×

กูรู DeFi เผยเทคนิคการเลือก ‘คู่เหรียญ’ ทำ Yield Farming กับเคล็ดลับ ‘ฟาร์ม’ อย่างไรไม่ให้เป็นชาวดอย

13.08.2021
  • LOADING...
DeFi

คนที่เคยลงทุนผ่านการทำ Yield Farming ในระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง หรือ DeFi (Decentralized Finance) คงจะคุ้นเคยกับผลตอบแทนในระดับ 10-20% ต่อปี หรือบางฟาร์มอาจให้ผลตอบแทนที่มากกว่า 200-300% ต่อปี โดยผลตอบแทนเหล่านี้คือผลตอบแทนที่ได้รับเมื่อเทียบกับจำนวนเหรียญที่นำไปฟาร์ม ซึ่งก็คล้ายกับกรณีที่เรานำเงินไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์แล้วได้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยนั่นเอง

 

เพียงแต่ในโลก DeFi แม้บางฟาร์มจะให้ผลตอบแทนสูงหลัก 200-300% ขึ้นไป แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ลงทุนจะมี ‘กำไร’ จากการลงทุนนั้นๆ เสมอไป สาเหตุเพราะในโลก DeFi และคริปโตเคอร์เรนซี ราคาเหรียญที่เราซื้อเพื่อนำไปฟาร์มมีราคาเหวี่ยงขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา เปรียบเทียบก็เหมือนกับเราเอาเงินบาทไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ แม้จะได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าแต่ก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้เช่นกัน 

 

ช่วงหลังมานี้จะพบว่า ‘นักลงทุนรายใหม่’ กระโดดเข้าสู่โลก DeFi ผ่านการทำ Yield Farming มากขึ้นเรื่อยๆ และมีไม่น้อยที่ต้องขาดทุนเพราะหลงใหลไปกับตัวเลขผลตอบแทนของหลายๆ ฟาร์มที่โชว์ในระดับหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงของราคาเหรียญที่เหวี่ยงขึ้นลง ทำให้หลายรายต้องบาดเจ็บ ขาดทุน กลายเป็นชาวดอยในท้ายที่สุด 

 

THE STANDARD WEALTH ชวนไปหาคำตอบและเทคนิคการเลือกเหรียญ หรือ ‘คู่เหรียญ’ ในการทำฟาร์ม จาก ‘กูรู’ ในโลกคริปโตฯ เพื่อเรียนรู้ว่า ‘ฟาร์มอย่างไรไม่ให้ขาดทุน’

 

คิม-กานต์นิธิ ทองธนากุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน Merkle Capital ผู้ก่อตั้งเพจ Bitcoin Addict Thailand และเพจ Kim DeFi Daddy กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย อธิบายให้ฟังว่า จริงๆ แล้ว DeFi ก็คือสถาบันการเงินรูปแบบหนึ่ง เหมือนกับที่ทุกคนฝากเงินกันอยู่ เพียงแต่รูปแบบของ DeFi ไม่มีตัวกลางที่เป็นสถาบันการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์เท่านั้น 

 

ดังนั้นหากมองในมุมนี้ ‘การฟาร์มเหรียญ’ จึงคล้ายกับ ‘การฝากเงิน’ นั่นเอง ซึ่งการฝากเงินก็ไม่ควรมีความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง หากนักลงทุนเลือกไปลงทุน หรือฟาร์มในแพลตฟอร์มที่ปลอดภัย เช่น การเลือกคู่เหรียญที่เป็น Stablecoin หรือเหรียญที่มีสินทรัพย์หนุนหลังอยู่ อาทิ USDT, BUSD, USDC และ UST การลงทุนฟาร์มเหรียญเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคาเหรียญได้อย่างมาก และช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการเป็นชาวดอยได้อย่างดี

 

“ตัวเหรียญที่เราไปฝากนั้นจะอิงกับค่าเงินดอลลาร์ ความผันผวนจึงค่อนข้างต่ำ และให้ผลตอบแทนที่ดีในระดับ 10-20% ต่อปี ซึ่งนับว่าไม่น้อยเมื่อเทียบกับการฝากเงินในรูปแบบเก่าที่ได้ผลตอบแทนไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ”

 

นอกจากนี้คิมยังเตือนด้วยว่า อย่าหลงไปกับตัวเลข APR (Annual Percentage Rate หรืออัตราผลตอบแทนร้อยละต่อปี) ที่สูง ซึ่งบางฟาร์มอาจโชว์ APR ในระดับ 300% ต่อปี แต่เหรียญที่ต้องนำมาฟาร์มเหล่านี้ไม่ใช่ Stablecoin และมักจะมีการเคลื่อนไหวของราคาที่ผันผวนสูง ดังนั้นแม้ผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนจากการทำฟาร์มในระดับ 300% ต่อปี แต่ถ้าราคาเหรียญปรับตัวลงแรงๆ ก็เสี่ยงที่จะขาดทุนหนักได้เช่นกัน

 

สำหรับนักลงทุน ‘สายซิ่ง’ ที่ต้องการเลือกคู่เหรียญซึ่งไม่ใช่ Stablecoin แต่ยังสามารถลงทุนได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ขาดทุนมากจนเกินไปนั้น คิมแนะนำว่าควรเลือกเหรียญที่มีสภาพคล่องสูงๆ และมีมาร์เก็ตแคปมากๆ เพราะสะท้อนว่าเป็นเหรียญที่คนยอมรับ ดังนั้นแม้ราคาจะมีความผันผวนสูงบ้าง แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าเหรียญที่เพิ่งเกิดใหม่ ซึ่งยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ตัวเอง 

 

“เหรียญที่เพิ่งเกิดใหม่หรือที่มีสภาพคล่องต่ำ มาร์เก็ตแคปไม่สูงมาก เหรียญเหล่านี้มักจะยังไม่เคยเผชิญแรงขายหนักๆ มาก่อน ถ้าวันใดเกิดมีคนเทขายออกมาพร้อมๆ กัน จนตลาดเกิด Panic Sell ก็อาจทำให้ราคาเหรียญลงมาได้มากกว่า 80-90% หรือบางเหรียญอาจจะเสื่อมมูลค่าไปเลยก็ได้ การลงทุนในเหรียญเหล่านี้จึงต้องระมัดระวังอย่างสูง”

 

คิมบอกด้วยว่า ถ้าไปดูเหรียญที่มีมูลค่าสูงๆ เช่น Bitcoin, Ethereum หรือ BNB จะเห็นว่าเหรียญเหล่านี้ผ่านความผันผวนครั้งใหญ่ๆ มาหลายครั้ง แต่ก็ยังมีดีมานด์หรือความต้องการซื้อเหรียญอยู่ตลอดเวลา ราคาจึงสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว และไม่เหวี่ยงมากเท่าเหรียญเกิดใหม่อื่นๆ 

 

อย่างไรก็ตามนักลงทุนต้องไม่ลืมว่า การลงทุนในทุกสินทรัพย์มีความเสี่ยง เช่นเดียวกับการลงทุนในโลก DeFi ก็ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโลก DeFi ด้วยเช่นกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising