×

ระวังโควิดสายพันธุ์เดลตา หวั่นกระทบเครื่องยนต์สุดท้ายของเศรษฐกิจไทย

16.07.2021
  • LOADING...
ระวังโควิดสายพันธุ์เดลตา

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ได้แก่ สายพันธุ์เดลตา ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

การระบาดที่เพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดลตาย่อมส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชีย ที่เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดในอัตราที่ต่ำ และไม่ได้เป็นการฉีดวัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพสูงในการต้านทานสายพันธุ์เดลตา เป็นสาเหตุทำให้ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อชะลอการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา

 

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเบื้องต้นระยะสั้น ส่งผลให้ ดัชนี PMI ที่เป็นตัวชี้วัดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย มีแนวโน้มถดถอยลงในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ทั้งในฝั่งของภาคบริการและภาคการผลิต โดยในภาคบริการ ดัชนี PMI ประเทศออสเตรเลียและญี่ปุ่นปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคม จากมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด ส่วนในภาคการผลิตปรับตัวลดลงต่อเนื่องทั้งภูมิภาคอาเซียน โดย PMI ในเดือนมิถุนายนของภูมิภาคอาเซียนปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 49.0 เป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือน แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจภาคการผลิต อันเป็นผลมาจากการระบาดที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย จนส่งผลให้มีมาตรการภาครัฐที่เข้มงวดเพิ่มมากขึ้น 

 

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์เดลตาในประเทศไทย ส่งผลให้อัตราผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้นใน 10 จังหวัดที่มีความเสี่ยงของการระบาดสูง แน่นอนว่าการออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจการบริโภคภายในประเทศ (Domestic Consumption) ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นจากการรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเดือนพฤษภาคมแสดงให้เห็นว่า ดัชนีการบริโภคของไทยมีการหดตัวต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 94.7 เป็นการปรับตัวต่ำสุดของดัชนีการบริโภคในรอบ 1 ปีนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มคลายล็อกดาวน์ทั่วประเทศ โดยการปรับตัวลดลงของดัชนีในเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นการหดตัวกว่า 3% จากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้มาตรการที่มีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นสูงในเดือนกรกฎาคมมีความเป็นไปได้สูงที่การบริโภคในประเทศจะมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องต่อไปในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 

 

เช่นเดียวกับ ด้านการท่องเที่ยวที่เป็นอีกเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ล่าช้ามาจากผลของการระบาดระลอกใหม่ ของโควิดสายพันธุ์เดลตา ทำให้แผนการเปิดประเทศจำเป็นต้องล่าช้าออกไป จากเดิมที่มีแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 อาจเลื่อนแผนการเปิดประเทศไปถึงช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 แม้ปัจจุบันจะมีโครงการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้โครงการ Phuket Sandbox แต่เนื่องจากเป็นเพียงแค่โครงการนำร่อง จึงไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวปริมาณมากเทียบเท่าระดับก่อนการเกิดการระบาดของโรคโควิดได้

 

ดังนั้น เครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจที่เหลืออยู่ในปีนี้ของไทยคือการส่งออก ที่มีแนวโน้มการเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง จากดีมานด์สินค้าที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรป จนทำให้สินค้าส่งออกหลักของไทย ทั้งกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์และกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์มีการฟื้นตัวอย่างดี โดยมีการเติบโตในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 49% และ 16% ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ภาคการส่งออกมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 จากปัจจัยสนับสนุนภายนอกประเทศ แต่จาก การระบาดที่เพิ่มขึ้นของสายพันธุ์เดลตาในปัจจุบัน อาจส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดในโรงงานการผลิต ซึ่งหากการระบาดมีสถานการณ์แย่ลงในอนาคต อาจมีการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดในโรงงานการผลิตเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลให้ปริมาณการผลิตสินค้าส่งออกได้น้อยลง

 

จากการรายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิดภายในประเทศเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ติดเชื้อโควิดจากการทำงานในโรงงานและบริษัทกว่า 14,176 คน ซึ่งกระจายตัวมากกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนผู้ติดเชื้อกว่า 14.2% ของยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมดในเดือนมิถุนายน และแนวโน้มการระบาดในเดือนกรกฎาคมที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นจากการแพร่กระจายของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา อาจทำให้มาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวดเพิ่มขึ้นจนใกล้เคียงระดับการล็อกดาวน์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2563 ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยดำเนินรอยตามประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่มีมาตรการควบคุมการทำงานในโรงงานการผลิตที่เข้มงวดมากขึ้น นับตั้งแต่การระบาดภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

 

ชัดเจนว่าการระบาดที่เพิ่มขึ้นของโรคโควิดสายพันธุ์เดลตาส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยในทุกภาคส่วน ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการควบคุมสถานการณ์การระบาดจึงเป็นประเด็นสำคัญสูงสุดต่อเศรษฐกิจไทย ที่ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือแก้ไขสถานการณ์ให้เร็วที่สุด อย่างน้อยเพื่อไม่ให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยตัวสุดท้ายอย่างภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาครับ         

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X