมีวินัยในการวิเคราะห์กำหนดท่าที รวมมีวินัยในการกำหนดประเด็น ไม่ใช่ว่าเปิดห้องแถลงข่าวให้ใครจะพูดอะไรก็ได้
สำหรับเสียงที่ใช้โหวตจาก 19 กลุ่ม 308 คน ไม่เท่ากัน โดยเสียงที่จะมีค่าน้ำหนักมากที่สุดคือเสียงของ ส.ส. 52 คน จะมีค่าน้ำหนักคะแนนมากถึง 70% เท่ากับว่า ส.ส. 1 คน จะมีน้ำหนักคะแนน 1.346 คะแนน ขณะที่อีก 256 คน จาก 18 กลุ่ม เช่น กรรมการบริหารพรรคชุดเดิม อดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรค อดีตเลขาธิการพรรค กลุ่มผู้บริหารท้องถิ่น กลุ่มหัวหน้าสาขาพรรค หรือตัวแทนจังหวัด รวมกันมีค่าน้ำหนักเพียง 30% หรือ 0.117 คะแนน หรือ 12 คน จะเท่ากับคะแนน ส.ส. 1 คน
ทั้งนี้ในช่วงบ่ายวันนี้จะทราบชัดเจนว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป และคาดว่าในวันเดียวกันนี้จะมีการประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และ ส.ส. ชุดปัจจุบัน เพื่อตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐหรือไม่
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า