×

เส้นทางประชาธิปไตยเกาหลีใต้: การมีส่วนร่วม การประท้วง และการเปลี่ยนผ่าน

11.12.2024
  • LOADING...
เส้นทางประชาธิปไตยเกาหลีใต้: การมีส่วนร่วม การประท้วง และการเปลี่ยนผ่าน

การประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุนมีเวลายาวนานเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ผลสืบเนื่องสำหรับอนาคตทางการเมืองของเขาและการแตกแยกทางการเมืองของประเทศจะดำเนินต่อไปยาวนานกว่านั้นมาก

 

ชุงมินอี, อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

December 5, 2024

 

โหมโรง

 

อยากจะขอเริ่มบทความนี้ด้วยมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนสักหน่อย ในช่วงที่ผมเริ่มเรียนปริญญาเอกทางด้านรัฐศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกานั้น แนวคิดหรือจะเรียกว่าเป็นทฤษฎีก็แล้วแต่ชุดหนึ่งได้เกิดขึ้นในวงการศึกษา ‘การเมืองเปรียบเทียบ’ (Comparative Politics) คือการศึกษาเรื่องของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง (Political Transition) ที่มีนัยถึงการพาระบอบการเมือง (Regime) ที่เคยอยู่ในระบอบเผด็จการไปสู่การสร้างความเป็นเสรีนิยม (Liberalization) หรือเดินหน้าสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตย (Democratization)

 

ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในความหมายทางทฤษฎีจึงหมายถึงการพาระบอบการเมืองจากการปกครองแบบเผด็จการไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย (Transition from Authoritarian Rule to Democracy) ซึ่งการสร้างทฤษฎีเช่นนี้วางอยู่บนรากฐานของการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 สู่ต้นทศวรรษที่ 1980 ของศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าจะเห็นถึงการสิ้นสุดของระบอบอำนาจนิยมทั้งในยุโรปใต้และลาตินอเมริกา โดยเฉพาะปรากฏการณ์ที่เห็นชัดคือการล่มสลายของระบอบการปกครองของทหารในลาตินอเมริกาในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 และการสิ้นสุดของระบอบทหารในภูมิภาคอื่นที่ไม่แตกต่างกัน

 

ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1990 แทบไม่น่าเชื่อว่าเราจะเห็นถึงการล้มลงของระบอบการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งในสหภาพโซเวียตและในยุโรปตะวันออก

 

เช่นเดียวกัน การเมืองในเอเชียก็ก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไทย (ขณะนั้น) หรือต่อมาก็เห็นถึงการสิ้นสุดของระบอบทหารในอินโดนีเซีย และอาจเหลือมรดกใหญ่ของระบอบอำนาจนิยมในเอเชียก็คงเป็นรัฐบาลทหารเมียนมา

 

ในอีกด้านหนึ่ง เราคงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงระบอบการปกครองในจีนหรือเกาหลีเหนือ เพราะระบอบการเมืองใน 2 ประเทศดังกล่าวอยู่เกินจินตนาการของทฤษฎีรัฐศาสตร์ และมีความเป็น ‘รัฐอำนาจนิยม’ เต็มรูปอย่างชัดเจน จนการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียง ‘การเปลี่ยนผู้นำ’ ที่ไม่มีนัยต่อระบอบ

 

ดังนั้นคงไม่แปลกอะไรเลยที่ภาวะของการเปลี่ยนผ่านที่เกิดจนเป็นกระแสโลกนับจากช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาจะกลายเป็น ‘ความฝันใหญ่’ ของนักเรียนรัฐศาสตร์อย่างพวกผมที่เรียนในยุคนั้นว่า โลกกำลังก้าวสู่ ‘การปฏิวัติประชาธิปไตย’ (The Democratic Revolution) ในยุคของเราแล้ว อันส่งผลให้ ซามูเอล ฮันติงตัน นักวิชาการรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันถึงกับเรียกปรากฏการณ์ชุดนี้ว่า ‘คลื่นประชาธิปไตยลูกที่ 3’ (The Third Wave of Democracy) ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่กระนั้นเขาก็เตือนเสมอถึงความเปราะบางในสภาวะเช่นนี้

 

ในฐานะของการเป็นนักเรียนรัฐศาสตร์ ผมเองก็ฝันที่จะเห็นถึงบ้านตัวเอง อยากเห็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดขึ้นในไทยมีความเข้มแข็งอย่างที่เกิดในหลายประเทศ เพราะอย่างน้อยการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้เป็นสิ่งที่ชวนให้เรามีความฝันเช่นนั้น เนื่องจากรัฐประหารที่เป็นต้นทางของระบอบอำนาจนิยมทั้งในไทยและเกาหลีใต้เกิดขึ้นในช่วงระนาบเวลาที่ไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ ทั้งไทยและเกาหลีใต้ล้วนมีประสบการณ์ภายใต้ ‘ระบอบทหาร’ ไม่แตกต่างกัน และระบอบทหารในเกาหลีใต้มีความต่อเนื่องอย่างมากด้วย

 

การเมืองเกาหลีใต้อยู่กับรัฐบาลทหารจากปี 1961-1987 และไม่มีรัฐประหารและกฎอัยการศึกอีกเลยเป็นเวลานานถึง 37 ปี (จากปี 1987-2024) จนถึงความพยายามที่จะประกาศใช้ในยุคปัจจุบัน แต่การเมืองของไทยอยู่กับระบอบทหารเป็นช่วงๆ และเป็นการอยู่แบบไม่จบ

 

การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้จึงสามารถเป็นข้อคิดสำหรับการเปลี่ยนผ่านในไทยได้เสมอ อีกทั้งในฐานะของความเป็นนักเรียนรัฐศาสตร์แล้วยังจำได้จนถึงวันนี้ว่า วันที่สอบปิดเล่มวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกนั้น ผมถูกอาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกในวงการ ‘เอเชียศึกษา’ ของสหรัฐอเมริกาถามว่า กองทัพไทยจะมีโอกาสเป็นอย่างกองทัพเกาหลีใต้ในกระบวนการสร้าง ‘ทหารอาชีพ’ (Professional Soldiers) หรือไม่? ผมคงไม่ต้องตอบในที่นี้นะครับ (555!)

 

ประชาธิปไตยแบบเปลี่ยนผ่าน

 

บทความนี้อาจขอเริ่มต้นด้วยข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้มีความยุ่งยากและความซับซ้อนอยู่พอสมควร เนื่องจากการเมืองเกาหลีใต้ส่วนหนึ่งนั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขของระบอบอาณานิคมญี่ปุ่นและสงครามโลกครั้งที่ 2 ฉะนั้นเมื่อสงครามโลกยุติลง สิ่งที่ตามมาอย่างมีนัยสำคัญ 3 ส่วน คือ 1. การสิ้นสุดของการยึดครองของญี่ปุ่น 2. การแบ่งประเทศออกเป็น 2 ส่วน คือ เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ และ 3. การกำเนิดของสงครามเกาหลีในปี 1950

 

การเมืองในช่วงเวลาของความผันผวนเช่นนี้จึงเอื้อให้เกิดระบอบอำนาจนิยมได้ง่าย โดยมี อีซิงมัน ประธานาธิบดีเป็นผู้นำ แต่ก็ถูกโค่นล้มจากการ ‘ปฏิวัติของนักศึกษา’ ในเดือนเมษายน 1960 จนชัยชนะครั้งนี้ดูจะเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยครั้งแรกหลังสงคราม

 

แต่การเปลี่ยนผ่านในช่วงเวลาดังกล่าวมีความเปราะบางเสมอ เพราะต่อมาในเดือนพฤษภาคม 1961 ผู้นำกองทัพก็ตัดสินใจทำรัฐประหารและจัดตั้งรัฐบาลทหารของ พัคจองฮี ประธานาธิบดี และระบอบของผู้นำทหารสืบทอดอำนาจต่อเนื่องมาอย่างยาวนานด้วยการก่อรัฐประหารอีกครั้งของ ชอนดูฮวาน ผู้นำทหาร ในเดือนธันวาคม 1979 และเป็นการใช้อำนาจของระบอบทหารปกครองอย่างเข้มงวด ดังจะเห็นได้จากการ ‘ล้อมปราบ’ ครั้งใหญ่ที่เมืองกวางจู (The Gwangju Uprising) ในเดือนพฤษภาคม 1980 ซึ่งเชื่อว่านักศึกษาและประชาชนที่เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลมากกว่า 2,000 คนเสียชีวิต และการปราบปรามครั้งนี้เป็น ‘หมุดหมาย’ สำคัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเกาหลีใต้

 

การล้อมปราบที่เมืองกวางจูส่งผลสืบเนื่องในทางการเมืองอย่างยาวนาน ทั้งกลายเป็น ‘ตัวเร่ง’ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการสร้างประชาธิปไตยของประเทศ แม้ในด้านหนึ่งจะถูกมองว่าเป็นการ ‘ก่อกบฏ’ จากการสนับสนุนของคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ (ไม่ต่างจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 1976 / พ.ศ. 2519 ในไทย) แต่ผลในเชิงบวกดูจะมากกว่า เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการขับเคลื่อนของกระแสประชาธิปไตยจนกลายเป็นแรงกดดันอย่างมากต่อการดำรงอยู่ของระบอบทหาร

 

ในที่สุดนำไปสู่การส่งมอบอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือนโดยชอนดูฮวานในปี 1987 อันเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยครั้งที่ 2 ที่เห็นถึงอำนาจของพลเรือนที่เข้มแข็งขึ้น เพราะอายุของการเปลี่ยนผ่านครั้งแรกยาวเพียงเดือนเมษายน 1960 – พฤษภาคม 1961 เท่านั้น ปี 1987 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ประชาธิปไตยภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ’ (Constitutional Democracy) ของเกาหลีใต้ หรือมีนัยถึงการพาประเทศออกจากระบบทหารนั่นเอง

 

แม้การเมืองหลังการเปลี่ยนผ่านจะมีความผันผวนในตัวเองอยู่บ้าง ดังจะเห็นได้ว่าจากปี 1987-2001 นั้น อำนาจอยู่ในมือของประธานาธิบดี 3 คน คือ โรแทวู คิมยองซัม และ คิมแดจอง แต่ก็เห็นได้ชัดว่าการเมืองเกาหลีใต้ไม่ถอยกลับไปสู่การรัฐประหารและการจัดตั้งรัฐบาลอำนาจนิยม

 

นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 1988 เป็นภาพสะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่กำลังเดินไปข้างหน้าและเป็น ‘ภาพแทนใหม่’ ของเกาหลีใต้บนเวทีโลก ไม่ใช่ภาพที่เป็นระบอบทหารที่ล้าหลังในแบบเดิม และยังเห็นถึงความพยายามในการปฏิรูปการเมือง เพื่อลดทอนความเป็น ‘การเมืองชนชั้นนำ’ ในการควบคุมพรรคและระบบการเมืองของประเทศลง และเปิดโอกาสให้การเมืองขยับตัวไปสู่ ‘การเมืองประชาชน’ มากขึ้น

 

ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

 

ในทางทฤษฎี ‘เปลี่ยนผ่านวิทยา’ (Transitology) จึงถือได้ว่าการเมืองเกาหลีใต้ก้าวเข้าสู่ช่วงของ ‘การสร้างความเข้มแข็งของประชาธิปไตย’ (Democratic Consolidation) หรือการเมืองแบบการเลือกตั้ง ถือเป็นแบบแผนหลักของการต่อสู้เพื่อให้ได้อำนาจรัฐ หรือที่กล่าวเชิงภาพลักษณ์ว่า อำนาจทางการเมืองได้มาจากบัตรเลือกตั้ง (Ballot Box) ไม่ใช่ได้มาด้วยดาบปลายปืน (Bayonet)

 

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การเมืองเกาหลีใต้หลังจากปี 2001-2002 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนั้นเห็นถึงความเข้มแข็งของความเป็น ‘ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม’ (Participatory Democracy) ที่มีปัจจัยคู่ขนานคือการขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ ที่ทำให้การมีส่วนร่วมของคนในสังคมมีมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็เห็นถึงการเปิดโอกาสให้เกิดการชุมนุมในที่สาธารณะ อันมีนัยถึงการลดทอนอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำเดิมที่กุมอำนาจทางการเมืองมาอย่างยาวนาน

 

สภาวะเช่นนี้เป็นคำตอบในตัวเองว่า สังคมการเมืองเกาหลีใต้ที่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยมายาวพอสมควรนั้น จึงไม่ง่ายเลยที่จะถอยกลับไปสู่การเมืองแบบเก่าที่มีความเป็นอำนาจนิยม อย่างน้อยสังคมพลเรือนเกาหลีใต้ (Civil Society) คงไม่ตอบรับกับการเมืองเช่นนั้น หรือในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำกองทัพเกาหลีใต้ห่างเหินจากรัฐประหารมานาน จนอาจไม่มีชุดความคิดดังกล่าวหลงเหลืออยู่

 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการสร้างความเป็นสมัยใหม่ (Modernization) และการสร้างอุตสาหกรรม (Industrialization) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยม ความสำเร็จดังกล่าวนำไปสู่การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ที่มาคู่ขนานกับการขยายปริมาณของ ‘ชนชั้นกลาง’ ในประเทศ และเป็นชนชั้นกลางที่มีความมั่งคั่งมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และกลายเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ จนอาจต้องถือว่าเกาหลีใต้วันนี้เป็น ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ ไม่ใช่ ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ แบบในยุคสงครามเย็น

 

การขยายตัวและความเติบโตของเศรษฐกิจเสรี (Liberal Economy) คู่ขนานกับการเมืองเลือกตั้ง (Electoral Politics) ในบริบทของเกาหลีใต้เช่นนี้ ทำให้ผู้คนในสังคมไม่มีความจำเป็นต้องถวิลหาระบอบการเมืองเก่าที่เป็นอำนาจนิยม แม้จะมีเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญด้านความมั่นคง แต่กองทัพเกาหลีใต้ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากสหรัฐฯ และมีความเป็นทหารอาชีพอย่างมากนั้น ช่วยให้สังคมเกาหลีใต้มั่นใจได้ว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องเรียกร้องหาระบอบทหารเช่นในอดีตอีกแต่อย่างใด

 

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การเมืองเกาหลีใต้อาจมีปัญหา ไม่แตกต่างจากการเมืองในหลายประเทศ แต่อย่างน้อยอาจกล่าวได้ว่า โอกาสที่จะกลับสู่ระบอบอำนาจนิยมน่าจะเป็นไปได้ยากแล้ว แม้ในอีกด้าน การเมืองเกาหลีใต้จะเต็มไปด้วยการประท้วง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลล้วนมี ‘การเมืองบนถนน’ เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องด้วยเสมอ ซึ่งต้องถือเป็นด้านที่ก้าวหน้าของการเมืองเกาหลีใต้ เพราะการประท้วงเหล่านี้ไม่ถูกนำไปสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารอีกแต่อย่างใด

 

ประวัติศาสตร์เกือบพลิก!

 

ในขณะที่ประชาธิปไตยกำลังก้าวเดินไปข้างหน้านั้น ถ้าถามว่า ‘นักเปลี่ยนผ่านวิทยา’ กังวลเรื่องอะไร คำตอบอาจคล้ายคลึงกันคือ กลัวประชาธิปไตยเกาหลีใต้จะหันไปสู่ความเป็น ‘ประชานิยมปีกขวา’ (Right- wing Populism) ดังเช่นที่เกิดในหลายประเทศในตะวันตก

 

แต่แล้วก็มีความพยายามที่จะทำให้การเมืองหมุนกลับ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2024 เวลา 22.24 น. ยุนซอกยอล ประธานาธิบดีตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึก ประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆ ล้วนตกใจกับคำประกาศดังกล่าว เพราะเป็นสัญญาณถึงความพยายามที่จะ ‘พลิกหน้าประวัติศาสตร์’ กลับสู่ระบอบอำนาจนิยม แม้จะไม่ใช่ผู้นำทหารในแบบเก่า

 

อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นถึงความเข้มแข็งของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ ภายในเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง สมาชิกรัฐสภา 190 ใน 300 คน ออกเสียงคัดค้าน และประธานาธิบดียอมรับว่า เขาแพ้มติในสภาในเรื่องนี้ จึงถอนคำประกาศกฎอัยการศึกออก (คณะรัฐมนตรีไม่มีหน้าที่ประกาศรับรองหรือไม่รับรองการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี หน้าที่นี้เป็นอำนาจของรัฐสภา) และมีการเคลื่อนย้ายกำลังทหารเข้าควบคุมพื้นที่ของรัฐสภา เพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกรัฐสภาเข้าไปในรัฐสภาได้ อันจะทำให้ภาวะการบังคับใช้กฎอัยการศึกเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

 

แน่นอนว่าทุกฝ่ายมองว่าประธานาธิบดีไม่ควรตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึก แต่ในมุมหนึ่งการตัดสินใจดังกล่าวถูกอธิบายจากปัญหาการเมือง ดังนี้

 

  1. การลดลงอย่างรวดเร็วของเสียงสนับสนุนต่อประธานาธิบดีในระดับประเทศ
  2. การถดถอยของอิทธิพลและอำนาจของประธานาธิบดีในพรรคของเขา และอาจทำให้ต้องลาออก
  3. การต่อสู้และความขัดแย้งทางการเมืองในระบบการเมือง (ปัญหานี้มีแนวโน้มว่าอาจปะทุมากขึ้นในต้นปี 2025)
  4. ปัญหาภัยคุกคามของเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และการส่งกำลังพลเข้าไปรบในสงครามยูเครน

 

ด้วยปัญหาทั้ง 4 ประการดังกล่าว ทำให้เชื่อว่ายุนตัดสินใจเลือกแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการประกาศกฎอัยการศึก และน่าสนใจว่าสุดท้ายแล้วปัญหาที่เกิดจากการประกาศนี้ถูกควบคุมไม่ให้ขยายตัวจนเป็น ‘วิกฤตการเมือง’ ได้อย่างทันท่วงที ดังได้กล่าวแล้วว่า อายุของกฎอัยการศึกยาวนานเพียง 3 ชั่วโมง และกลไกของระบบรัฐสภาก็สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ การเปลี่ยนผ่านเกือบจะต้องสะดุดลงจากการประกาศของยุนในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม แม้จะหยุดยั้งการใช้กฎอัยการศึกได้ แต่ผลสืบเนื่องจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน ทั้งยังจะส่งผลให้การต่อสู้ทางการเมืองนับจากนี้มีความเข้มข้นมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

นอกจากนี้ ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองหลังจากความล้มเหลวของการประกาศกฎอัยการศึก เราไม่อาจละเลย ‘ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์’ (Geopolitical Factors) ที่เป็นประเด็นสำคัญในการเมืองและความมั่นคงของเกาหลีใต้ได้เลย เพราะไม่ว่าการเมืองเกาหลีใต้จะไปในทิศทางใด ภัยคุกคามทางทหารจากเกาหลีเหนือจะคงดำรงอยู่อย่างมีนัยสำคัญและเป็นปัจจัยที่ผู้นำรัฐบาลเกาหลีใต้ทุกคนต้องเผชิญ

 

ความท้าทาย

 

สิ่งที่รอยุนอยู่เบื้องหน้าคือแรงกดดันทางการเมือง ทั้งจากพรรคของตนเอง (People Power Party หรืออาจเรียกในชื่อไทยคือพรรคพลังประชาชน และมีสถานะเป็นพรรคอนุรักษนิยม) แนวร่วมของพรรคฝ่ายค้าน และสำคัญคือเสียงเรียกร้องจากสังคม

 

ดังนั้นไม่ว่าเขาจะอยู่รอดหรือไม่ในทางการเมือง แต่ต้องยอมรับว่าอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองของยุนมาถึงจุดต่ำสุดแล้วและไม่น่าจะถอยกลับไปเป็นอื่น และพรรคอาจต้อง ‘เท’ เขา เนื่องจากจะต้องเตรียมหาบุคคลที่เหมาะสมสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในต้นปี 2027 ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้พรรคพลังประชาชนน่าจะต้องกดดันให้เขาออกไปจากพรรค เพื่อจะไม่เป็นภาระทางการเมืองในอนาคต

 

ในภาวะเช่นนี้จึงน่าสนใจอย่างมากว่า จากนี้ไปอะไรจะเกิดกับยุน เท่าๆ กับจากนี้ต่อไปอะไรจะเกิดกับการเมืองเกาหลีใต้ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้จะส่งผลอย่างไรกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในปี 2027

 

ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้นับจากปี 1987 เป็นต้นมากำลังเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยที่หลากหลายเป็นอย่างยิ่ง!

 

ภาพ: Kim Kyung Hoon / Reuters

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X