ถ้าต้องนึกย้อนไปถึงภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่น่าประทับใจของผู้นำคนสำคัญบนเวทีโลกตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ภาพบรรยากาศการพบกันครั้งแรกระหว่างสองผู้นำเกาหลีในรอบกว่า 1 ทศวรรษที่หมู่บ้านปันมุนจอม เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะจังหวะที่ทั้งคู่พบกันที่บริเวณเส้นกั้นพรมแดน (MDL) ก่อนที่จะผลัดกันข้ามเขตแดน อาจเป็นภาพจำแรกๆ ที่ใครหลายคนนึกถึงและไม่คาดคิดว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นจริง
เขตปลอดทหารบริเวณพรมแดนเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ (Demilitarized Zone: DMZ) ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ตึงเครียดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนับตั้งแต่มีการเจรจาหยุดยิงในสงครามเกาหลีเมื่อปี 1953 ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วทั้งสองประเทศนี้ยังคงถือว่ามีสถานะเป็น ‘คู่สงคราม’ ระหว่างกันจวบจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากไม่มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
ตลอดระยะเวลาเกือบ 7 ทศวรรษที่ผ่านมา เกาหลีทั้งสองประเทศต่างมีประเด็นกระทบกระทั่งกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะโครงการทดสอบและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงของเกาหลีใต้ ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประชาคมโลก ยิ่งทำให้อุณหภูมิภายในคาบสมุทรเกาหลีร้อนระอุมากยิ่งขึ้น แม้จะมีความพยายามที่จะร่วมมือกันบ้างก็ตาม
แต่เมื่อช่วงต้นปีนี้ ท่าทีของ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเขาแสดงความต้องการที่จะส่งคณะผู้แทนรัฐบาล นักกีฬา และกองเชียร์ เข้าร่วมในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพย็องชังของเกาหลีใต้ ก่อนจะปูทางไปสู่การกลับมาเปิดใช้ช่องทางโทรศัพท์สายตรง การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลี รวมถึงความคิดที่จะยุติโครงการนิวเคลียร์ของผู้นำเกาหลีเหนือ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าความตึงเครียดที่เคยมีมาระหว่างกันค่อยๆ เบาบางลงแล้ว
THE STANDARD จึงอาศัยช่วงเวลานี้พาคุณลัดเลาะและท่องเที่ยวไปตามแลนด์มาร์กสำคัญทางประวัติศาสตร์ในเขตปลอดทหารบริเวณชายแดนเกาหลีทั้งสองประเทศที่ไม่ได้มีแต่รั้วลวดหนามตามที่ใครหลายคนเข้าใจ
สถานที่แรกในการเริ่มต้นทริปก็คือ DMZ Center ที่จะมีห้องเธียเตอร์ฉายประวัติความเป็นมาของสงครามเกาหลี รวมถึงส่วนจัดแสดงแผนที่ ภาพถ่าย รวมถึงอาวุธโบราณที่เคยถูกใช้จริงในสมัยสงคราม ซึ่งหลังจากได้รับการปูพื้นฐานความรู้ของพื้นที่บริเวณดังกล่าวแล้ว ไฮไลต์แรกของที่นี่ก็คือ อุโมงค์ลำดับที่ 3 (Third Tunnel) ซึ่งถูกขุดโดยกองทัพเกาหลีเหนือ มีความยาวถึง 1.635 กิโลเมตร อยู่ลึกจากผิวดินราว 7.3 เมตร และอยู่ห่างจากกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศ เป็นระยะทางเพียง 44 กิโลเมตรเท่านั้น
อุโมงค์แห่งนี้ถูกค้นพบเมื่อเดือนตุลาคม ปี 1978 ถูกคาดการณ์ว่าจะใช้เป็นช่องทางในการบุกเข้าโจมตีกรุงโซลอย่างไม่ทันตั้งตัวของกองทัพโสมแดง ซึ่งอุโมงค์ดังกล่าวสามารถเคลื่อนย้ายกองทัพกว่า 30,000 นายได้ในระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ถือเป็น 1 ใน 4 อุโมงค์ที่ทางการเกาหลีใต้ค้นพบจนถึงขณะนี้ โดยคาดการณ์กันว่ายังมีอุโมงค์มากกว่า 20 แห่งที่ยังไม่ถูกค้นพบ
วิธีการลงไปยังอุโมงค์ดังกล่าวมีอยู่สองวิธีคือนั่งรถรางกับเดินเท้าลงไป ซึ่งคนจริง 2018 อย่างเราๆ ก็ต้องเลือกเดินเท้าแน่นอนอยู่แล้ว แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็อาจจะเปลี่ยนใจขอนั่งรถรางแทน เพราะก็เล่นเอาเหนื่อยหอบและขาล้าไปตามๆ กันหากพักผ่อนไม่เพียงพอก่อนที่จะเดินทางมา แต่ภาพที่ได้เห็นเบื้องหน้าตรงจุดสุดท้ายของปลายอุโมงค์ก็ทำเราตื่นเต้นได้ไม่น้อย
Tips: ห้ามถ่ายภาพภายในอุโมงค์โดยเด็ดขาด จะต้องฝากสิ่งของมีค่าทั้งหมดไว้ในล็อกเกอร์ ถ้าใครมียาดมและน้ำดื่มสักขวดก็ควรจะพกติดตัวลงไปด้วย เพราะนี่เป็นไอเท็มสำคัญที่จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นและผ่านภารกิจแรกนี้ไปได้ขณะอยู่ใต้ดินในสภาพที่อากาศเบาบาง ที่สำคัญควรสวมหมวกเซฟตี้ตลอดเวลา เนื่องจากอุโมงค์นี้มีความสูงไม่เกิน 2 เมตร ศีรษะของเราอาจได้รับการกระแทกจากปุ่มหินหรือเพดานภายในถ้ำได้
สถานที่ต่อมาคือ หอสังเกตการณ์โดราซาน (Dora Observatory) ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาทางทิศเหนือสุดจากเส้นกั้นพรมแดน นับเป็นจุดที่เราจะได้เห็นประเทศเกาหลีเหนือได้ชัดที่สุดแบบ 180 องศา ที่นี่เปิดบริการครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม ปี 1987 โดยจะมีกล้องส่องทางไกลไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งจะคิดค่าบริการครั้งละ 500 วอนต่อ 2-3 นาที ซึ่งเราจะได้เห็นนิคมอุตสาหกรรมแกซอง (Gaeseong) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเกาหลีทั้งสองประเทศที่ถูกปิดตัวลง ลานอนุสาวรีย์คิมอิลซุง รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมในแถบกึมอันกอล (Geumamgol) และหมู่บ้านที่เกาหลีเหนือใช้แสดงโฆษณาชวนเชื่ออย่างคีจองดง (Kijong-dong) อีกด้วย นับเป็นอีกหนึ่งจุดที่เราจะได้เห็นภาพความเป็นเมืองของเกาหลีเหนือได้ชัดเจนที่สุดในทริปครั้งนี้
เราเดินทางต่อมาที่ สถานีรถไฟโดราซาน (Dorasan Station) ที่อยู่ในเส้นทางสายกยองอี (Gyeongui) สถานีรถไฟเพียงแห่งเดียวที่เชื่อมกับสถานีรถไฟระหว่างประเทศของเกาหลีเหนือ ซึ่งสถานีแห่งนี้เปิดให้เข้าชมและใช้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2002 ก่อนมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมจะเปิดฉากขึ้น โดยรถไฟเที่ยวแรกที่เดินทางสู่กรุงเปียงยางซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปราว 205 กิโลเมตรคือ 5 ปีหลังจากนั้น (ธันวาคม ปี 2007)
