×

บอย โกสิยพงษ์, นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงแห่งอนาคต ที่เขียนเพลงจากวันวาน เพื่อต่อว่าตัวเองในตอนนี้

02.07.2019
  • LOADING...

เป็นเรื่องธรรมดาที่ถ้าลองจัดเพลย์ลิสต์เพลงโปรด แล้วจะมีเพลงที่ถูกเขียนขึ้นจากปลายปากกาของ ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค และ บอย โกสิยพงษ์ อยู่ในนั้น 

 

แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ที่นักแต่งเพลงยืนหนึ่งเจ้าของเพลงฮิตนับร้อยจากยุคบุกเบิกของค่ายแกรมมี่ และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ที่อยู่ในทุกกระบวนการและสายพานการผลิตเพลงรักเชิงบวกของเบเกอรี่ มิวสิค (และ LOVEiS ในปัจจุบัน) จะได้มานั่งพูดคุย แต่งเพลง และจัดคอนเสิร์ตร่วมกันสักครั้งหนึ่ง 

 

พูดให้ง่ายที่สุด The Lyrics Of Love: Greatest Hits of Dee & Boyd คือโปรเจกต์คอนเสิร์ตที่รวมเพลงฮิตตลอดระยะเวลา 35 ปีของดี้ และอีก 25 ปีของบอยไว้ด้วยกัน โดยมี 10 ศิลปินชายหญิงคู่ใจมารับหน้าที่ถ่ายทอดบทเพลงเหล่านั้น เพื่อพาแฟนเพลงกลับไปย้อนความทรงจำแสนสุขในวันคืนเก่าๆ ให้กลับมาอีกครั้งและยังมีเพลงใหม่ที่พวกเขาแต่งร่วมกันเป็นครั้งแรก เป็นโบนัสแทร็กที่มอบให้กับแฟนเพลงทุกคน 

 

แต่พูดให้ยากกว่านั้น The Lyrics Of Love: Greatest Hits of Dee & Boyd คือคอนเสิร์ตที่บอกเล่าเส้นทางและพัฒนาการของ 2 นักแต่งเพลงแห่งยุค ที่เมื่อเวลาผ่านไปก็ยังเกิดความสงสัย คำร้องที่ตัวเองเคยแต่ง พาลไปถึงขั้นโมโหของดี้ ที่ต้องแต่งเพลงแก้เพลงของตัวเอง และคำพูด “แกมันตื้น” ที่บอยใช้บอกกับตัวเอง ในวันที่ต้องพบเจอกับเรื่องราวเหล่านั้นด้วยตัวเองจริงๆ 

 

 

ขอเริ่มที่บอยก่อน รู้จักนักแต่งเพลงที่ชื่อ นิติพงษ์ ห่อนาค ครั้งแรกตั้งแต่ตอนไหน

บอย: จากเพลง เข้าใจ ของวงเฉลียงครับ แล้วก็เพลงของพี่เต๋อ (เรวัต พุทธินันทน์ – หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่) หลังจากนั้นก็ตามมาเรื่อยๆ เพราะชื่นชอบในวิธีแต่งเพลงของเขา ปกติผมไม่ขอลายเซ็นศิลปินนะ แต่วันหนึ่งเจอพี่ดี้ที่ร้านอาหารสีฟ้า สาขาสยาม ผมตื่นเต้น รีบไปขอลายเซ็นเลย เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากแต่งเพลงให้ได้คมชัดและคมคายแบบที่เขาทำ

 

ตอนนั้นทุกอัลบั้มของแกรมมี่ต้องมีเพลงที่พี่ดี้แต่ง พอผมฟังแล้วก็จดว่าเขาเขียนท่อนเวิร์สแบบนี้ คอรัสแบบนี้ ลองเอาบรรทัดแรกของท่อนเวิร์สกับบรรทัดแรกของคอรัสมาดูว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร ซึ่งผมเข้าใจเอาเองนะว่าเขาจะมีวิธีย่นเรื่องให้เราอ่านแค่บรรทัดแรกแล้วเข้าใจทั้งเพลงได้ทันที 

 

เพลง เข้าใจ

 

ดี้: แต่พี่ไม่รู้หรอก (หัวเราะ) ไม่เคยวิเคราะห์ว่าเราทำอะไรยังไง เหมือนให้นักฟุตบอลอธิบายว่าเขาเตะบอลไซด์โค้งเข้าประตูได้ยังไง ก็จะชะงักนิดหนึ่งนะ เพราะไม่รู้ตัวหรอก ตอนนั้นเราก็เป็นแบบนั้น ไม่ได้คิดว่าเพลงที่แต่งจะต้องเป็นยังไง รู้สึกแค่ว่าเราต้องพูดจาให้รู้เรื่อง 

 

ตอนนั้นแกรมมี่มีคนแต่งเพลงอยู่คนเดียว แต่มีศิลปินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ฉิบหายแล้วกู จะทำยังไงดี (หัวเราะ) ต้องไปหาคนมาช่วย ก็ได้รุ่นน้องที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พี่เต๋อก็ตามคนนั้นคนนี้มาช่วย แล้วมันต้องมีวิธีบอกเรื่องการแต่งเพลง เพราะทุกคนไม่เคยเป็นนักแต่งเพลงมาก่อน เลยต้องมานั่งคิดว่า เอ๊ะ ไอ้ที่เราทำไปนี่มันทำยังไงบ้างนะ เพื่อเอาไว้บอกได้ว่าอันไหนควรจะได้แล้ว หรืออันไหนยังไม่ได้ ก็พยายามเขียนเป็นหลักการ ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่เคยใช้หลักนั้นเลย 

 

บอย: สิ่งที่คล้ายพี่ดี้คือ ในยุคนั้นคนแต่งเนื้อก็มีผมอยู่คนเดียวเหมือนกัน (หัวเราะ) มีช่วงต้องคิดเหมือนกันว่า เอ๊ะ ทำยังไงดีเราถึงจะเพิ่มจำนวนคนได้ ก็ใช้วิธีแบบที่บอก คือเอาเพลงของพี่ดี้ เอาเพลงของหลายๆ คนมาวิเคราะห์ นั่งฟังไอ้ทำนองแบบนั้น ดนตรีแบบนี้มันอยากพูดอะไรกับเรา พอจับจุดได้ก็จะใส่เนื้อเพลงแต่ละท่อนตามฟังก์ชันที่มันมี 

 

เหมือนปลูกเรือน ปลูกบ้าน ต้องมีประตูเอาไว้เปิด มีหน้าต่างเอาไว้รับลม เหมือนเป็นแผนที่คร่าวๆ ให้เห็นภาพใกล้เคียงกัน เวลาคุยกับนักแต่งเพลงที่รวมตัวกันก็จะได้มีภาษาเดียวกัน โดยมีเสาหลักที่เบเกอรี่ตั้งเอาไว้โดย สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ (หนึ่งในผู้ก่อตั้งค่ายเบเกอรี่ มิวสิค) ว่าต้องเป็นเพลงรักบวก ให้มองทุกอย่างเป็นแง่บวก ที่พวกเรายึดประเพณีนั้นมาแล้วใช้มาจนปัจจุบัน 

 

 

ถ้าโจทย์ของเบเกอรี่คือเพลงรักบวก แล้วโจทย์ส่วนใหญ่ของแกรมมี่ที่ดี้ได้รับเป็นแบบไหน 

ดี้: ขึ้นอยู่กับศิลปิน แล้วแต่บุคลิก ท่าทาง ลักษณะนิสัย แล้วก็จินตนาการของเราว่าอยากเห็นเขาเป็นแบบไหน ถ้าสังเกตในช่วงหนึ่ง ประมาณยุค 80 ที่วงการเพลงนิยมเอาดารามาเป็นนักร้อง ที่บุคลิกเวลาอยู่ในหนังหรือละครก็จะดราม่ามาก พอเปิดมาแบบนั้นปุ๊บ เราเลยต้องเขียนอะไรที่เป็นดราม่าไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งก็มีทั้งบวกและลบนะ แต่ส่วนใหญ่ความท้าทายจะอยู่ที่ด้านลบมากกว่า 

 

เพราะคนในโลกนี้ผิดหวังมากกว่าสมหวัง คนชนะมีอยู่คนเดียว คนแพ้มีเป็นสิบ เพราะฉะนั้นไม่ว่าศิลปะอะไรก็ตามแต่ ส่วนใหญ่มักจะตอบโจทย์เรื่องความเจ็บปวดเยอะ มันเลยมีเพลงเหล่านั้นอยู่ แต่ก็อย่างที่บอกว่าตามบุคลิกด้วยนะ ถ้าเป็นอย่างพี่โต๊ะ (วสันต์ โชติกุล) เดินเข้ามาแบบนี้ ดูยังไงแกก็ไม่ใช่คนจะมาดราม่า กระฟัดกระเฟียดอะไรกับใครแน่ๆ

 

คนในโลกนี้ผิดหวังมากกว่าสมหวัง คนชนะมีอยู่คนเดียว คนแพ้มีเป็นสิบ เพราะฉะนั้นไม่ว่าศิลปะอะไรก็ตามแต่ ส่วนใหญ่มักจะตอบโจทย์เรื่องความเจ็บปวด

 

 

นักแต่งเพลงรุ่นพี่ที่ชื่อ นิติพงษ์ ห่อนาค ได้รู้ว่ามีนักแต่งเพลงที่ชื่อ บอย โกสิยพงษ์ อยู่บนโลกนี้ครั้งแรกตอนไหน

ดี้: ได้ยินพร้อมๆ กับชื่อ เบเกอรี่ มิวสิค แล้วก็รู้สึกว่า มันตั้งชื่อบริษัทเพลงว่าเบเกอรี่ได้ด้วยเหรอ (หัวเราะ) ซึ่งให้อารมณ์ความเป็นโฮมเมด แล้วตอนนั้นแกรมมี่เป็นเหมือนห้าง ดูปุ๊บก็รู้ว่ามีความแตกต่าง รวมทั้งพวกดนตรี สไตล์ต่างๆ นานา โอ้โห เพลงเขามาแบบที่เราชอบตอนฟังเพลงยุค 70 พวกเพลงโซล คนผิวสี ซึ่งในเมืองไทยมีน้อย แกรมมี่ก็อาจจะมีผสมความเป็นโซลบ้าง แต่กลิ่นยังไม่ชัดเท่า 

 

ประกอบกับคำร้องอย่างที่บอยบอกว่าเป็นความรักแบบบวก มีความสุข สดชื่นสวยงาม ในขณะที่เราทำแบบเลือดตกยางออกมาตลอด เลยยิ่งรู้สึกว่ามันเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา ยิ่งนั่งฟัง ดูองค์ประกอบหลายๆ อย่างก็ยิ่งชอบ ชื่นชม ไปจนถึงอิจฉาว่าทำไมเราทำแบบนั้นไม่ได้บ้างวะ เพราะเมื่อเป็นอุตสาหกรรมมันต้องมีการแข่งขันเป็นธรรมดา เราก็คิดว่าทำยังไงให้ได้แบบนั้นบ้าง แต่ในที่สุดก็ทำไม่ได้หรอก เพราะวิญญาณเป็นคนละวิญญาณกัน ซึ่งล้วนมีดีในแบบของมัน 

 

ในฐานะนักแต่งเพลงที่แต่งเพลงออกมาเป็นจำนวนมาก มักจะรู้สึกอย่างไรเวลากลับไปฟัง หรือได้ยินผลงานของตัวเองจากที่ไหนสักแห่ง

ดี้: ของผมฟังครั้งเดียวว่าแต่งเสร็จแล้วเป็นยังไง ถ้าส่งออกไปเป็นแผ่นแล้วคือจบเลย ไม่มีพฤติกรรมของการเอามานั่งฟังด้วยความชื่นชมเปรมปรีดี๊ด๊าอะไรทั้งนั้น ทำหน้าที่ของเราเสร็จแล้ว ถ้าเกิดคนเขาชอบหรือมันดังขึ้นก็มาก็เรื่องของมัน  

 

เพราะถ้าอยู่ในบทบาทคนฟังเพลง ส่วนใหญ่ผมจะฟังเพลงผ่านวิทยุ แบบเปิดไปเรื่อยๆ คาดเดาไม่ได้ และเราจะได้ไม่ต้องสนใจว่าเป็นเพลงของใคร บางทีถ้าเปิดแล้วได้ยินเพลงของตัวเองแล้วชอบ ก็จะชอบแบบคนฟังทั่วไป ไม่ได้ชอบหรือยินดีเพราะว่าเราเป็นคนแต่ง ไม่ใช่ของเรา มันเป็นของสาธารณะไปแล้ว 

 

บอย: ของผมพอแต่งเพลงเสร็จก็จะควบคุมไปถึงขั้นตอนการโปรดิวซ์ การคุมร้อง เป็นคนดูแลเรื่องการมิกซ์เสียงว่าออกมาเป็นยังไง ไปถึงขั้นเรียงเพลง ขั้นฟังช่องว่างระหว่างเพลงว่าควรจะกว้างยาวเท่าไร เพราะฉะนั้นกว่าจะไปถึงหูคนฟัง ผมใช้เวลาฟังแต่ละเพลงเป็นพันครั้ง พอเสร็จปุ๊บก็จะทิ้ง แล้วไม่กลับไปฟังอีกเลย 

 

หลายคนจะเชื่อว่า บอย โกสิยพงษ์ ดี้ นิติพงษ์ ช่างเข้าใจชีวิต ช่างรู้ว่าอะไรควรไม่ควร ซึ่งไม่จริงนะ มันแค่บังเอิญที่บางทีเขียนไปแล้วมันดูดี โอเค เรารู้ว่าสิ่งที่ดีคืออะไร แต่ถามว่าเราทำได้ไหม เราทำไม่ได้หรอก จนกระทั่งวันที่ได้รู้ด้วยตัวเอง

 

 

มีเพลงไหนของตัวเองบ้างไหมที่ถ้าบังเอิญได้ยินเมื่อไรแล้วจะรู้สึกว่าเราชอบเพลงนี้จังเลย 

