×

แอมเนสตี้ ประเทศไทย เรียกร้องให้สิทธิประกันตัว ‘วารุณี’ นักกิจกรรมทางการเมืองคดี ม.112

โดย THE STANDARD TEAM
18.09.2023
  • LOADING...
วารุณี 112

วันนี้ (18 กันยายน) ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรมราชทัณฑ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘เพื่อนเรามีสิทธิไหมคะ?’ เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง และบุคคลที่ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีความ โดยมีนักกิจกรรมและประชาชนเข้าร่วมกว่า 20 คน 

 

ทั้งนี้ ระหว่างทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ได้มีการจัดกิจกรรมครบรอบวันเกิดให้กับ ‘วารุณี’ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่มีอายุครบ 32 ปีบริบูรณ์ด้วย โดยมีน้องสาว เพื่อนของวารุณี และนักกิจกรรม ร่วมกันจุดเทียน เป่าเค้ก และร้องเพลง Happy Birthday ให้กับวารุณีที่ยังอยู่ในเรือนจำ 

 

‘วารุณี’ ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้โพสต์ข้อความแสดงออกทางออนไลน์เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 และพระแก้วมรกต ปัจจุบันวารุณีถูกดำเนินคดีใน 3 ข้อหา ได้แก่ 1. มาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 2. มาตรา 206 ฐานเหยียดหยามศาสนา และ 3. ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ฐานนำข้อมูลที่มีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและก่อการร้ายเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี แต่รับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน วารุณีเข้าไปอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เธอเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่อดอาหารประท้วง จำกัดการดื่มน้ำ เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี 

 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันมีนักกิจกรรมที่ตกเป็นผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำออกมาเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ยกเลิกข้อกล่าวหาทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และคืนสิทธิการประกันตัวระหว่างรอการพิจารณาคดีในชั้นศาล 

 

ในจำนวนนี้ ‘วารุณี’ เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่เรียกร้องกระบวนการยุติธรรมคืนสิทธิประกันตัวให้ระหว่างต่อสู้คดี ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า แอมเนสตี้มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ และผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง 3 ข้อ 

 

  1. เรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับวารุณีที่กำลังอดอาหารประท้วง รวมถึงผู้ต้องขังที่เป็นนักโทษทางความคิดคนอื่นๆ 

 

  1. กรมราชทัณฑ์ต้องทำให้มั่นใจว่าจะดูแลและเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังอย่างดี และทำให้ทุกคนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีและทันท่วงที สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดแมนเดลา) 

 

  1. ยกเลิกข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีต่อประชาชนที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง ปล่อยตัวผู้ต้องขังทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X