ภายในสถานีเราจะรับรู้ได้ถึงบรรยากาศความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ มีการจัดแสดงภาพถ่ายของคิมจองอึน ประธานาธิบดีมุนแจอิน และสตรีหมายเลขหนึ่งของทั้งสองประเทศในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำที่ปันมุนจอมเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่นี่เราจะสามารถซื้อตั๋วรถไฟเพื่อเข้าไปยังชานชาลาได้ในราคา 1,000 วอน และยังจะได้รับโปสการ์ดพร้อมประทับตราของสถานีแห่งนี้กลับบ้านไปเป็นที่ระลึกอีกด้วย หวังว่าสถานีรถไฟโดราซานจะกลับมาเปิดให้บริการและเป็นสะพานเชื่อมผู้คนในบ้านพี่เมืองน้องทั้งสองแห่งนี้อีกครั้ง
สวนอิมจินกัก (Imjingak Park) เป็นสถานที่สุดท้ายก่อนที่เราจะแวะพักรับประทานอาหารกลางวัน สวนแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิมจิน (Imjin River) และมีสะพานแห่งอิสรภาพ (Bridge of Freedom) พาดผ่าน พื้นที่บริเวณนี้มีความคล้ายคลึงรีสอร์ตมากพอสมควร มีร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงสวนสนุกขนาดเล็กไว้คอยบริการ ชั้นดาดฟ้าของตัวอาคารจะเป็นจุดชมวิวที่สวยงามอีกจุดหนึ่ง เราจะเห็นเมืองพาจูพร้อมกับทิวทัศน์สีเขียวจากท้องนาได้ถึง 360 องศาเลยทีเดียว โดยสวนแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกด้านความทรงจำเมื่อปี 1983 อีกด้วย
พื้นที่บริเวณด้านล่างจะอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟจางดัน (Jangdan) อีกหนึ่งสถานีในเส้นทางสายกยองอีที่ถูกทำลายลงในช่วงสงครามเกาหลี ก่อนที่จะมีการเริ่มปรับปรุงอีกครั้งตั้งแต่ปี 2000 ที่ผ่านมา เราจะได้ชมหัวรถจักรไอน้ำขนาดใหญ่ที่มีรูกระสุนกว่า 1,020 นัด จัดแสดงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของบาดแผลและสงครามอันโหดร้ายที่เคยเกิดขึ้นที่นี่ ขณะที่รั้วลวดหนามบริเวณนั้นก็ถูกประดับไปด้วยริบบิ้นหลากหลายสีสัน พร้อมกับธงชาติและข้อความจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีอนุสรณ์สถานมังแบดัน (The Mangbaeddan Memorial) ที่เปิดโอกาสให้ชาวเกาหลีใต้มาแสดงความเคารพหรือระลึกถึงบรรพบุรุษและบรรดาญาติพี่น้องที่พลัดพรากกันจากเหตุสงครามเกาหลีเมื่อ 65 ปีก่อนในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะในวันขึ้นปีใหม่และในฤดูใบไม้ร่วงของชาวเกาหลี นับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่อบอวลไปด้วยความคิดถึงและความทรงจำอันแสนเจ็บปวด
และสถานที่ที่เป็นไฮไลต์ที่สุดของทริปนี้ก็คือ JSA (Joint Security Area) หรืออาคารหลังสีฟ้า 2-3 หลังที่ตั้งอยู่บนเส้นกั้นพรมแดน (MDL) ที่เราอาจจะเคยเห็นผ่านตามาบ้างแล้ว ขณะที่รถบัสของเราแล่นเข้าไปใกล้พรมแดนเพิ่มมากขึ้น เราจะเห็นธงชาติเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และธงสหประชาชาติอยู่สองข้างทาง จะมีการตรวจเช็กพาสปอร์ตนักท่องเที่ยวก่อนผ่านจุดตรวจ และถ้าเราสังเกตดีๆ จะพบว่าธงชาติไทยเป็นหนึ่งในธง 16 ผืนที่ถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสาในเขตปลอดทหารแห่งนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยที่ได้ส่งกองกำลังทหารเข้าร่วมกับกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามเกาหลีเมื่อปี 1950-1953 ที่ผ่านมา
และจุดแรกที่เราจะลงก็คือ JSA Visitor Center ที่จะฉายวีดิทัศน์ความโหดร้ายของสงครามเกาหลีที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งให้เซ็นชื่อยินยอมที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ โดยเราจะเข้าไปยัง JSA ในนามแขกของสหประชาชาติที่จะเป็นผู้รับรองความปลอดภัยให้กับเรา ภาพอาคาร Freedom House รวมถึง JSA ที่ตั้งอยู่เบื้องหน้าทำให้ใจของคนที่ชอบประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศอย่างเราเต้นรัวไม่เป็นจังหวะจนต้องพึมพำกับตัวเองว่า นี่เรากำลังอยู่ที่ JSA สถานที่ที่อยู่ในภาพข่าวที่เราเห็นมาโดยตลอด สถานที่ที่ผู้นำเกาหลีทั้งสองประเทศเดินทางมาพบกันครั้งแรกในรอบ 11 ปี เป็นโมเมนต์ที่ประทับใจที่สุดในทริปเกาหลีครั้งนี้เลย
ภาพของนายทหารที่ยืนนิ่งประจำตามจุดต่างๆ และหันหน้าไปยังเกาหลีเหนือทำให้เราสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดที่อัดแน่นไปทั่วบริเวณ จังหวะที่จะได้เข้าไปในอาคารหลังสีฟ้ายิ่งทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น สิ่งแรกที่เราจะได้เห็นคือโต๊ะเจรจาประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางเส้นกั้นพรมแดน มีทหารเกาหลีใต้สังกัดองค์การสหประชาชาติอยู่ภายในนั้น 2 นาย เราจะอยู่ใกล้เส้นกั้นพรมแดนมากที่สุดเพียงแค่กระจกหน้าต่างกั้น และที่สำคัญ เราจะสามารถลองข้ามไปยังเกาหลีเหนือได้ในอาคารหลังนี้อีกด้วย
ที่นี่จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่เราจะได้เห็นภาพธงชาติไทยติดอยู่ที่ฝาผนังมุมหนึ่งของตัวอาคารพร้อมกับพันธมิตรชาติอื่นๆ อีก 15 ชาติ ยิ่งทวีความรู้สึกตื่นเต้นและเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจเล็กๆ ว่าชาติบ้านเกิดของเราก็เคยเข้าร่วมต่อสู้ในสงครามตัวแทนที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในเอเชีย ไม่ว่าเราจะมีบทบาทมากหรือน้อยในสงครามครั้งนั้นก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาโอปป้าที่ประจำการอยู่ในเขตปลอดทหารที่ดูเหมือนหลุดออกมาจากบทพระเอก-พระรองของซีรีส์เกาหลีแทบทุกนายคงจะทำให้บรรดาสายเกาทั้งหลายรู้สึกเพลิดเพลิน ปิดท้ายทริปสุดประทับใจตลอด 1 วันเต็มที่ผ่านมาอย่างแน่นอน นับเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่คนรักประวัติศาสตร์ ชื่นชอบการผจญภัยและความเป็นเกาหลีไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
Tips: ขณะเข้าไปยัง JSA นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพเฉพาะสิ่งที่เห็นอยู่เบื้องหน้าหรือฝั่งเกาหลีเหนือเท่านั้น อีกทั้งยังจะต้องอยู่ในอาการสำรวม ห้ามใช้นิ้วดันขาแว่น ห้ามพูดหรือสื่อสารใดๆ กับทหารเกาหลีเหนือโดยเด็ดขาด ซึ่งอาจจะถูกกองทัพโสมแดงใช้เป็นข้ออ้างในการยั่วยุได้
ที่สำคัญ การเดินทางไปยังแลนด์มาร์กสำคัญต่างๆ ในเขตปลอดทหารฝั่งเกาหลีใต้นี้จะต้องซื้อแพ็กเกจทัวร์ในเกาหลีเท่านั้น รถโดยสาร รถแท็กซี่ รวมถึงรถยนต์ส่วนบุคคลจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปพื้นที่ดังกล่าว และควรวางตารางท่องเที่ยวให้ดี เพราะทัวร์ DMZ มักจะปิดให้บริการในวันจันทร์ ที่สำคัญคือจะต้องแต่งกายด้วยชุดที่สุภาพ และอย่าลืมพกพาสปอร์ตติดตัวไปด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์