×

แฟนเพจคณะนิติศาสตร์ มช. เรียกร้องขับไล่ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ แก้ปัญหาฝุ่นควันล้มเหลว

โดย THE STANDARD TEAM
30.03.2019
  • LOADING...

แฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อ ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (30 มี.ค.) ประกาศแถลงการณ์ร่วมขับไล่ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยอ้างเรื่องความล้มเหลวในการจัดการมลพิษฝุ่นที่เข้าขั้นวิกฤตในเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงมามากกว่าหนึ่งเดือนแล้ว สะท้อนความสามารถส่วนบุคคลของผู้ว่าราชการจังหวัดในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน

 

นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นความล้มเหลวของการปกครองในท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐราชการรวมศูนย์ของไทย ที่หน่วยงานในระดับท้องถิ่นต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก และยังเปรียบเทียบสวัสดิภาพของประชาชนในท้องถิ่นก็มีค่าเบาบางเสียยิ่งกว่าฝุ่นด้วย

 

ทางเพจดังกล่าวยังแสดงความไม่พอใจกรณีที่ไม่มีการประกาศให้เชียงใหม่เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพราะจะกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งหมายถึงรายได้ของรัฐโดยรวม แม้ว่าปริมาณฝุ่นจะอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายอย่างรุนแรงต่อชีวิตของคนในพื้นที่ก็ตาม ปัญหาของการจัดการฝุ่นจึงเป็นปัญหาในระดับโครงสร้าง แม้จะเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ ออกจากพื้นที่ที่มีปัญหาไป ก็ไม่มีหลักประกันว่าผู้ที่จะทำหน้าที่แทนจะทำหน้าที่ตอบสนองต่อชีวิตของคนในพื้นที่แต่อย่างใด

 

จึงเห็นควรให้ร่วมกันขับไล่ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐราชการรวมศูนย์ โดยการเปลี่ยนให้เป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากความเห็นชอบของประชาชนในจังหวัดนั้นๆ เอง

 

ถือเป็นอีกความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จากปัญหาฝุ่นควันที่ทวีความรุนแรง โดยล่าสุดรายงานจากเว็บไซต์ www.airvisual.com รายงานว่า จังหวัดเชียงใหม่มีระดับมลพิษทางอากาศสูงที่สุดอันดับ 1 ของโลก ด้วยค่า US AQI เท่ากับ 461 (เวลา 18.00 น.) ขณะที่เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษรายงานค่า AQI ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 16.00 น. เท่ากับ 169

 

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้สภาพอากาศในจังหวัดเชียงใหม่เข้าขั้นวิกฤต มีผลกระทบต่อสุขภาพในระดับอันตราย ดังนั้นขอให้จังหวัดเชียงใหม่แจ้งเตือนให้ประชาชน​รับทราบสถานการณ์ และให้อยู่แต่ในบ้านหรืออาคารที่มีระบบฟอกอากาศ ควรงดจัดกิจกรรมนอกอาคาร​ ประชาชนควรใช้หน้ากาก​ N95​ และให้ใส่ตลอดเวลา จนกว่าคุณภาพ​อากาศ​จะเข้าสู่ภาวะปกติ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X