×

ถอดรหัส ‘แพลตฟอร์มโมเดล’ – ยุทธศาสตร์ชาติท่ามกลางความไม่แน่นอน

28.12.2020
  • LOADING...
ถอดรหัส ‘แพลตฟอร์มโมเดล’ - ยุทธศาสตร์ชาติท่ามกลางความไม่แน่นอน

‘แพลตฟอร์ม’ คือหัวใจของเศรษฐกิจยุคใหม่ คือเทรนด์ธุรกิจที่สำคัญที่สุดเทรนด์หนึ่งในยุคดิจิทัล 

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของแพลตฟอร์มไม่ใช่การที่บริษัทที่มูลค่าสูงที่สุดในโลกส่วนใหญ่เป็นบริษัทแพลตฟอร์ม หรือเรื่องดิจิทัลแอปพลิเคชันของแพลตฟอร์ม แต่เป็นแก่นปรัชญาและโมเดลในการบริหารของแพลตฟอร์มที่เป็น ‘สิ่งมีชีวิต’ ที่เติบโตอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงสามารถนำมาปรับใช้ได้กับทั้งภาคธุรกิจ สังคม และการทำนโยบายบริหารประเทศ

 

วันนี้อยากชวนคิดถอดบทเรียนจาก ‘แพลตฟอร์มโมเดล’ ว่ามีหลักอะไรบ้างที่สามารถนำมาใช้กับยุทธศาสตร์และการบริหารเศรษฐกิจยุคใหม่

 

หัวใจของแพลตฟอร์มโมเดลคือ ABCD

 

  1. A คือ Attract ดึงดูดเพื่อสร้างฐาน

 

‘แพลตฟอร์มโมเดล’ คือโมเดลที่เจ้าของแพลตฟอร์มไม่ได้เป็นผู้ผลิตเอง ไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งที่ขาย แต่เป็นตัวกลางให้บริการเชื่อมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซเชื่อมระหว่างผู้ซื้อกับคนขาย ธุรกิจหาห้องพักเชื่อมเจ้าของบ้านกับคนหาห้อง ฯลฯ แตกต่างจากธุรกิจแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า Pipeline ที่มักจะมีผู้ผลิตและผู้บริโภคชัดเจน ส่งทอดกันเป็นต่อๆ ตามห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำมายันปลายน้ำ เปรียบเสมือน ‘ท่อ’ ที่มาต่อๆ กัน

 

เพราะฉะนั้นหลักการสำคัญที่สุดของแพลตฟอร์มคือการดึงดูดทั้งฝั่งผู้บริโภคและผู้ผลิต (ซึ่งบางครั้งเส้นแบ่งอาจไม่ชัดเจน) ให้มาอยู่ในระบบจนเกิด Network Effect เช่นในกรณีโซเชียลมีเดีย ก็คือการที่เราเข้ามาในแพลตฟอร์มนี้เพราะเพื่อนเราอยู่เยอะและเพื่อนเราก็เข้ามาใช้เพราะเราใช้อยู่ เป็นต้น 

 

นอกจากนี้เมื่อมีคนใช้มากขึ้น ผู้เล่นอื่นๆ เช่น คนทำคอนเทนต์แบบสำนักข่าวก็อาจอยากเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งก็จะดึงดูดคนที่อาจไม่ได้ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย แต่อยากตามอ่าน-ดูคอนเทนต์ให้เข้าใจมาเป็นสมาชิกเป็น Network Effect ที่มีหลายมิติ ซับซ้อนขึ้น

 

สร้างแม่เหล็กแบบสิงคโปร์โมเดล

 

ประเทศหนึ่งที่ใช้แนวคิดนี้ในการพัฒนาระบบนวัตกรรมและวงการสตาร์ทอัพได้อย่างเห็นผลชัดเจนมากคือ สิงคโปร์ ที่ภายในเวลาไม่กี่ปีได้กลายเป็นประเทศติดอันดับต้นๆ ของโลกในการดึงดูด Talent ในวงการสตาร์ทอัพ ปัจจุบันมีบริษัทเทคโนโลยีระดับยูนิคอร์น (มูลค่าเกินพันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือสูงกว่าถึง 5 ตัว

 

สิงคโปร์รู้ตัวว่าจะให้สตาร์ทอัพของตนเองเป็นสุดยอดตั้งแต่ต้นคงยาก แต่สิ่งที่ทำได้คือสร้างระบบนิเวศน์ทางนวัตกรรมที่ไม่แพ้ใคร เพื่อดึงดูดคนเก่งและบริษัทชั้นนำ กองทุนจากทั่วโลก โดยใช้ทั้งมาตรการทางการเงิน ภาษี การให้วีซ่าคนทำงาน รวมทั้งใช้เครือข่ายที่มีอย่างเต็มที่

 

เมื่อมีคนหัวกะทิและผู้เล่นชั้นนำมาอยู่ในประเทศจำนวนมาก คนเหล่านี้ก็กลายเป็นเสมือน ‘แม่เหล็ก’ ที่ดึงดูดคนเก่งและผู้เล่นอื่นๆ เข้ามา บริษัทสตาร์ทอัพก็อยากมาอยู่ในที่ๆ มีกองทุน Venture Capital (VC) จำนวนมาก หาทุนง่าย คนเก่งก็อยากมาอยู่ในที่ๆ มีโอกาสทำงานในบริษัทเทคโนโลยีดีๆ จำนวนมาก กองทุน VC ก็อยากตั้งในที่ๆ มีคนเก่งให้จ้าง มีสตาร์ทอัพดีๆ ให้ลงทุน เกิดเป็น Network Effect ขึ้นมา

 

นอกจากนี้ ระบบนิเวศน์ที่มีคนเก่งและหลากหลายมักจะจุดประกายการเรียนรู้และช่วยพัฒนาคนในระบบไปด้วย เสมือน ‘แม่เหล็ก’ ที่เมื่อเอามาถูแล้วทำให้เหล็กธรรมดากลายเป็นแม่เหล็กไปด้วยได้ เพราะฉะนั้นการดึงดูดคนเก่งนี้ สุดท้ายก็ทำเพื่อช่วยเสริมสร้างคนในประเทศให้เก่งยิ่งขึ้นนั่นเอง

 

  1. B คือ Build on Top เติมเต็มต่อยอดในส่วนที่ขาด

 

นอกจากดึงดูดแล้ว พอมีฐานผู้ใช้ใหญ่ขึ้น แพลตฟอร์มยังต้องมีการสร้างบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของผู้ใช้แพลตฟอร์มทุกฝ่าย เช่น จากตัวอย่างข้างบน โซเชียลมีเดียอาจมีการพัฒนาระบบตลาดให้คนสามารถซื้อขายของในแพลตฟอร์มได้ อาจมีการต่อยอดทำระบบชำระเงิน จนไปถึงการให้บริการการเงินอื่นๆ เป็นต้น 

 

แต่ในโลกของแพลตฟอร์มโมเดลต่างกับธุรกิจดั้งเดิมตรงที่เราไม่ได้ต้องทำเองทุกอย่าง และไม่ได้ต้องเป็นเจ้าของทุกสิ่งที่ทำ แต่ต้องเห็นภาพรวมทั้งระบบ ต้องเลือกให้ดีว่าบริการอะไรจะ ‘นำเข้า’ ให้คนอื่นทำ และพยายามประสานงานกับทุกภาคส่วน ทั้งเครือข่ายพันธมิตร ทั้งผู้เล่นอื่นๆ เพื่อสร้าง ‘ระบบนิเวศน์’ (Ecosystem) ที่ดีเพื่อบริการลูกค้า 

 

ในด้านนโยบายก็เช่นกัน รัฐควรไตร่ตรองว่าส่วนไหนควรปล่อยให้เอกชนทำ ส่วนไหนควรเป็นพาร์ตเนอร์ และส่วนไหนควรทำเอง เพราะหากเข้าไปทำในสิ่งที่เอกชนทำเองได้อยู่แล้วก็เป็นการใช้ทรัพยากรโดยเสียเปล่า และอาจเป็นการขัดขวางการพัฒนาของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม บทบาทของรัฐที่สำคัญควรจะเป็นการต่อยอดและเติมเต็มในส่วนที่เอกชนขาดหรือไม่สามารถทำเองได้ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างมาตรฐานและกฎกติกา (Common Standards) และการพัฒนาคน เป็นต้น

 

ยกตัวอย่างในสิงคโปร์ แทนที่จะทำแพลตฟอร์มการเงินของตัวเอง ทางรัฐบาลสิงคโปร์พยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และมาตรฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างคน-หน่วยงานรัฐ-สถาบันการเงิน โดยล่าสุดเพิ่งเปิดตัวโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล คือแพลตฟอร์มชื่อ Singapore Financial Data Exchange (SGFinDex)

 

โดยแพลตฟอร์มนี้ให้ประชาชนมีอำนาจในการดึงข้อมูลของตนที่ถูกเก็บอยู่ในสถาบันการเงินต่างๆ (เงินฝาก หนี้บัตรเครดิต การลงทุน) หรือหน่วยงานรัฐบาล (ตรวจคนเข้าเมือง การจ่ายภาษี) มารวมกันดูได้จากที่เดียว และยังสามารถเปิดอนุญาตให้สถาบันการเงินที่ตนเองต้องการใช้บริการเข้าถึงข้อมูลชุดต่างๆ นี้ได้ เพื่อให้เห็นภาพรวมด้านการเงินและวางแผนการเงินของตัวเองได้ง่ายขึ้น นอกจากสร้างความสะดวกแล้ว นโยบายนี้ยังทำให้ภาคการเงินมีการแข่งขันมากขึ้น เพราะสถาบันการเงินไม่สามารถล็อกข้อมูลของลูกค้าไว้กับตน หากเจ้าตัวอยากดึงข้อมูลของตนไปใช้กับอีกเจ้าหนึ่ง 

 

  1. C คือ Customer Centric เริ่มที่ลูกค้าไม่ใช่กฎกติกา

 

แต่จะดึงดูดใครและสร้างอะไร ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจของผู้ใช้ ต้องรู้จัก ‘ฟัง’ เสียงผู้ใช้อย่างใกล้ชิด เพราะจุดเด่นของแพลตฟอร์มโมเดลคือการตั้งลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล (Customer Centric) ทุกคำถามเริ่มจากความต้องการของลูกค้ามากกว่าจากตัวเราหรือสิ่งที่เรามี (Product Centric) 

 

หากการนำวิธีคิดแบบนี้มาใช้กับภาครัฐ คือ การเปลี่ยนทัศนคติของรัฐจาก ‘ผู้คุม’ (Regulator) มาเป็นคนให้บริการ (Service Provider) แทนที่จะเริ่มทุกอย่างจากคำถามที่ว่า “กฎหมายหรือระเบียบให้ทำได้หรือไม่?” ซึ่งเป็นแนวคิดแบบ Product Centric เปลี่ยนมาเป็น “เราต้องทำอย่างไรถึงจะช่วยประชาชนได้” ทั้งหมดนี้สำคัญเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทยที่มีกฎหมายใบอนุญาตและกระบวนการที่เกี่ยวข้องประมาณ 1 แสนฉบับ สร้างต้นทุนประชาชนประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี ตามการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ซึ่งบ่อยครั้งสร้างภาระและต้นทุนที่ไม่จำเป็นทั้งกับตัวข้าราชการเอง ประชาชน ธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs 

 

สิ่งที่มักจะมาพร้อมกับการตั้งลูกค้าเป็นศูนย์กลางคือ การให้ลูกค้าจะมีบทบาทในการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการด้วย (Co-Creation) โดยแพลตฟอร์มจะพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่เรียบง่ายขึ้นมาก่อนเพื่อทดสอบตลาด แล้วฟังเสียงตอบรับจากผู้ใช้เพื่อมาประเมินผลและพัฒนาต่อ ที่สำคัญแม้ตัวแพลตฟอร์มจะประสบความสำเร็จแล้ว ขั้นตอนการประเมิน-เรียนรู้-ปรับปรุงนั้นก็ไม่หยุด ทุกแพลตฟอร์มจะมีการเติมฟีเจอร์และบริการใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอ เสมือนคนเราทุกวันนี้ที่เก่งแค่ไหนก็ยังต้องคอยเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

รัฐบาลหลายประเทศหยิบเอาแนวทางประเมิน-เรียนรู้-ปรับปรุง มาใช้ในรูปแบบการทำ Sandbox หรือกล่องทราย ที่ให้ฝ่ายรัฐที่กำกับดูแลและภาคเอกชนที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่มาทดลองร่วมกันเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ในช่วงนี้ผลิตภัณฑ์จะถูกนำมาใช้แบบจำกัด แลกกับการที่ฝั่งรัฐจะลดหย่อนความเข้มงวดทางกฎระเบียบ แต่สุดท้ายพื้นที่นี้จะมีประโยชน์เพียงใดคงขึ้นอยู่กับว่าฝั่งรัฐเปิดใจรับฟังจากทุกฝ่ายมากเพียงใด เปิด ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้คนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้จริงหรือไม่

 

  1. D คือ Data ข้อมูลเพื่อปัญญา

 

และจะ ‘ฟัง’ เสียงของผู้ใช้ได้ดีแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับ ‘ข้อมูล’ และ ‘คน’

 

แพลตฟอร์มต้องการข้อมูลจำนวนมาก แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือคนที่มีความสามารถสร้างระบบจัดเก็บ วิเคราะห์ และนำข้อมูลเหล่านี้มา ‘กลั่น’ เป็นความรู้ และ ‘ปัญญา’ ในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว นี่เองคือสาเหตุที่โลกกำลังขาดแคลน Data Scientist และ Data Engineer โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศต้องพยายามดึงดูดคนเก่งๆ เหล่านี้มาจากทั่วโลก และนำมาช่วยถ่ายทอดความรู้สร้างมืออาชีพรุ่นใหม่เป็นปริมาณมาก 

 

นอกจากด้านเทคนิคแล้ว แพลตฟอร์มยังต้องการคนระดับผู้บริหารที่ให้ความสําคัญกับข้อมูลในการตัดสินใจ ต้องใช้ข้อมูลมากกว่าดราม่า และเชื่อข้อมูลมากกว่ากลัวเสียหน้า มิเช่นนั้นข้อมูลที่มีเก็บไว้ก็อาจไม่ถูกนำมาเปิดเผยและใช้ประโยชน์ หรือถึงเอาออกมาใช้แล้วก็ไม่มีใครเอาไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจและบริหาร

 

ที่สำคัญ ข้อมูลที่จำเป็นอาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลเสมอไป แต่อาจถูกเก็บอยู่ในคนรอบตัวผู้บริหารเอง และสิ่งเดียวที่ดึงข้อมูลเหล่านั้นออกมาได้คือการฟังอย่างเปิดใจและทัศนคติที่พร้อมเรียนรู้จากทุกคนรอบตัว ทั้งคนที่อาจจะเด็กกว่า คนที่ความเห็นแตกต่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งปัญญาไว้ในการตัดสินใจที่สำคัญ

 

ทั้งหมดต้องเริ่มจากการถ่อมตน

 

ทุกข้อที่กล่าวข้างบนมีจุดเริ่มต้นมาจาก Humility หรือความถ่อมตน ยอมรับว่าเราไม่รู้ว่าอะไรคืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต และถึงเดาถูกก็อาจไม่รู้ว่าทำอย่างไรถึงจะไปถึงตรงนั้นได้ 

 

ต้องเข้าใจว่าโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจแบบ Top Down ที่รัฐบาลเลือกอุตสาหกรรม วิธีการพัฒนา และเดินหน้าตรง คล้ายกับที่เสือ 4 ตัวแห่งเอเชียเคยทำสำเร็จอาจไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดในยุคที่โลกซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้นอีกต่อไป แม้ทำได้ เราอาจกลายเป็น ‘เสือ’ ในยุคของ ‘มังกร’ ตามโลกไม่ทัน

 

สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือ เปลี่ยนจาก ‘ครูหน้าห้อง’ ที่รู้ทุกอย่าง สอนทุกหัวข้อ เป็น ‘ครูหลังห้อง’ ที่คอยสร้างระบบนิเวศน์ สร้างเสริมเติมเต็ม เก็บข้อมูล ประเมินปรับปรุง ด้วยทัศนคติที่ว่าเราอาจไม่ได้รู้ดีที่สุด แต่เราสามารถสร้างระบบให้คนที่รู้ขึ้นมามีบทบาทได้ เพื่อให้ประเทศไทยทันโลกและไม่แพ้ใคร 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising