เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรก ออกมา โดยพบว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 2.7% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ที่ 2.3% และปรับดีขึ้นจากในไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ 1.4%YoY ขณะเดียวกัน GDP ไทย ก็สามารถเติบโตจากไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ) 1.9% สูงสุดในรอบ 10 ไตรมาส เทียบกับที่หดตัว -1.1% ในไตรมาสก่อน
ตัวเลขที่ออกมาสะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 6.5 ล้านคนในไตรมาสนี้ ส่งผลให้การส่งออกภาคบริการ (หรือรายได้จากนักท่องเที่ยวขาเข้า) ขยายตัวได้ถึง 87.8%YoY
ขณะเดียวกันการบริโภคภาคเอกชนก็ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 5.4%YoY ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ชะลอลง โดยการบริโภคในหมวดบริการขยายตัวได้มากถึง 11.1% โดยเฉพาะการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ขณะที่การบริโภคในหมวดอื่นๆ ได้แก่ หมวดสินค้าคงทน และสินค้าไม่คงทน ก็ขยายตัวได้ทุกหมวดเช่นกัน
อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสำคัญในช่วงไตรมาสแรกคือ ภาคการลงทุน โดยในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 2.6%YoY สอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวเร่งขึ้น 4.7%YoY จากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณก่อนยุบสภา แบ่งเป็นการลงทุนของรัฐบาลขยายตัว 6.9% และการลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัว 1.8%
อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยก็ต้องเผชิญกับแรงฉุดรั้งไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงที่หดตัวถึง -6.4%YoY แม้จะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ติดลบ 10.5% แต่ก็ยังนับว่าเป็นการหดตัวสูง ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและฐานที่สูงในปีก่อนหน้า
โดยข้อมูลของสภาพัฒน์ระบุว่า กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลงประกอบด้วย เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี (ลดลง 21.6%), ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ (ลดลง 8.2%), ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ลดลง 24.9%), ยางพารา (ลดลง 37.7%) และอาหารสัตว์ (ลดลง 20.5%) ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว -3%YoY
นอกจากนี้ยังมีแรงฉุดจากการอุปโภคภาครัฐที่หดตัว -6.2%YoY ต่อเนื่องจาก -7.1%YoY ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการโอนเงินเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาด (ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโควิด) ที่หดตัวรุนแรงถึง -40.4%
ในภาพรวมสภาพัฒน์ยังคงประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้เท่าเดิมที่ 2.7-3.7% (ค่ากลาง 3.2%) โดยมองว่า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยเฉพาะไตรมาส 2 ที่มีเม็ดเงินหาเสียงช่วงเลือกตั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี
ขณะที่ UOB คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2566 อยู่ที่ 3.1% โดยมีแรงหนุนหลักจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ รวมทั้งการเปิดประเทศของจีนจะช่วยหนุนการส่งออกในภาคบริการของประเทศ
อย่างไรก็ดี การส่งออกที่มีแนวโน้มหดตัวตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวจะสร้างแรงกดดันต่อการลงทุนและการผลิต จนเป็นแรงฉุดรั้งสำคัญทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้สภาพัฒน์ยังมีความกังวลต่อปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ จากกรณีที่ไทยอาจเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ จนอาจทำให้ปริมาณน้ำฝนลดต่ำลง ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร รวมถึงประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่จะส่งผลกระทบให้การอนุมัติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 ล่าช้าออกไป
นี่ยังไม่นับรวมความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก, ปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินและความไม่แน่นอนในการขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลในสหรัฐฯ, กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนที่เริ่มขยายตัวชะลอลงในเดือนล่าสุด, นโยบายการเงินโลกและไทยที่อาจตึงตัวแรงขึ้นจากเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังมีความหนืด และปัญหาหนี้ครัวเรือนและแนวโน้มการผิดชำระหนี้ที่อาจสูงขึ้น
โดยสรุปแล้วเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็มีปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนยังต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน ซึ่งภายใต้ความไม่แน่นอนของปัจจัยทางเศรษฐกิจเช่นนี้ UOB Privilege Banking มีคำแนะนำให้นักลงทุนจัดพอร์ตที่ทนทาน เพื่อรับมือกับความผันผวนและเศรษฐกิจถดถอย ด้วยสินทรัพย์กลุ่ม Defensive พร้อมกระจายการลงทุน เพื่อป้องกันโอกาสขาดทุนจำนวนมากจากการกระจุกตัวในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไป
ขณะเดียวกันแนะนำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้มากกว่าหุ้น โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทคุณภาพดีที่มีงบการเงินและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง โดยเน้นไปที่การลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดี (Investment Grade Credit) เพื่อสร้างรายได้สม่ำเสมอและลดความผันผวน อีกทั้งมีความทนทานในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว
ตราสารหนี้ถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่สำคัญในการจัดพอร์ตของนักลงทุน จากภาวะปัจจุบันที่เงินเฟ้อชะลอตัวและเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสชะลอตัวลง ทำให้มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะหยุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคต การลงทุนในตราสารหนี้จะมีโอกาสทำกำไรจากราคาตราสารหนี้ที่ปรับตัวสูงขึ้น
ด้านการลงทุนในหุ้น เราให้น้ำหนัก Underweight จากความเสี่ยงของการปรับตัวลงของกำไรและเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการลงทุนในหุ้นก็ควรกระจายการลงทุนไปในหลายภูมิภาคและอุตสาหกรรม ด้านหุ้นไทยยังได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลงของกำไร โดยคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2566 จาก Bloomberg Consensus มีการปรับลด EPS ลงต่อเนื่องอยู่ระดับ 94.57 ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 จากระดับ 102.6 (วันที่ 17 มีนาคม 2566) รวมถึงประเด็นทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลและโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งตามกำหนดคือวันที่ 3 สิงหาคม 2566 หากมีความล่าช้า อาจส่งแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยได้
สำหรับภูมิภาคที่มีโอกาสการลงทุนน่าสนใจในปีนี้ เราแนะนำเอเชีย อาเซียน และจีน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจฟื้นตัว เงินเฟ้อยังไม่สูงจนเกินไป นโยบายการเงินจึงไม่ได้กดดันการเติบโต รวมถึงได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศและฟื้นตัวของจีนด้วย อีกทั้งระดับมูลค่า (Valuation) อยู่ในระดับที่น่าสนใจ รวมถึงเน้นการลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจที่มีคุณภาพ เพื่อผ่านพ้นช่วงเศรษฐกิจถดถอยได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ UOB Privilege Banking โทร. 0 2081 0999 หรือคลิก www.uob.co.th/privilegebanking