×

DELTA เล็งตั้งโรงงานผลิตเครื่องชาร์จ EV ในไทย แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทักษะแรงงาน

31.08.2023
  • LOADING...
DELTA

อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประเทศไทย ทั้งในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม เช่น สถานีชาร์จ แบตเตอรี่ หรือชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า 

 

จากงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2023 ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 1 กันยายน 2566 ซึ่งมีบริษัทต่างๆ ร่วมออกบูธแสดงสินค้าและเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานสะอาด หนึ่งในนั้นคือ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA ร่วมจัดแสดงเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมอินเวอร์เตอร์แปลงพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน และระบบการจัดการพลังงานสำหรับประเทศไทย

 

กิตติศักดิ์ เงินงอกงาม ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโซลูชันโครงสร้างพื้นฐานพลังงานของเดลต้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายให้กับลูกค้าในไทย ผลิตและนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยมีทั้งส่วนที่ผลิตในจีนและสโลวาเกีย โดยส่วนที่ผลิตในจีนจะเป็นเครื่องชาร์จแบบ AC ซึ่งมีขนาดเล็ก สำหรับติดตั้งตามบ้านหรือใช้ภายในบริษัท ส่วนเครื่องชาร์จแบบ DC ซึ่งเป็นเครื่องชาร์จขนาดใหญ่ที่ติดตั้งตามสถานีชาร์จหรือพื้นที่สาธารณะ จะผลิตในสโลวาเกียเป็นหลัก 

 

ปัจจุบันเครื่องชาร์จของเดลต้าเฉพาะแบบ DC จำหน่ายไปแล้วทั่วโลกประมาณ 150,000 เครื่อง ส่วนในไทยจำหน่ายไปแล้วประมาณ 300 เครื่อง ซึ่งส่วนมากเกิดขึ้นในช่วงปี 2564-2565 

 

อย่างไรก็ดี เดลต้าเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในไทยราว 25% และครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในอาเซียนด้วยเช่นกัน สำหรับลูกค้าของบริษัทมีทั้งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์แต่ละแบรนด์และผู้ให้บริการสถานีชาร์จ โดยเครื่องชาร์จของบริษัทจะเป็นลักษณะที่เรียกว่า White Label หมายถึงการติดแบรนด์ของลูกค้าลงบนเครื่องที่ผลิตและออกแบบโดยบริษัท

 

“ขณะนี้เราคิดอยู่ว่าจะตั้งโรงงานผลิตเครื่องชาร์จ EV ในไทยด้วยเช่นกัน แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ขึ้นอยู่กับว่าตลาดในไทยและในอาเซียน รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะขยายตัวได้มากน้อยเพียงใด”​

 

มากไปกว่านั้น ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจตั้งโรงงานหรือไม่จะมาจากความพร้อมในเรื่องของ Supply Chain และทักษะของบุคลากร 

 

“ตอนนี้ไทยมีทั้งส่วนที่พร้อมและไม่พร้อม ส่วนที่พร้อมแล้วคือความชำนาญในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะเราเป็นฮับอันดับ 11-12 ของโลก แต่ส่วนที่ยังไม่พร้อม เช่น ความรู้ในด้าน Semiconductor และ Power Electronic”​

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะเปิดโรงงานใหม่สำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในไทยเพิ่มอีก 1 แห่ง ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว

 

กิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานสะอาดของเดลต้าในปัจจุบัน นอกจากชิ้นส่วนรถ EV และเครื่องชาร์จรถ EV บริษัทยังได้พัฒนาระบบในการแปลงพลังงานจากโซลาร์รูฟ รวมทั้งระบบ Smart Grid และระบบในการติดตามเรื่องของคาร์บอน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างครบวงจรมากขึ้น

 

“ธุรกิจพลังงานสะอาดเราพยายามทำเป็นโซลูชันครบวงจรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แทนที่จะทำเพียงส่วนประกอบก็ทำเป็นสินค้าสำเร็จรูป และพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อใช้บริหารจัดการ” 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising