วันนี้ (22 พฤศจิกายน) พรรคประชาธิปัตย์ จัดงาน ‘ฟัง-คิด-ทำ’ นวัตกรรมเปลี่ยนกรุงเทพฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนและนำไปเป็นนโยบายกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าของพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค, เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค, วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง และ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม.
สุชัชวีร์กล่าวขอบคุณคนกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยลืมตนเอง ไม่เคยลืมประชาธิปัตย์ ถึงแม้ว่าตนจะไม่ได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ไม่เคยลืม และยังคงยึดมั่นอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมั่นใจว่าต่อจากนี้ไปจะเป็นโอกาสของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะเป็นตัวแทนของประชาชน พร้อมยอมรับว่าหลังจากนี้ไปเป็นงานที่ยากและท้าทาย เพราะโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน เศรษฐกิจเปลี่ยน ความคิดของคนก็เปลี่ยน
การฟัง คิด ทำ เป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำมาอย่างต่อเนื่อง และต่อจากนี้จะเป็นการเดินทางของตนและพรรคอีกครั้งหนึ่งเพื่อลงพื้นที่รับฟังประชาชน นำมากลั่นกรองเป็นนโยบาย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคแห่งคำถาม และมักจะถามอยู่เสมอว่านโยบายสามารถทำได้จริงหรือไม่
ดังนั้นจากนี้จะระดมความคิดมันสมองที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนคนกรุงเทพฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟัง คิด ทำ เพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯ ไปด้วยกัน
ด้านวทันยากล่าวว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ตั้งแต่ลาออกจากการเป็น ส.ส. ในสภา และตัดสินใจมาเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แม้ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์จะมีคำถามเรื่องความนิยม และมักถูกมองว่าเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม แต่สิ่งที่ตนสัมผัสได้คือความเป็นสถาบันการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะพูดเอง แต่เป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์เติบโตขึ้นมาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านคลื่นลมทางการเมือง ก็เหมือนชีวิตของคนที่มีขึ้นมีลงเป็นเรื่องธรรมดา และ 76 ปีของพรรคประชาธิปัตย์ บ่งบอกว่าความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองย่อมอยู่เหนือตัวบุคคล
และเหตุผลของการมาสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์นั้น เพราะต้องการใช้เวลาลงไปรับฟัง พุดคุยกับประชาชนอย่างจริงจังว่าเขาต้องการอะไร ก่อนที่จะนำมาผลักดันเป็นนโยบาย เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นแต่นักการเมืองบอกว่าอยากทำอะไร แต่แทบไม่มีใครถามว่าประชาชนอยากได้อะไร ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความเห็น สะท้อนปัญหา หรือบอกความต้องการ
วทันยากล่าวต่อไปว่า ข้อมูล Social Listen พบว่าประชาชนกำลังเผชิญกับปัญหาปากท้องและต้องการให้มีการแก้ไขเป็นอันดับแรก และยังมีปัญหาน้ำท่วม การจราจร การพนัน และยาเสพติด ที่อยู่คู่คนกรุงเทพฯ มาช้านาน จนต้องหาทางปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอดด้วยตัวเอง เพราะปัญหามันไม่เคยถูกรับฟังจากคนในพื้นที่และมีการแก้ไขอย่างตรงจุด และยิ่งไปกว่านี้ เมื่อสัปดาห์ก่อนมีข่าวคุณหมอที่ยังหนุ่ม ใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะ แต่กำลังจะเสียชีวิตจากมะเร็งปอดเพราะมลพิษที่เราทุกคนกำลังสูดกันอยู่ หลายประเทศเขาประกาศเลยว่าอากาศสะอาดคือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน แต่วันนี้นอกจากเราจะไม่มีสิทธินี้แล้ว เรายังได้โรคร้ายจากสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษมาแทนอีกด้วย
