จากกรณีข่าวพบโควิดสายพันธุ์ ‘เดลตาครอน’ (Deltacron) ที่ประเทศไซปรัสเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา วานนี้ (10 มกราคม 2565) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายในการแถลงข่าวประจำวันของกระทรวงสาธารณสุขว่า เดลตาครอนน่าจะเป็นการปนเปื้อนของสารพันธุกรรมโอมิครอนในห้องปฏิบัติการ ในขณะที่การเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่มีความเป็นไปได้ต่ำมาก
จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ ดร.ลีออนดิออส คอสทริคิส นักไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยไซปรัส ได้อัปโหลดบนฐานข้อมูลสากล GSAID จำนวน 24 ตัวอย่างพบว่าไวรัสดังกล่าวมีรหัสพันธุกรรมที่จำเพาะกับสายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ เพียงรูปแบบเดียว แต่รหัสพันธุกรรมที่เป็นส่วนของสายพันธุ์ ‘เดลตา’ มีความหลากหลาย แสดงว่าแต่ละตัวอย่างน่าจะเป็นสายพันธุ์เดลตาที่มีการกลายพันธุ์แตกต่างกัน
.
ทั้งนี้ ฐานข้อมูล GSAID ได้จัดกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเป็นสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2+AY.x) ดังนั้นข้อมูลดังกล่าวน่าจะเกิดจากการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการ (Contamination) ของสารพันธุกรรมโอมิครอนในตัวอย่างผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุด หรือเป็นการติดเชื้อร่วมหลายสายพันธุ์ (Mixed infection) ระหว่างเดลตาและโอมิครอน ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อย
ในขณะที่การเกิดสายพันธุ์ผสมในไวรัสตัวเดียวกัน (Hybrid) หรือสายพันธุ์ใหม่ (New variant) มีความเป็นไปได้ต่ำมาก ซึ่งการประเมินของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สอดคล้องกับนักไวรัสวิทยาในต่างประเทศ เช่น ดร.ทอม พีค็อก แห่งอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ที่นำข้อมูลใน GSAID มาวิเคราะห์แล้วตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเป็นสายพันธุ์ใหม่จริง ตัวอย่างทั้งหมดควรจะมาจากคลัสเตอร์เดียวกัน
อ้างอิง: