×

3 พรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา ยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 8 ร่าง ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกตั้งบัตร 2 ใบ

โดย THE STANDARD TEAM
16.06.2021
  • LOADING...
แก้รัฐธรรมนูญ

วันนี้ (16 มิถุนายน) เมื่อเวลา 16.00 น. ชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย ศุภชัย ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย และ นิกร จำนง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคชาติไทยพัฒนา เข้ายื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจำนวน 8 ร่าง แก่ ชวน หลีกภัยประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา

 

ชินวรณ์กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มีมติที่จะยื่นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจำนวน 6 ร่าง ประกอบด้วยการขอแก้ไขเรื่อง

 

  • สิทธิ เสรีภาพ, กระบวนการยุติธรรม, การคุ้มครองผู้บริโภค และสิทธิเรื่องที่ดินและทรัพยากร 

 

  • ระบบเลือกตั้ง เสนอให้ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ คือแบ่งเขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน 

 

  • การเลือกนายกรัฐมนตรี เสนอให้เลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง หรือสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจาก ส.ส. ได้ ให้มีการยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

 

  • การแก้มาตรา 256 โดยเป็นการแก้ไขคะแนนเสียงในการโหวตตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยไม่ให้เสียงข้างน้อยมีอิทธิพลต่อเสียงข้างมาก เช่น ที่ผ่านมาหากจะตั้ง สสร. ต้องใช้คะแนนเสียง 1 ใน 3 ของ ส.ว. ในวาระที่หนึ่ง และใช้คะแนนเสียงร้อยละ 20 ของฝ่ายค้านในการโหวตในวาระที่สาม ซึ่งหากการใช้คะแนนเสียงข้างต้นถือเป็นการใช้คะแนนเสียงที่ไม่เป็นไปตามกลไกการปกครองโดยการใช้เสียงข้างมาก

 

  • แก้ไขเรื่องการส่งเสริมประสิทธิภาพของประชาชน เพื่อให้การตรวจสอบและการส่งเสริมความโปร่งใสเป็นเรื่องที่มีกระบวนการโดยปราศจากข้อสงสัยในการความเป็นกลาง และมีความโปร่งใสอย่างแท้จริง

 

  • การแก้ไขเรื่องการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพรรคประชาธิปัตย์เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้น การปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นจึงควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องของกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น

 

ด้านศุภชัยกล่าวถึงร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคภูมิใจไทย มีด้วยกัน 2 ร่าง ประกอบด้วยการขอแก้ไขเรื่อง 

 

  • การกำหนดหน้าที่ให้รัฐเข้ามามีหน้าที่ดูแลประชาชนในเรื่องของหลักประกันรายได้ถ้วนหน้า คือการให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน คือประชาชนที่มีรายได้ที่ต่ำกว่า 2,700 บาท ซึ่งเห็นว่าภาครัฐควรที่จะเข้ามาดูแลเพื่อให้ประชาชนมีรายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 36,000 บาท

 

  • การขอแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเห็นว่าการกำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน จึงขอแก้ไขให้ยุทธศาสตร์ชาติสามารถปรับเปลี่ยนระยะเวลาได้ตามสถานการณ์

 

ด้านนิกรกล่าวว่า ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนาที่ไม่ยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นร่างตนเองนั้น เนื่องจากพรรคชาติไทยพัฒนามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 12 คน ซึ่งต้องตัดออกจำนวน 2 คน เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี 

 

อย่างไรก็ตาม ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า จะนำร่างขอแก้ไขเพิ่มเติมของ 3 พรรคร่วมรัฐบาลครั้งนี้ส่งต่อไปยังฝ่ายกฎหมาย เพื่อพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องในการลงรายชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 1 ใน 5 หรือไม่ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อที่จะนำไปบรรจุในระเบียบวาระการประชุมร่วมกับญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมร่วมฝ่ายค้าน ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X