วทันยายังกล่าวถึงกรณีที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง เพราะต้องการให้เสียงของพวกเขาดังมากพอที่จะมีใครได้ยิน ที่ผ่านมาพรรคการเมืองและนักการเมืองมักจะมีนโยบายที่เสนอให้กับประชาชน แต่กลับไม่เคยถามว่าประชาชนต้องการอะไร ซึ่งนี่เป็นที่มาของนโยบาย ฟัง คิด ทำ เพื่อการรับฝากเสียงจากเจ้าของปัญหาเพื่อนำมาเป็นนโยบาย แก้ไขอย่างตรงจุด เนื่องจากการฟังจะช่วยลดความขัดแย้งในสังคม ลดความขัดแย้งระหว่างช่วงวัย เพราะทุกความเห็นต่างจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงและทางออกใหม่ๆ แต่ไม่ใช่ความเห็นต่างที่ไม่มีผู้ฟังและทำให้ประเทศเสียโอกาส
ด้านเฉลิมชัยกล่าวว่า ไม่อยากให้มองเพียงพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ 76 ปี แต่อยากให้ประชาชนมองพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เป็นความหวังของประชาชน ซึ่งจากที่ตนเป็นเลขาธิการพรรคเมื่อปี 2554 กับปัจจุบันพรรคมีการเปลี่ยนแปลง เป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ พร้อมเล่าถึงการพูดคุยกับเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ว่าขอให้ฟังสิ่งที่ประชาธิปัตย์เป็นกับสิ่งที่คิด ประชาธิปัตย์ต้องกล้าเปลี่ยนแปลงจึงจะกลับมาเป็นสถาบันการเมืองที่ภาคภูมิ ไม่ใช่นำความเก่าแก่มาเป็นตัวตั้ง และสื่อให้ประชาชนให้โอกาสพรรค ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะต้องคู่กับโอกาสของทุกคนในพรรคและนอกพรรค และประชาชนต้องมีความคาดหวังกับพรรคประชาธิปัตย์ และวันนี้สิ่งที่ยังอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์คือความซื่อสัตย์สุจริต ที่ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารต้องยึดถือ แต่ถ้าพรรคไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าอีก 100 ปีก็ไม่มีคุณค่า จึงขอโอกาสเด็กรุ่นใหม่ให้โอกาสพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนแปลง และขอให้มั่นใจพรรคประชาธิปัตย์คบหาได้ เดินไปด้วยกันโดยไม่ต้องกลัวโดนเสียบหลัง เพราะตนเป็นนักเลงพอ และตนพร้อมที่จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่พรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประเทศ
ขณะที่จุรินทร์กล่าวย้ำว่า วันนี้ถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยน แต่เปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ อะไรดีพรรคประชาธิปัตย์ต้องรักษาไว้ อะไรที่ไม่ดีต้องเปลี่ยน โดยเฉพาะอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ 3 ข้อจะต้องไม่เปลี่ยน คือ
- อุดมการณ์ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- อุดมการณ์ที่จะทำหน้าที่เพื่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศและส่วนรวม ไม่ใช่ส่วนตัว
- อุดมการณ์แห่งความซื่อสัตย์สุจริตที่พรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีวันเปลี่ยน
ซึ่งเป็นที่มาว่าทำไมวันนี้พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องเป็นอุดมการณ์ ประชาธิปัตย์ทันสมัย เพราะประชาธิปัตย์ต้องการให้ทันโลก และความคิดความเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องเดินหน้าต่อไป
วันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง อีกก้าวที่เดินไปสู่ความทันสมัย ในการจัดงาน ฟัง คิด ทำ โดยคนรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์
ซึ่งนโยบายทุกยุคทุกสมัยของพรรคประชาธิปัตย์เกิดจากการฟัง คิด และนำไปทำ จึงอยู่ยืนยงมา 76 ปี หากคิดทำไม่เป็นจะอยู่มาได้อย่างไรถึงทุกวันนี้ แต่หัวใจสำคัญที่สุดก็คือการฟัง คิด ทำ เท่านี้ไม่เพียงพอ วันนี้ต้องคิดเพิ่มและทำเพิ่มต่อไป
จุรินทร์กล่าวย้ำว่าวันนี้โลกเปลี่ยน ปัญหาเปลี่ยน และความท้าทายเปลี่ยน หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เปลี่ยน ไม่มีวันตามโลกทัน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งมิติทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และมิติด้านการสื่อสาร และความขัดแย้งถือเป็นความสำคัญที่ท้าทายข้อแรกที่ผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารประเทศต้องเผชิญและแก้ปัญหา
ดังนั้นการฟัง คิด ทำ ประชาธิปัตย์ยุคใหม่ จึงเกิดขึ้น เพื่อเตรียมการไว้สำหรับรองรับสถานการณ์ท้าทายสำหรับประเทศในอนาคต พร้อมมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่มาแล้ว 76 ปี วันนี้จะนำพรรคประชาธิปัตย์ไปสู่ความเป็นสถาบันที่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติต่อไป