เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา วงการเทคโนโลยีและการลงทุนทั่วโลกต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงสำคัญ เมื่อ DeepSeek สตาร์ทอัพจากจีน เปิดตัวโมเดล AI ที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำ ส่งผลให้เกิดการประเมินมูลค่า (Revaluation) หุ้นเทคโนโลยีทั่วโลกครั้งใหญ่
หุ้นเทคในสหรัฐฯ มีทั้งปรับตัวขึ้นและลง แต่ที่หนักที่สุดคือบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง NVIDIA ที่มูลค่าตลาดลดลงถึง 17% ในวันเดียว คิดเป็นมูลค่ากว่า 5.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าหุ้นไทยทั้งตลาด เป็นบทเรียนแรกที่นักลงทุนไทยต้องทำความเข้าใจในปี 2025
เรื่องที่ต้องรู้คือ AI เปลี่ยนโลกแน่ แต่การเปลี่ยนแปลงอาจไม่เป็นเส้นตรง หรือโค้งขึ้น Exponential เหมือนที่ผู้นำในอุตสาหกรรมมักบอกกับเรา
เรื่องเล่าที่เราได้ยินแทบทุกวันคือ AI จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ดังนั้นใครที่มีเครื่องมือ AI ประสิทธิภาพสูงกว่าจะยิ่งได้เปรียบกว่า
Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft เคยเล่าเพิ่มไปอีกว่า AI จะก่อให้เกิด Jevons Paradox ในอุตสาหกรรมเทคฯ แปลเป็นความหมายที่เข้าใจง่ายได้ว่า แม้เทคโนโลยีทำให้มนุษย์ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ท้ายที่สุด ความต้องการเทคโนโลยีจะสูงมาก จนส่งผลให้ปริมาณความต้องการทรัพยากรโดยรวมเพิ่มขึ้นมากกว่าที่จะลดลง
แต่ DeepSeek ลบเรื่องเล่าทั้งสองอย่างรวดเร็ว ด้วยการแสดงให้เห็นว่า การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการพัฒนา AI อาจไม่ต้องการทรัพยากรที่สูงขึ้นเสมอไป
ต่อจากนี้ บริษัทผู้นำด้าน AI จึงจะต้องพิจารณาแนวทางใหม่ในการพัฒนาด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะเน้นทุ่มเงินลงทุน และหวังเพียงผลลัพธ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจเท่านั้น
ประเด็นต่อมาคือ DeepSeek เปลี่ยนธุรกิจ AI และทำให้ตลาดต้องปรับแนวคิดใหม่
ผมเคยให้มุมมองเชิงกลยุทธ์สำหรับการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีไว้ว่า
เงินลงทุนจะเริ่มจากการกระจุกตัวใน Pioneers (นักบุกเบิก) ต่อจากนั้นจะเคลื่อนตัวไปยัง Enablers (ผู้เปิดทาง) ก่อนที่จะกระจายตัวไปสู่ Adaptors (นักประยุกต์) และท้ายที่สุดผู้ที่จะทำกำไรต่อขนาดมากที่สุดจะเป็น Performers หรือนักสร้างสรรค์
แต่ปี 2024 เป็นปีที่ตลาดวนเวียนอยู่กับนักบุกเบิกเช่น NVIDIA และ OpenAI และผู้เปิดทางยักษ์ใหญ่กลุ่ม Magnificent 7 เป็นหลัก
ส่วนตัวผมมองว่า ต่อให้มีบริษัทเทคฯ ขนาดเล็กในสหรัฐที่ทำประสิทธิภาพได้ดีเหมือน DeepSeek ตลาดก็อาจไม่ถึงกับเคลื่อนตัวไปสู่นักประยุกต์หรือนักสร้างสรรค์ได้
แต่ DeepSeek ไม่ใช่แค่การพัฒนา หรือแค่ประสิทธิภาพ แต่เป็น “AI จากจีน” ที่ตลาดมองเป็นคู่แข่งหลัก จึงจุดชนวนให้ตลาดตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นผู้นำของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ จนเกิดการเปลี่ยนกลุ่มการลงทุนทันที
ผมมองว่าเหตุการณ์นี้เป็นจังหวะแผ่นดินไหว ทำให้เปลือกโลก AI เคลื่อนตัวไปอย่างไม่ย้อนกลับและต่อจากนี้
Pioneers จะไม่สามารถตั้งราคาบริการแพงผิดปรกติได้อีก
Enablers จะไม่สามารถลงทุนมหาศาลโดยไม่สนใจการทำกำไรได้
Adaptors จะมีทางเลือกมากขึ้น และจะยิ่งเห็นตลาดที่เปิดกว้างมากขึ้น
ส่วน Performers จะเกิดขึ้นในอัตราเร่งขึ้น สวนทางกับค่าบริการ AI ลดลง
ท้ายที่สุด ปี 2025 อาจถึงเวลาแล้วที่สิ่งสำคัญของการลงทุนจะเปลี่ยนจาก Growth At Any Cost ไปสู่ Growth At Reasonable Price
ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนม.ค.กลุ่มที่ทำผลตอบแทนแย่ที่สุดคือ หุ้นสหรัฐ Semiconductor และ Energy Infrastructure ส่วนกลุ่มที่ผลตอบแทนดีประกอบด้วย หุ้นยุโรป Communication และ Healthcare
เห็นได้ชัดว่าตลาดขายทำกำไรกลุ่มเติบโต (Growth) และกระจายตัวไปหาหุ้นปลอดภัย สายคุณค่า (Value)
อย่างไรก็ดี ผมมองว่า DeepSeek ไม่ใช่เหตุการณ์ที่สามารถตีความได้ว่าหุ้นเทคโนโลยีจะกลับทิศ ในทางตรงข้าม ผมกลับมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ตลาดเริ่มต้นปีด้วยการใช้เหตุผลและ Valuation ในการตัดสินใจมากขึ้น
เช่นในกรณีของ NVIDIA ผมเชื่อว่าการ Sell-Off จะไม่เกิดขึ้นแรงขนาดนี้ ถ้าหุ้นไม่ได้ซื้อขายกันบนระดับราคาต่อยอดขาย (P/S) ที่สูงกว่า 20 เท่า หมายความว่านักลงทุนกำลังจ่ายเงินซื้อหุ้นของ NVIDIA ด้วยราคาที่เท่ากับยอดขายในอนาคต 20 ปีแบบไม่มีต้นทุน ในอดีตไม่มีบริษัทไหนสามารถรักษาระดับราคาสูงแบบนี้ได้ในระยะยาว
ขณะเวลาเดียวกัน เราก็เห็นบริษัทเทคฯ ใหญ่อย่าง Meta ที่วางตัวกว้างๆ เป็นทั้ง ผู้เปิดทาง นักประยุกต์ และนักสร้างสรรค์ ด้าน AI ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด แม้ Meta จะลงทุนสูงไม่ต่างจากเพื่อนในกลุ่ม Magnificent 7 แต่ด้วยกลยุทธ์การสร้างธุรกิจที่หลากหลายทำให้มี P/S เริ่มต้นที่ต่ำเพียง 9.5 เท่า เป็นส่วนผสมหลักที่ทำให้กลายเป็นคำตอบ “ถูกทุกข้อ” ที่มักเป็นเป้าหมายของนักลงทุนในช่วงที่มุมมองของตลาดกำลังเปลี่ยนแปลง
DeepSeek เป็นบทเรียนแรกของปีที่กำลังบอกเราว่า การแข่งขันด้านเทคโนโลยียังไม่มีผู้ชนะที่แท้จริง การแข่งขันจะยิ่งร้อนแรงขึ้น การกระจุกตัวของตลาดจะเปลี่ยนจากโอกาสเป็นความท้าทาย และการประเมินมูลค่าของบริษัทยังมีความสำคัญ
แม้ว่าธุรกิจดีแค่ไหน แต่ระดับราคาสูงเกินไป ก็อาจไม่ใช่การลงทุนที่ดีได้เหมือนกันครับ
ภาพ: NurPhoto / Contributor / Getty Images