×

มิถุนายนปรับพอร์ต ‘แนวตั้งรับ’

09.06.2023
  • LOADING...
แนวตั้งรับ

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ โดยมีเรื่องหลักคือเรื่อง Debt Ceiling หรือเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ถัดมาเป็นเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย ส่วนเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของไทย รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และยุโรป กล่าวโดยสรุปคือยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดกันต่อไปครับ

 

เรามาเริ่มจากสหรัฐฯ ก่อนเลยครับ เพดานหนี้สาธารณะ หรือ Debt Ceiling เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ไม่มีประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์เลย เพราะการพิจารณางบประมาณประจำปีจบไปแล้ว แต่ก็เป็นเกมการหาเสียงมากกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็เคยกลายเป็นตลกร้ายในสมัย บารัก โอบามา นั่นคือเหตุการณ์ Government Shutdown อันลือลั่น ผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องไปหลายปี นักการเมืองทั้งสองพรรคถูกประชาชนเทไปหลายรัฐ ทำเอาผู้แทนหน้าเก่าๆ หายไปจากสภาหลายคน รอบนี้ก็ผ่านไปได้แบบเฉียดฉิวมาก และทำให้ตลาดการเงินโลกปั่นปวนไปเหมือนกัน

 

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์หลายคนที่เห็นถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ก็รู้สึกว่าความเข้มลดลง แต่ยังไม่ทันไร Fed Member หรือ Fed ที่เป็นตัวแทนรัฐในหลายพื้นที่ได้ออกมาพูดถึงอัตราเงินเฟ้อในหลายภูมิภาคของสหรัฐฯ ที่ยังคงสูงอยู่ ทำให้กระแสตีกลับมาว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งก็เป็นได้

 

ขณะที่สถานการณ์ด้านยูโรโซนปัจจัยเรื่องอัตราเงินเฟ้อน่าจะเป็นเรื่องยากที่จะควบคุม เพราะยังกังวลต่อปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับสถาบันการเงิน ทำให้การใช้นโยบายทางการเงินดูจะขาดความเป็นเอกภาพ ทำได้แค่ประคองเศรษฐกิจไปก่อน ที่ดูดีและมีตำหนิน้อยหน่อยคือเอเชีย ที่มีติ่งปัญหาแค่เรื่อง Geopolitical หรือการเมืองระหว่างประเทศ โดยมีจีนและสหรัฐฯ เป็นแกนกลางของปัญหา

 

มาต่อกันที่เรื่องในบ้านเราหน่อยครับ ร้อนแรงต่อเนื่องคือเรื่องการเมือง สืบเนื่องจากการเลือกตั้งในประเทศไทยผลออกมาก็ตามที่ทราบกันว่าน่าจะมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลอย่างชัดเจน แต่รอบนี้ปากกาผมหักคามือ เพราะไม่มี Election Rally แต่กลายเป็น Sell in May and Go Away มาแรงกว่า เพราะมีแรงขายออกจากตราสารทางการเงินทุกประเภทโดยนักลงทุนต่างชาติตลอดช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม และผมเดาว่าน่าจะต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมิถุนายน โดยปัจจัยหลักมองว่าผลการเลือกตั้งก็เป็นส่วนหนึ่ง เรื่องนโยบายของพรรคแกนนำผมไม่ขอแตะ เพราะหาอ่านได้ทั่วไป จริงบ้าง ใส่ไข่บ้าง อันนี้ต้องไปแยกแยะกันเอง แต่เอาที่แน่ๆ คือ ความกังวลต่อการใช้งบประมาณที่น่าจะล่าช้าถึงช้ามาก มีโอกาสที่จะมีเวลาการใช้งบประมาณไม่ถึง 9 เดือน และอาจจะผลักดันงบประมาณออกไปได้ไม่ถึง 70% ซึ่งจะส่งผลถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

 

มาถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีการประชุมเยอะมาก ตั้งแต่ประชุม OPEC ในวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ตลาดไม่ได้รับรู้การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย ต่อมาก็เป็น Fed ประชุมประมาณวันที่ 13-14 มิถุนายน ตอนแรกทรงดีมากว่าไม่น่าจะขึ้นแล้ว แต่จากข้อมูลที่ออกมาเรื่อยๆ ก็พบว่าน่าจะต้องปรับขึ้นอีกสักรอบ Fed Member หลายคนก็ออกมาขานรับการขึ้นอีกครั้ง กลางเดือนก็ประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยมีแนวจะคงนโยบายการเงินแบบตึงตัวไว้ก่อน มาทางเอเชีย ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะปรับกรอบ Yield Curve Control ให้กว้างขึ้นอีกหน่อย เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยโลก

 

ปรับพอร์ตการลงทุนเดือนมิถุนายนเป็นแนวตั้งรับมากขึ้นครับ โดยจะปรับลดการลงทุนในหุ้นลงจาก 50% เป็น 45% แบ่งเป็นสหรัฐฯ และจีน รวมกันไม่เกิน 15% เนื่องจากประเด็นในเรื่องของความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ส่วนญี่ปุ่นคงน้ำหนักไว้ที่ 10% เพราะกลุ่ม Technology เริ่มฟื้นตัวขึ้น ไม่มีปัญหาเรื่อง Supply Chain แล้ว และประเทศไทย 20%

 

สำหรับตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 20% เป็นตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade ประมาณ 10% ตลาดเงิน 10% ทอง น้ำมัน และ REIT รวมกันประมาณ 15% โดยเน้นไปที่ REIT เพราะอัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะสูงไปกว่านี้มากนัก ในขณะที่อัตราเงินปันผลเฉลี่ยของ REIT ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 6% และได้สัญญาณบวกจากการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising