×

เปิดบันทึก ‘กฤษฎีกา’ ชี้ ‘กิตติรัตน์’ ขาดคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เจอลักษณะต้องห้าม

26.12.2024
  • LOADING...
กิตติรัตน์

คณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ตามที่กระทรวงการคลังส่งเรื่องมาให้พิจารณา ว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนในการเข้าดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่ 

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดและบอร์ดแบงก์ชาติที่เลื่อนมาต่อเนื่องหลายครั้ง ใช้เวลาถกร่วม 5 ชั่วโมง ก่อนที่จะเคาะชื่อกิตติรัตน์เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

 

โดยคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติทั้ง 7 คน ประกอบด้วย

 

  1. ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
  2. บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์
  3. วิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
  4. วรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
  5. อัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
  6. ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
  7. สุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

 

ในที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะมีมติด้วยเสียงข้างมาก มีความเห็นว่า กิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ขาดหรือไม่ผ่านคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เนื่องจากตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่กิตติรัตน์ได้รับการแต่งตั้งในสมัยรัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากมีส่วนไปเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายของรัฐบาล 

 

ทั้งนี้ เศรษฐา ทวีสิน ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้เศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากขาดคุณสมบัติ

 

THE STANDARD WEALTH จะพาไปเปิดบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีการเป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

เปิดบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 

 

เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีการเป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

กระทรวงการคลังมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 1008/168804 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2567 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ตามที่ประธานกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอชื่อ นาย ก. ให้เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปนั้น

 

กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่มาตรา 18 (4) ประกอบกับมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 บัญญัติลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยไม่มีการกำหนดนิยามคำว่า ‘ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ ไว้

 

กรณีจึงมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ‘ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ มีความหมายครอบคลุมตำแหน่งใดที่มีความเกี่ยวข้องทางการเมือง

 

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นาย ก. เคยดำรงตำแหน่ง (1) ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 กันยายน 2566 และ (2) ประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 316/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 และพ้นจากการดำรงตำแหน่งทั้งสองตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567

 

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจน รอบคอบ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย จึงขอหารือว่าตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เข้าข่ายเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่

 

โดยที่ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ สมควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ 12 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการประชุมของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1 คณะที่ 2 และคณะที่ 13) เพื่อประชุมหารือร่วมกันเป็นพิเศษ

 

 

กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 คณะที่ 2 และคณะที่ 13) พิจารณาข้อหารือของกระทรวงการคลัง โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ผู้แทนกระทรวงการคลัง (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) และผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากการชี้แจงของผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ก่อนการได้รับการเสนอชื่อให้เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นาย ก. เคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิบัติหน้าที่เป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคการเมือง พ. และภายหลังจากที่ลาออกจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 นาย ก. ยังคงปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง พ. โดยการเยี่ยมชมภาคการเกษตรและโคนมในนามพรรคการเมือง พ. เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 และภายหลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 กันยายน 2566 แล้ว นาย ก. ยังคงปฏิบัติภารกิจและลงพื้นที่โดยสวมเสื้อที่มีสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง พ. อยู่ เช่น การลงพื้นที่เพื่อติดตามภารกิจข้าวรักษ์โลก เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 คณะที่ 2 และคณะที่ 13) พิจารณาข้อหารือของกระทรวงการคลังประกอบกับข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วเห็นว่า โดยที่มาตรา 18 (4) แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 บัญญัติลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ประกอบกับมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติให้นำบทบัญญัติมาตรา 18 มาใช้บังคับแก่ประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยโดยอนุโลม

 

ด้วยเหตุนี้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวด้วย 

 

สำหรับการพิจารณาว่าผู้ดำรงตำแหน่งใดจะถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่นั้น

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย) มีความเห็นในเรื่องเสร็จที่ 481/2535 ว่า ‘ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นข้อความที่มีความหมายกว้างกว่าคำว่า ‘ข้าราชการการเมือง’ โดยรวมถึงบรรดาผู้ซึ่งรับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด 

 

โดยงานด้านการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย (Policy) เพื่อให้ฝ่ายปกครองซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหาร (Administration) ให้เป็นไปตามโยบายที่กำหนดนั้น ดังนั้น ‘ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ จึงหมายถึงคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการกฤษฎีกา) ในเรื่องเสร็จที่ 621/2549 และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ในเรื่องเสร็จที่ 139/2547 และเรื่องเสร็จที่ 481/2552 มีความเห็นในทำนองเดียวกัน

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 คณะที่ 2 และคณะที่ 13) พิจารณาแล้วเห็นว่า ในการพิจารณาว่าผู้ดำรงตำแหน่งใดจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ต้องพิจารณาจากองค์ประกอบ 2 ประการ ดังนี้

 

ประการที่หนึ่ง ที่มาของการเข้าสู่ตำแหน่ง การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่ง โดยที่วิธีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 ระบบ ได้แก่ ระบบอุปถัมภ์ (Spoils or Patronage System) ซึ่งเป็นระบบการแต่งตั้งหรือคัดเลือกบุคคลซึ่งเป็นผู้สนับสนุน (Supporter) ให้ดำรงตำแหน่งหรือเข้าทำงานโดยใช้เหตุผลและความสัมพันธ์ทางการเมือง (Cronyism) หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว (Nepotism) เป็นหลัก ส่วนระบบคุณธรรม (Merit System) ซึ่งเป็นระบบที่แต่งตั้งหรือคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งหรือเข้ามาทำงานโดยคำนึงถึงความรู้และความสามารถ โดยมิได้คำนึงถึงเหตุผลทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นประการสำคัญ

 

กิตติรัตน์ ณ ระนอง เข้ามาช่วยงานทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในช่วงการเลือกตั้งปี 2566

 

ทั้งนี้ ในการพิจารณาว่าการแต่งตั้งใดเป็นการแต่งตั้งโดยระบบอุปถัมภ์หรือระบบคุณธรรมไม่อาจพิจารณาได้จากกฎหมายที่ให้อำนาจในการแต่งตั้งแต่เพียงประการเดียว หากต้องพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณีด้วยว่าการเข้าสู่ตำแหน่ง การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่ง ใช้เหตุผลหรือความสัมพันธ์ทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นหลักหรือไม่ โดยหากผู้ดำรงตำแหน่งใดได้รับการแต่งตั้งโดยระบบอุปถัมภ์ที่มีเหตุผลและความสัมพันธ์ทางการเมืองเป็นหลัก อาจถือได้ว่าเป็นการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามระบบอุปถัมภ์

 

นอกจากนี้การพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกับผู้มีอำนาจแต่งตั้งซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง ก็แสดงให้เห็นถึงลักษณะการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นด้วย

 

ประการที่สอง หน้าที่และอำนาจรวมทั้งบทบาทของผู้ดำรงตำแหน่ง จำเป็นที่จะต้องพิจารณาจากกฎหมายและคำสั่งที่กำหนดหน้าที่และอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นประการแรก และบทบาทการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งนั้นในความเป็นจริงทางพฤตินัยเป็นสำคัญว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นมีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย (Policy) เป็นประการต่อมา

 

ในประการแรกการพิจารณาว่าการแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นมีหน้าที่ดังกล่าวหรือไม่ อาจพิจารณาได้จากคำสั่งหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังเช่นตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546 ออกตามความในมาตรา 11 (6) (8) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 กำหนดให้มีหน้าที่ช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ในการอำนวยการบริหารประเทศ หรือตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย ซึ่งแต่งตั้งตามมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ และมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ. 2552 กำหนดหน้าที่และอำนาจของตำแหน่งดังกล่าวให้เจรจาการค้าแทนรัฐบาล

 

ทั้งนี้ ตำแหน่งทั้งสองตำแหน่งดังกล่าว แม้จะแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ เช่นเดียวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการอื่นๆ แต่หน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้เป็นการอำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ในเรื่องเสร็จที่ 139/2547 และเรื่องเสร็จที่ 481/2552

 

สำหรับข้อพิจารณาประการที่สอง นอกจากการพิจารณาคำสั่งหรือระเบียบมอบหมายหน้าที่แล้ว อาจพิจารณาได้จากพฤติการณ์อันเป็นข้อเท็จจริงในการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ เช่น การแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนรัฐบาลในการเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน เพื่ออำนวยการและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้นโยบายที่สำคัญของรัฐบาลสัมฤทธิ์ผลขึ้นอย่างแท้จริง ทั้งนี้ แม้ว่าคำสั่งที่แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมิได้กำหนดหน้าที่และอำนาจถึงขนาดที่เป็นการอำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินก็ตาม

 

แต่หากการมอบหมายหน้าที่ บทบาท และลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ในความเป็นจริงทางพฤตินัยของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นงานด้านการเมืองที่เกี่ยวกับการอำนวยการบริหารประเทศ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การกำหนดนโยบาย (Policy) เพื่อให้ฝ่ายปกครองซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหาร (Administration) ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด หน้าที่และอำนาจรวมทั้งบทบาทที่เกิดจากการมอบหมายและการปฏิบัติในความเป็นจริงของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวย่อมเข้าลักษณะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

กรณีตามข้อหารือนี้จึงสามารถพิจารณาฐานะการดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 กันยายน 2566 และประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 316/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ได้ดังนี้

 

กรณีการแต่งตั้ง นาย ก. ให้เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี พิจารณาได้ว่า

 

  1. ที่มาของการเข้าสู่ตำแหน่ง การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่ง มีเหตุผลหรือความสัมพันธ์ทางการเมืองหรือไม่

 

ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำชี้แจงของผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยว่า นาย ก. เคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิบัติหน้าที่เป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคการเมือง พ. และภายหลังจากที่ลาออกจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว นาย ก. ยังคงปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง พ. และต่อมา นาย ก. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 โดยยังคงมีการปฏิบัติภารกิจและลงพื้นที่โดยสวมเสื้อที่มีสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง พ. อยู่

 

นอกจากนั้นผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวก็พ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกับนายกรัฐมนตรีผู้แต่งตั้ง

 

จากข้อเท็จจริงข้างต้นเห็นได้ว่า การเข้าสู่ตำแหน่ง การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่งของ นาย ก. มีลักษณะทางการเมือง

 

บรรยากาศการทำงานในช่วงที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง นั่งเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน

 

  1. สำหรับการพิจารณาหน้าที่และอำนาจรวมทั้งบทบาทนั้น ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 กำหนดให้ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

 

ทั้งนี้ หากประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เพียงเฉพาะแต่การให้คำปรึกษาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเท่านั้น โดยหากนายกรัฐมนตรีไม่มอบหมายดังกล่าวก็ไม่มีหน้าที่อื่นใดอีก กรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นการอำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

 

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นาย ก. มิได้มีหน้าที่และอำนาจเฉพาะแต่การให้คำปรึกษาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในลักษณะควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายสำคัญด้วย

 

ดังเช่นการที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายและแต่งตั้งให้ นาย ก. ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 316/2566 ซึ่งนโยบายการแก้ไขหนี้สินของประชาชนเป็นนโยบายที่พรรคการเมือง พ. ใช้ในการหาเสียง ตลอดจนเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแถลงต่อรัฐสภาด้วย

 

ดังนั้นผู้ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยจึงถือได้ว่าเป็น ‘ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ เพราะได้รับการแต่งตั้งมาโดยเหตุผลและความสัมพันธ์ทางการเมือง รวมถึงมีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายสำคัญของพรรคการเมืองและของรัฐบาล

 

ด้วยเหตุดังกล่าว นาย ก. จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 18 (4) ประกอบกับมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 316/2566 นั้น คณะกรรมการดังกล่าวแต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วยข้าราชการประจำซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องเพื่อนำนโยบายสำคัญเรื่องการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยไปปฏิบัติให้เกิดผลขึ้นจริง โดยนำนโยบายของรัฐบาลไปดำเนินการทางปกครองให้เกิดผลขึ้นจริง อันมิได้มีลักษณะเป็นการกำหนดนโยบายขึ้นใหม่แต่อย่างใด

 

ดังนั้นคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยจึงเป็นคณะกรรมการในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่มีประเด็นเรื่องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และมิใช่คณะกรรมการที่มีตำแหน่งทางการเมืองดังเช่นที่นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แต่งตั้งคณะกรรมการในการบริหารราชการแผ่นดินอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

 

อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 คณะที่ 2 และคณะที่ 13) มีข้อสังเกตว่า โดยที่มาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มิได้แบ่งแยกการแต่งตั้งประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา และคณะที่ปรึกษา ออกจากคณะกรรมการในการบริหารราชการแผ่นดิน อันสมควรแยกการกำหนดเรื่องดังกล่าวเป็นคนละอนุมาตรา ทั้งนี้ การแต่งตั้งประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา และคณะที่ปรึกษานั้น นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายการเมือง สำหรับการแต่งตั้งคณะกรรมการในการบริหารราชการแผ่นดินนั้น นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายปกครอง

 

ดังนั้นกรณีจึงสมควรที่สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้พิจารณาดำเนินการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตราดังกล่าว เพื่อให้การใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใดๆ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และกำหนดขอบเขตหน้าที่และอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะของการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X