×

จากเด็ก 3 ขวบผู้ถูกทารุณกรรมทางเพศ สู่ชายวัย 30 ปีที่ตัดสินใจว่า “จะไม่ทนเงียบอีกต่อไป”

23.04.2021
  • LOADING...
จากเด็ก 3 ขวบผู้ถูกทารุณกรรมทางเพศ สู่ชายวัย 30 ปีที่ตัดสินใจว่า “จะไม่ทนเงียบอีกต่อไป”

HIGHLIGHTS

  • จะไม่ทนเงียบอีกต่อไป เขียนโดย เฉินเจี๋ยฮ่าว นักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวไต้หวัน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2016 และแปลเป็นภาษาไทยโดย อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี ในปี 2021
  • หนังสือเล่าเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นจริงกับผู้เขียนตอน 3 ขวบ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการถูกครอบครัวทอดทิ้ง

หมายเหตุ: บทความนี้กล่าวถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นจริง อาจส่งผลกระทบต่อผู้อ่านบางท่าน

 

‘นั่นคือเนื้อแท้ของการทารุณกรรม

พวกเขาทำร้ายคุณพร้อมกับห้ามไม่ให้คุณพูดว่าเจ็บ

ทำให้คุณโดดเดี่ยว มองไม่เห็นความหวัง

ส่วนการทารุณกรรมเด็กคือคูณความเจ็บปวดเหล่านี้เข้าไปด้วยเวลานับสิบปี

ซ้ำร้ายคนที่ทำร้ายคุณยังเป็นผู้เลี้ยงดูที่เดิมทีคุณควรไว้วางใจมากที่สุด’

 

เราได้ยินข่าวการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กและวัยรุ่นอยู่บ่อยครั้ง บ่อยเกินไปจริงๆ

 

ตั้งแต่ช่วงต้นปีมานี้ มีข่าวรายงานคดีความล่วงละเมิดและทารุณกรรมทางเพศในเด็กอยู่เรื่อยๆ ในเมืองไทย ทั้งที่เกิดในสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา เมื่อเราลองค้นข้อมูลเพิ่มเติมจึงได้พบว่า

 

ปี 2562 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลพบว่า มีข่าวความรุนแรงทางเพศ 333 ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ 9 ฉบับ เป็นข่าวข่มขืน ข่าวบังคับค้าประเวณี และข่าวพยายามข่มขืนตามลำดับ ซึ่งผู้ถูกกระทำพบมากที่สุดคือเด็กและเยาวชน 11-15 ปี

 

ปี 2563 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลพบว่า มีข่าวความรุนแรงในครอบครัวช่วงโควิด-19 350 ข่าวในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 ซึ่งกรณีความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัวมี 31 ข่าว เป็นการข่มขืนโดยบุคคลในครอบครัวไปแล้ว 30 ข่าว ส่วนอีกข่าวคือการอนาจารโดยบุคคลในครอบครัว

 

การล่วงละเมิดและทารุณกรรมทางเพศไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น สถิติที่เรายกมาให้ดูคือกรณีที่ ‘ได้รับการรายงาน’ ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ความจริงแล้วเราไม่มีทางรู้เลยว่ามีเหยื่ออีกมากมายเพียงใดที่ยังรอความช่วยเหลือ ยังรอให้ใครสักคนได้ยิน ‘เสียง’ ของพวกเขาจากมุมที่มืดที่สุดของชีวิต

 

เดือนเมษายนคือ เดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านการคุกคามทางเพศ (Sexual Assault Awareness Month) เราจึงเลือกหยิบหนังสือเล่มหนึ่งที่เกี่ยวกับประเด็นนี้โดยตรงมาอ่าน เพื่อทำความเข้าใจประเด็นนี้ให้มากขึ้น หนังสือเล่มที่ว่าก็คือ จะไม่ทนเงียบอีกต่อไป (不再沉默) จากสำนักพิมพ์แมงมุม เป็นหนังสือหมวดสารคดีที่ผู้เขียนชาวไต้หวันนามว่า เฉินเจี๋ยฮ่าว (陳潔晧) ได้รวบรวมความกล้าจรดปากกาบอกเล่าเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นจริงตอน 3 ขวบ เป็นผลพวงมาจากการถูกครอบครัวทอดทิ้ง ซึ่งผู้เขียนต้องใช้เวลาถึง 30 ปี กว่าจะก้าวพ้นผ่านความพังทลายที่กัดกินตัวตนมาตลอดทั้งชีวิต

 

หนังสือแบ่งออกเป็น 5 บทใหญ่ๆ โดยพาผู้อ่านไปสตาร์ทที่ตอนอายุ 3 ขวบ ซึ่งเป็นตอนที่ผู้เขียนถูกครอบครัว (พ่อ, แม่, พี่ชาย 2 คน) ทิ้งไว้ที่บ้านแม่นม สถานที่ที่เขาถูกล่วงละเมิดทางเพศติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปีเต็ม ทั้งโดยแม่นมเอง สามีของแม่นม และลูกชายกับลูกสาวของแม่นม

 

ประมาณ 30 หน้าแรกคือช่วงที่หนักหนาและหดหู่ที่สุดของหนังสือ ผู้เขียนบรรยายถึงเหตุการณ์ล่วงละเมิดและความรุนแรงออกมาเป็นฉากๆ ที่อ่านแล้วสะเทือนหัวใจ หายใจไม่อิ่ม บางช่วงบางตอนรู้สึกเหมือนมีก้อนจุกอยู่ที่ลำคอ เราจำได้ว่าแชร์ความรู้สึกนี้บนโซเชียลมีเดีย แล้วสำนักพิมพ์ผ่านมาเห็นจึงตอบกลับมาว่า “บทหลังๆ จะสว่างขึ้นเรื่อยๆ” ซึ่งคำว่า ‘สว่าง’ นี่แหละคือคีย์เวิร์ดสำคัญของหนังสือเล่มนี้ในตอนถัดๆ ไป

 

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนบอกเล่าได้อย่างชัดเจนคือ การแสดงออกของร่างกายที่เกิดจากผลกระทบทางจิตใจจากการทารุณกรรมทางเพศในวัยเด็ก เช่น อาการขดตัวเป็นก้อนไม่ขยับเขยื้อนเมื่อเกิดความกลัว หรืออาการภาพเบื้องหน้าเป็นสีขาวโพลนเมื่อโกรธจัด ไปจนถึง ‘อาการแพนิก’ ที่เกิดขึ้นเพราะกลัวโดนทำร้ายจนตาย

 

อาการเหล่านี้ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นแค่ช่วง 3 ปีที่ถูกทารุณกรรม แต่มันตามหลอกหลอนผู้เขียนมาทั้งชีวิต ซึ่งซ้ำร้ายแล้วบางช่วงเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเกิดจากอะไร เพราะกลไกการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanism) ทำให้ลืมเลือนความทรงจำอันแสนโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

 

ในบทหลังๆ จะบอกเล่าเกี่ยวกับการฟื้นฟูตัวเอง เพื่อก้าวข้ามวัยเด็กในฐานะ ‘เหยื่อ’ สู่วัยผู้ใหญ่ในฐานะ ‘ผู้รอดชีวิต’ จากแผลฉกรรจ์ที่ไม่เคยได้รับการเยียวยาอย่างที่ถูกที่ควร ช้ำเลือดช้ำหนองอย่างต่อเนื่องถึง 30 ปีที่ผ่านมาและผ่านไป

 

เราในฐานะผู้อ่านรู้สึกเลยว่า เส้นทางการ ‘ฮีล’ ตัวเองของผู้เขียนมันยากเข็ญและโหดร้ายกับเขาเหลือเกิน ลองคิดดูสิว่าตัวเขาในวัย 30 ปี ต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจกับความทรงจำที่ตัวเองเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศตอน 3 ขวบ มันคือการฉายหนังที่แสนเลวร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีกขึ้นในมโนภาพ ไม่ว่าจะตอนตื่นหรือหลับฝัน แต่เพื่อที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่ออย่างมีความสุขจริงๆ เสียที มันเป็นไปไม่ได้เลยทั้งสำหรับ ‘เหยื่อ’ และ ‘ผู้รอดชีวิต’ ที่จะกดฟาสต์ฟอร์เวิร์ดข้ามขั้นตอนยอมรับและทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ตัวผู้เขียนเองก็กล่าวไว้ว่า “การเขียนก็เป็นวิธีการหนึ่ง ทำให้พวกเรามีโอกาสใช้มุมมองบุคคลที่สาม บันทึกและสัมผัสกับสถานการณ์ของตนเองอีกครั้ง”

 

ในบทท้ายสุดของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้บอกเล่า ‘วิธี’ ที่ครอบครัวและคนรอบตัวสามารถให้การสนับสนุนการฟื้นฟูเหยื่อและผู้รอดชีวิตในฐานะ ‘ผู้ที่อยู่เคียงข้าง’ ซึ่งหลักๆ คือการเคียงข้างและรับฟังโดยไม่ตัดสิน เรารู้สึกขอบคุณผู้เขียนมากๆ ที่ลงลึกรายละเอียดตรงนี้ ทำให้เรารู้ว่า ‘การสนับสนุน’ ที่ผู้ถูกล่วงละเมิด ‘ต้องการ’ จริงๆ คืออะไร เพราะอย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นคือ เราไม่มีทางรู้เลยว่ามีเหยื่อการทารุณกรรมทางเพศอีกมากมายแค่ไหน ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลตัว

 

เราเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นแสงสว่างให้กับทุกคนที่กำลังเจ็บปวดกับความทุกข์ทรมานของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และเป็นแสงนำทางให้กับทุกคนที่กำลังเคียงข้างและสนับสนุน ‘เหยื่อ’ และ ‘ผู้รอดชีวิต’ ในเส้นทางแห่งการฟื้นฟูตัวตน สู่การเป็นคนที่ จะไม่ทนเงียบอีกต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X