ดี้: มี แล้วก็ไม่ได้มีแค่ชอบ มีหลายอารมณ์เลย ฟังแล้วโมโห โกรธตัวเองว่ามึงแต่งออกมาได้ยังวะ อย่างเพลง ก้อนหินก้อนนั้น (โรส-ศิรินทิพย์ หาญประดิษฐ์) นี่ฟังแล้วมีหลายอารมณ์ที่สนุกสนานมาก บางอารมณ์ก็คิดว่าตัวเองฉลาด แต่บางทีทำตัวไม่ฉลาด แล้วมาฟังเพลงนี้จะรู้สึกโมโหมาก เพราะเหมือนว่ามันกำลังด่าเราอยู่ (หัวเราะ)

 

บอย: บางเพลงก็รู้สึกว่า เออ ในวันนั้นเราทำได้ดีมากแล้วนะ แต่พอโตขึ้น เจอเรื่องราว เจอปัญหาต่างๆ ในชีวิต แล้วกลับรู้สึกว่าเพลงนี้มันลึกซึ้งไม่พอที่จะไปช่วยเขา 

 

ดี้: ตอนนั้นมันยังไม่รู้จริงหรอก

 

บอย: มันยังไม่เคยโดน เพราะถ้าโดนจะไม่เขียนคำแบบนี้ออกมา แต่จะใช้อีกคำหนึ่ง ซึ่งผมขอไม่บอกว่าเป็นเพลงไหนนะครับ เพราะไม่อยากให้คนฟังที่เขาชอบเพลงนั้นๆ แล้วเสียความรู้สึกดีๆ ไป แต่รู้ในตัวของเราเองว่า ถ้าเป็นเพลงที่แต่งในวันนี้ มันจะต้องมีเรื่องที่ลึกซึ้งกว่าวันนั้น 

 

 

เพลง ก้อนหินก้อนนั้น

 

ดี้: พี่แต่งเพลงแก้เลยนะบอย ก้อนหินก้อนนั้น เป็นเพลงให้กำลังใจ คนชอบกันมากเลย แต่บางทีกลับมาฟังก็โมโห โอ้โห ทำไมมันรู้ดีนัก แต่งแก้เลยเป็นเพลง ก้อนหินของฉัน ของ เก่ง อธิป แต่ไม่ค่อยมีใครได้ยินหรอก ความหมายคือ นึกว่าง่ายนักเหรอ การทิ้งก้อนหินน่ะ เพราะก้อนหินของทุกคนไม่เท่ากัน มันเอามาเทียบกันไม่ได้ คนแต่งเพลง ก้อนหินก้อนนั้น มันไม่เข้าใจหรอก (หัวเราะ) ไม่ได้หมายความว่าไม่เชื่อในเพลงนั้นแล้วนะ มันก็เป็นเพลงที่ดี แต่แค่เรามีอารมณ์แบดบอย อยากกวนขึ้นมา 

 

บอย: บางครั้งก็จะรู้สึกว่า เราเป็นนักแต่งเพลงแห่งอนาคตจริงๆ เพราะแต่งแล้วเดี๋ยวมันต้องมาโดนชีวิตของเราในอนาคตสักวันหนึ่ง ซึ่งเราไม่ได้อยากจะให้มันโดนเลย 

 

ดี้: เหมือนเราเคยเขียนเพลงว่า อย่ากินเยอะสิ เดี๋ยวอ้วน อ้วนแล้วก็ป่วย ไม่สบาย แล้วพอผ่านไป 30 ปี เราก็กินเยอะ แล้วก็อ้วนแบบนั้นด้วย พอกลับมาอีกทีก็จะรู้สึกว่า ไอ้คนแต่งเพลงมันไม่เข้าใจความรู้สึกของคนอยากกินเยอะหรอก (หัวเราะ) 

 

หลายคนจะเชื่อว่า บอย โกสิยพงษ์ ดี้ นิติพงษ์ ช่างเข้าใจชีวิต ช่างรู้ว่าอะไรควรไม่ควร ซึ่งไม่จริงนะ มันแค่บังเอิญที่บางทีเขียนไปแล้วมันดูดี โอเค เรารู้ว่าสิ่งที่ดีคืออะไร แต่ถามว่าเราทำได้ไหม เราทำไม่ได้หรอก จนกระทั่งวันที่ได้รู้ด้วยตัวเอง 

 

ในหลายๆ สถานการณ์ของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะโมโหตัวเอง เคยตำหนิคน ทำไมดำ ทำไมขาว ทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมอ่อนแอแบบนี้ ทำไมแข็งแบบนี้ ทำไมเหลวอย่างนี้ ถ้าเป็นฉัน ฉันไม่ทำแบบนั้นหรอก นั่นก็เพราะว่าเราไม่เคยเป็นแบบนั้นไง พอวันหนึ่งได้มาอยู่ในรองเท้าคู่เดียวกับเขา อ๋อ เข้าใจแล้ว ไอ้เพลงนั้นที่เราแต่ง แหม มาทำเป็นรู้ดีไปหมด 

 

บอย: ผมถึงขั้นว่าฟังบางเพลงที่ตัวเองแต่งให้กำลังใจแล้วบอกเลยว่า บอย แกมันตื้น

 

 

เพลง ก้อนหินของฉัน 

 

ในยุคหนึ่งจะมีกระแสของแฟนคลับค่ายเพลงแต่ละค่ายที่ออกมาแอนตี้เพลงของค่ายขั้วตรงข้าม ในฐานะนักแต่งเพลงของสองค่ายใหญ่ รู้สึกอย่างไรเวลาได้ยินคำพูดทำนองนี้บ้าง 

บอย: ก็คิดในใจว่าเรายังฟัง เรายังซื้อทุกอัลบั้มอยู่เลย (หัวเราะ) 

 

ดี้: นักแต่งเพลงไม่ได้มีความรู้สึกอย่างนั้นกันนะ อย่างที่เมื่อกี้ว่ามีแต่ชื่นชม อิจฉา ได้เจอบอยครั้งแรกยังคุยกันอยู่เลยว่า เฮ้ย เราคือคนทำเพลง เราคือพวกเดียวกัน เพียงแค่เราทำกันคนละแบบเท่านั้น ในที่สุดแล้วเรื่องความคิดเห็นมีเข้ามาอยู่ตลอด ไม่ว่าเราจะย่ำอยู่กับที่ อยู่กับสูตรสำเร็จเดิม คนก็จะบอกว่าน่าเบื่อ ทำอะไรซ้ำอีกแล้ว โอเค ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวเปลี่ยนใหม่ พอเปลี่ยนก็จะมีคนบอกว่า ของเก่าดีอยู่แล้วจะเปลี่ยนทำไม ของใหม่ไม่เห็นดีเลย อ้าว แล้วจะให้ทำยังไง (หัวเราะ)

 

ซึ่งเป็นนิสัยของคนทำงานอยู่แล้ว ที่อยากทำของใหม่ ที่แปลกแตกต่างขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งแต่ก่อนอาจจะต้องรอคนฟังด้วยนะ ไม่ใช่เอาแต่ใจเราอย่างเดียว แต่ตอนนี้ พ.ศ. นี้ทำได้ เพราะเราไม่ต้องรอใครแล้ว อยากทำอะไรก็ทำเถอะ 

 

บอย: เพราะมันไม่มีความคาดหวังแล้ว 

 

ดี้: เราตามใจเขาไม่ได้ ต่อให้ตามใจไปเขาก็ไม่ฟัง 

 

บอย: เราก็จะมีแฟนๆ ที่ฟังเพลงในยุคของเรา แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ เขาก็ฟังเพลงในยุคของเขา ไม่ได้ฟังเพลงของพวกเรา แต่ถามว่าหยุดศึกษาหรือยัง ผมยังศึกษาและพยายามที่จะเข้าใจถึงการใช้เสียงดนตรี คลื่นความถี่ต่างๆ ของเพลงสมัยนี้เพื่อปลุกเร้าอารมณ์คนในเพลงสมัยใหม่อยู่  

 

ดี้: ผมอาจจะไม่ได้ตามขนาดไปรู้จักวงใหม่ๆ เพราะมีเยอะมาก ตามไม่ไหว แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธอะไร ก็จะมีอย่าง เอ็ด ชีแรน หรือ แซม สมิธ ออกเพลงใหม่นี่ชอบชิบเป๋งเลย ทุกวันนี้ผมปฏิเสธเพลงอยู่ประเภทเดียวเท่านั้น คือเพลงที่ไม่ประณีต ทุกสไตล์ชอบหมด EDM ก็ฟัง ฮิปฮอปก็ซัดด้วยเหมือนกันนะ 

ผมว่า เทย์เลอร์ สวิฟต์ คือหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจมากๆ เป็นคนรุ่นใหม่ที่แต่งเนื้อเพลงได้เก่งจริงๆ แล้วเขาข้ามขั้นเร็วมากๆ

 

 

ถ้ามองเฉพาะเรื่องการเขียนเนื้อร้องอย่างเดียว มองเห็นความน่าสนใจอะไรในผลงานของศิลปินยุคใหม่บ้าง

บอย: ผมว่า เทย์เลอร์ สวิฟต์ คือหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจมากๆ เป็นคนรุ่นใหม่ที่แต่งเนื้อเพลงได้เก่งจริงๆ แล้วเขาข้ามขั้นเร็วมากๆ เป็นอีกหนึ่งงานอดิเรกของผมที่ชอบวิเคราะห์ หาความเชื่อมโยงที่มาที่ไปแต่ละท่อนของเขา ซึ่งจะออกมาอย่างที่คิดหรือเปล่าก็ไม่รู้นะครับ แต่เป็นความสนุกที่เข้าใจในแบบของเราเอง  

 

แล้วก็รู้สึกว่าเพลงของแรปเปอร์เดี๋ยวนี้ใช้คำดีและมีเนื้อหาที่คมคายมาก ไม่พูดถึงเรื่องคำหยาบนะครับ แต่ต้องยอมรับว่าเขาเก่งในการใช้ภาษามากๆ ทั้งที่ไม่ได้มีท่วงทำนองหรือเครื่องดนตรีเยอะ แต่เขาสื่อสารผ่านข้อจำกัดนั้นออกมาได้อย่างคมคายและสะเทือนใจมากๆ มีหลายคนที่ผมเจอแล้วรู้สึกว่าอยากจะเข้าไปศึกษาเขา อยากทำแบบนั้นบ้าง ซึ่งจริงๆ ผมเป็นแรปเปอร์มาก่อนนะครับ แต่เป็นแรปแบบเบาๆ (หัวเราะ) 

 

ดี้: หรือเพลงของ Polycat ที่ฟังไปเรื่อยๆ แล้ว เอ๊ะ ที่สุดเลยเว้ยแก อะไรของมันวะเนี่ย (หัวเราะ) ชอบเลย แม้ว่าไวยากรณ์บางอย่างอาจไม่ตรงกับที่เราคุ้นเคย แต่มันคือภาษาของเขาจริงๆ รู้สึกได้ว่าเขากำลังพูดอะไร และอยากระบายอารมณ์อะไรออกมา 

 

ก่อนอื่นต้องอย่าเอาในยุคของเรามาเปรียบเทียบ ถ้าเป็นตอนนั้นก็ต้องใช้คำว่า ที่สุดในหัวใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ตอนนี้เป็นที่สุดเลยเว้ยแก แล้วจะทำไมล่ะ ถูกแล้วเพราะวันนี้เขาภาษาแบบนี้กันไง อันนี้ผมชอบ ฟังแล้วเราก็อารมณ์ดีไปกับเขาด้วย  

 

 

เทียบกับความรู้สึกในยุคก่อนมาถึงช่วงที่พวกคุณเห็นตรงกันว่าสามารถทำอะไรได้ตามใจ แล้วรู้สึกว่าชีวิตในการเป็นนักแต่งเพลงทุกวันนี้อยู่ในจุดที่มีสนุก และมีความสุขไปกับมันมากน้อยขนาดไหน 

บอย: ส่วนตัวผมก็ตามใจตัวเองมาตลอดนะครับ แต่ยุคนี้จะเป็นแบบทำขึ้นมาแล้วเก็บไว้ฟังเองเยอะมากกว่าปล่อยออกมา อย่างอัลบั้มส่วนตัวปีนี้ก็เข้าปีที่ 8 แล้ว ที่มีความรู้สึกว่าไม่อยากปล่อย เพราะรู้สึกว่าปล่อยไปก็คงไปไม่ถึงคนฟัง แล้วผมก็ไม่สนุกกับการต้องมานั่งโฆษณาหรือโปรโมตให้คนมานั่งฟัง เลยคิดว่าถ้างั้นก็สนุกกับการทำเพลงให้ตัวเองฟังก็พอแล้ว 

 

ถ้ามองในมุมคนนอกจะรู้สึกว่า นี่คือนักแต่งเพลงระดับ บอย โกสิยพงษ์ เลยนะ ทำเพลงออกมาคนก็ต้องฟังอยู่แล้วหรือเปล่า

บอย: ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นแฟนเพลงและรอฟังเพลงของเรา แต่อย่างที่บอกว่าผมไม่สนุกกับการต้องไปวิ่งโปรโมตเหมือนตอนหนุ่ม ตอนนี้ก็คิดหาวิธีสื่อสารกับแฟนเพลงที่มีอยู่ครับ ที่เราจะไม่ต้องไปเหวี่ยงแห ออกทุกสื่อ แล้วเราสามารถสื่อสารกับเขา และให้เขาได้ฟังเพลงของเราโดยตรง 

 

ดี้: ของผมง่ายกว่าบอยเยอะ คือไม่แต่งเลย (หัวเราะ) ไม่มีแม้แต่เพลงที่จะเก็บไว้ให้ตัวเองฟัง เพราะถ้าอยากฟังแบบไหน เราก็เปิดแบบที่เราอยากฟัง อยากฟัง Simon & Garfunkel เหรอ เปิดยูทูบไล่ฟังทั้งคอนเสิร์ตไปเลย 1 ชั่วโมง ฉันชอบแบบนี้ แล้วฉันจะยังแต่งเพลงไปทำไม (หัวเราะ) 

 

กลายเป็นว่าตอนนี้ผมจะแต่งเพลงก็ต่อเมื่อมีวัตถุประสงค์เท่านั้น เช่น ก็แค่โลกหมุนเร็วไป ก็รู้ว่าเดี๋ยวจะมีคอนเสิร์ต The Lyrics Of Love: Greatest Hits of Dee & Boyd เดี๋ยวจะมีเพลงพิเศษที่ได้แต่งร่วมกับบอย พอรู้วัตถุประสงค์ รู้ว่าแต่งไปเพื่ออะไรปุ๊บ อันนี้จะคิดเพลงได้ 

 

เพลง ก็แค่โลกหมุนเร็วไป

 

 

ตั้งแต่เมื่อไรที่ความรู้สึกว่าอยากแต่งเพลงเพราะอยากแต่งด้วยตัวเองจริงๆ เริ่มหายไป

ดี้: มันไม่เคยมีอยู่แล้ว (หัวเราะ) ผมแต่งเพลงเพราะรู้ว่ามีคนให้แต่ง มันคืองาน โชคดีที่เป็นงานที่เราแฮปปี้ที่จะทำ และก็ตั้งใจทำให้มันออกมาดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ตั้งแต่ไหนแต่ไร จากเพลงแรกมาถึงเพลงนี้ ผมเป็นเหมือนเดิมตลอด คือเมื่อรู้ว่าเป็นงาน เมื่อรู้ว่าแต่งไปเพื่ออะไร หลังจากเหมือนเป็นเกมที่เราสนุกไปกับการเล่น ถึงผมไม่อยากแต่งเพลงด้วยความรู้สึกของตัวเอง แต่ยืนยันว่าผมสนุกกับการแต่งเพลงมากนะ หายากมากที่แต่งแล้วจะรู้สึกอึดอัดใจ

 

แต่ถ้าเป็นเพลงที่แต่งเก็บเอาไว้ฟังเองก็จะมีความรู้สึกว่ายังไงฉันก็แต่งเพลงสู้ พอล แม็กคาร์ตนีย์ ไม่ได้หรอก ถ้าอย่างนั้นก็แก้ปัญหาให้ตรงจุดด้วยการฟังเพลงของพอล แม็กคาร์ตนีย์ไปเลยดีกว่า 

 

บอย: นอกจากแต่งเพลงเก็บไว้ให้ตัวเองฟัง อีกความรู้สึกคือผมสนุกที่ได้ฝึก ได้ฟังเพลงคนอื่นแล้วรู้สึกว่า โห แต่งเก่งจัง เราอยากแต่งบ้างจัง พอชีวิตเจออะไรก็แต่งไปเรื่อยมาตลอดเลยครับ ช่วงนี้ชีวิตผมฮอร์โมนหมด แล้วรู้สึกว่าการที่ผมเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้ผมเข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น แล้วก็อยากแต่งเพลงที่ทำให้เขาได้พลังงานบางอย่างของเราไปด้วย แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะเอามาปล่อยเหมือนเดิม ผมมองเหมือนเป็นรูปวาดที่ตั้งเอาไว้ เผื่อวันหนึ่งมีคนมามองเห็น 

 

แต่ไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์หลัก หรือคิดว่าเพลงของเราจะสามารถบำบัดคนอื่นได้นะ ผมแค่แต่งเพลงเพื่อบำบัดตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ได้บำบัดแค่ความซึมเศร้าอย่างเดียว บางทีก็บำบัดความเหงา บำบัดความคิดครอบครัว หรือบางทีก็เอาไว้บำบัดตัวเองในอนาคต ซึ่งมันเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เลย

 

การที่ผมเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้ผมเข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น แล้วก็อยากแต่งเพลงที่ทำให้เขาได้พลังงานบางอย่างของเราไปด้วย แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะเอามาปล่อยเหมือนเดิม ผมมองเหมือนเป็นรูปวาดที่ตั้งเอาไว้ เผื่อวันหนึ่งมีคนมามองเห็น

 

 

อย่างช่วงที่แต่งเพลง ก็แค่โลกหมุนเร็วไป ขึ้นมา ถือว่าเป็นการบำบัดตัวเองได้ขนาดไหน 

บอย: มากเลย ตอนเจอกันก่อนเริ่มแต่งเพลง ผมเล่าให้พี่ดี้ฟังว่าผมเพิ่งเป็นโรคซึมเศร้า แล้วก็เหมือนเขาสอนผมผ่านเนื้อเพลงนี้ที่เขาเขียนขึ้น พอรู้สึกว่าเป็นเพลงที่พี่ดี้แต่งให้ มันก็ยิ่งมีความหมายกับผมเข้าไปใหญ่ เพราะจริงๆ ที่ผมอยากให้มีคอนเสิร์ตนี้ขึ้นมา ก็เพราะผมมีความใฝ่ฝันว่าอยากมีเพลงที่ร่วมแต่งกับกับพี่ดี้ 

 

พอเพลงนี้ออกมา ก็จะขอพี่ดี้ว่าอยากให้มันมีเพลงที่สองที่สามไปได้อีกนะครับ (หัวเราะ) การได้คนที่เราชื่นชอบมาแปลทำนองของเราออกมาเป็นเนื้อเพลง ผมรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่เจ๋งดี แล้วผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าคนจะได้ยินเยอะมากน้อยแค่ไหน เพราะในความรู้สึกมันเติมเต็มผมมากเลย 

 

 

ถ้าคนแต่งเพลงได้บำบัดตัวเอง แล้วคนดูจะได้อะไรกลับไปจากคอนเสิร์ต The Lyrics Of Love: Greatest Hits of Dee & Boyd บ้าง 

บอย: ผมว่าเขาอยากมาฟังเพลงฮิตนะครับ เพลงฮิตในอดีตที่เขาเคยเติบโตมาด้วยกัน 

 

ดี้: จะได้รับความสุขจากการสะกิดความทรงจำบางอย่างด้วยเพลงเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งถ้าบอกว่าเพลงที่เอามาเล่นในคอนเสิร์ตครั้งนี้บอยดี้แต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด เขาคงไม่มากันหรอก เหมือนที่เขาบอกว่ากินบุญเก่าน่ะ ใช่เลย (หัวเราะ) 

 

ทำไมการได้ย้อนกลับไปฟังเพลงเก่าๆ หวนคิดถึงบรรยากาศในอดีต ถึงกลายความสุขที่ผู้คนค้นหา จนเราเห็นโมเดลคอนเสิร์ตแนว ‘Reunion’ รวมฮิตเพลงศิลปินยุคเก่าเกิดขึ้นมากมาย 

 

ดี้: สำหรับผมมันดีในทุกมิติเลยนะ หนึ่งแน่นอนว่ามันเป็นงาน มันทำแล้วได้เงิน (หัวเราะ) สองมันคือการต่ออายุเพลงของเรา เพลงเกือบจะเป็นสิ่งประหลาดสิ่งเดียวในโลก ที่เมื่อไรก็ตามที่มีการนำมาทำใหม่ มันจะกลายเป็นเพลงใหม่ทันที ภาพวาดโมนาลิซาทำไม่ได้นะ ต้องเป็นออริจินัล บ้าน สถาปัตยกรรมยิ่งเก่ายิ่งดี อะไรที่เป็นประวัติศาสตร์เราไปแตะต้องเขาไม่ได้ แต่เพลงคือมีเก่าแค่คำร้องกับทำนอง แล้วเอามาแต่งตัวใหม่ กลายเป็นเพลงของใหม่ทันที ประหลาดมาก 

 

บอย: นอกจากต่ออายุให้เพลง ก็ยังช่วยลดอายุให้กับผู้ชม การได้กลับไปอยู่ในอดีตผู้ชมก็จะรู้สึกเด็กลงไปอีก มวลสารบางอย่างที่หลั่งออกมาจะทำให้มีความสุข อายุก็จะยืนยาวขึ้น เพราะผมจำความรู้สึกเวลาได้ฟังเพลงที่ชอบมากๆ ในอดีต แล้วได้มาฟังในคอนเสิร์ตแบบสดๆ รู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้น มันลดอายุผมได้จริงๆ นะ 

ดี้: นักร้องที่มาก็จะมาช่วยกันต่ออายุเพลง ลดอายุของคนฟังให้ยิ่งขึ้นไปอีก แล้วเป็นคนที่เรียกว่าตัวท็อปที่พวกเราควรทำงานด้วยมาทั้งหมด ไม่น่าจะมีท็อปกว่านี้แล้ว ซึ่งมีเรื่องน่าแปลกที่อยากแชร์ให้ฟังก็คือนักร้องของผมทั้งหมดเป็นผู้หญิง ส่วนนักร้องของบอยก็เป็นผู้ชายหมดเลย แล้วสังเกตอีกว่านักร้องชายของบอย โกสิยพงษ์ เป็นคนสุภาพเรียบร้อย สุภาพน่ารัก นุ่มนวลกันหมด ส่วนนักร้องหญิงของดี้ นิติพงษ์ก็จะเฮี้ยวจัดเกือบทุกคน ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร แต่เมื่อพวกเขามารวมตัวร้องเพลงกัน จะทำให้บรรยากาศแห่งความสุขของวันเก่าๆ กลับมาแน่นอน

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising