เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย, ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการ และเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต, สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เดินทางมายัง อย. เพื่อหารือเกี่ยวกับการผลิต และแจกจ่ายยาน้ำมันกัญชาสูตรเดชา ศิริภัทร หรืออาจารย์เดชา มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ร่วมกับ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการสำนักคณะกรรมการอาหารและยา แต่ไม่ได้เข้าพบ เนื่องจากติดการประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ และขอเลื่อนเวลานัดหมายออกไป
ทั้งนี้ ทางผู้แทนและเครือข่ายภาคประชาชนจะเข้าพบอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้
ปานเทพ กล่าวว่า ทราบว่าวันนี้มีการประชุมของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ซึ่งได้มีวาระการพิจารณาน้ำมันกัญชาสูตรเดชาอยู่ด้วย แต่ผลปรากฏว่ายังไม่ผ่านการรับรอง โดยในที่ประชุมไม่มีข้อติดใจเกี่ยวกับวิธีการปรุงยา แต่กลับอ้างประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดผู้ประกอบวิชาชีพ เรื่อง กำหนดผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาการแพทย์แผนไทยที่จะสามารถปรุง หรือสั่งจ่ายยาตำรับที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ด้วย พ.ศ. 2562 ประกาศเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ระบุว่าเดชายังไม่ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎหมาย จึงมอบหมายให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดำเนินการประสานงานให้ทางสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นผู้รับรอง ก่อนนำเสนอตามขั้นตอนของสภาการแพทย์แผนไทยให้การรับรองต่อไป
ปานเทพกล่าวว่า ขณะเดียวกันได้สอบถามไปยังเลขาธิการ อย. ถึงขั้นตอนต่อไปหลังจากสูตรน้ำมันกัญชาเดชาผ่านการรับรองแล้ว โดยได้รับการแจ้งว่าจะให้ไปดำเนินการร่วมกับรัฐอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล สภาเกษตรกรแห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐ หรือให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็นเจ้าภาพในการขอของกลางกัญชาเพื่อนำมาปรุงยา
รสนา กล่าวว่า การรับรองเดชาเป็นหมอพื้นบ้านเป็นหน้าที่ของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ไม่เกี่ยวกับ อย. ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาสูตรน้ำมันกัญชานายเดชาว่าผ่านหรือไม่ โดย อย. ได้กำหนดวิธีการในการใช้กัญชาจากช่องทางพิเศษ หรือ Special Access Scheme (SAS) แต่ในไทยยังไม่มีผลิตภัณฑ์กัญชาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จึงทำให้การเข้าถึงยามีเพียงโครงการศึกษาวิจัย ดังนั้น ทั้งสารสกัดกัญชาไม่ว่าจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และน้ำกัญชาสูตรเดชา เป็นยาที่ยังไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่ามีสรรพคุณรักษาอาการใดได้บ้าง จนกว่าจะวิจัยและพิสูจน์ได้ว่าสามารถรักษาโรคได้จำนวน 1,000 คน โดยสารสกัดที่มาจากกัญชาตอนนี้จึงอยู่ในระบบ SAS ทั้งหมด
รสนา กล่าวว่า น้ำมันกัญชาสูตรเดชา สกัดด้วยน้ำมันมะพร้าว โดยกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ผ่านการรับรองในเบื้องต้นแล้ว แต่เพราะกัญชายังเป็นยาเสพติด จึงต้องผ่านคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษของ อย. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ตอนนี้คิดว่า อย. ยังสับสนในบทบาท ทำให้การพิจารณาสูตรน้ำมันต้องขยายเวลาออกไปหนึ่งเดือน ทำให้เรื่องล่าช้าเสียเวลา ไม่เห็นแก่ผู้ป่วยที่หมดหวัง และกำลังรอรับยารักษาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมียาที่สกัดด้วยวิธีเดียวกัน ต่างกันตรงใช้น้ำมันมะกอก ซึ่ง อย. ควรพิจารณาสูตรว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ไม่ใช่มีหน้าที่ว่าจ่ายได้หรือไม่ ไม่ทราบว่า อย. ถ่วงเวลาทำไม เพราะโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรรักษาครอบคลุมสองโรคเท่านั้น ขณะที่น้ำมันกัญชาสูตรเดชา จ่ายยาให้กับผู้ป่วยจำนวนมาก ครอบคลุมหลายโรค ซึ่งเข้าหลักการ SAS ที่เป็นการเก็บฐานข้อมูลพิสูจน์ว่ายามีความปลอดภัย และปัจจุบันมีผู้ใช้รักษาอาการโรคเกิน 1,000 ราย
“เป็นเรื่องควรส่งเสริม ไม่เช่นนั้นไทยจะแข่งขันกับต่างประเทศยากมาก ซึ่งต่างชาติห้ามเราทำมา 40 ปี เวลาเดียวกันเขาค้นคว้า วิจัย จนสามารถจดสิทธิบัตร และจ่อยื่นอยู่ที่ประเทศของเรา เพื่อผูกขาดสิทธิบัตรกัญชาให้ไทยซื้อ และในเวลา 5 ปีที่รัฐผูกขาด ไม่มีทางที่จะไล่ตามต่างชาติทัน ทางออกคือให้หมอพื้นบ้านใช้ สกัดรวมโดยไม่ต้องแยกสารสำคัญ หรืออ้าง GMP นอกจากนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า อย. จะมีเรื่องของผลประโยชน์หรือไม่ เพราะกัญชาใต้ดินเกลื่อนเต็มไปหมด แต่ อย. ไม่ไปจับ ไม่สนใจ แต่กลับสกัดกั้นสูตรน้ำมันกัญชาของเดชา ซึ่งแจกฟรี” รสนา กล่าว ทั้งนี้ขอเรียกร้องว่าทาง อย. ควรเร่งรัดผ่านน้ำมันกัญชาสูตรเดชา และทางเครือข่ายภาคประชาชนจะขับเคลื่อนโดยจะยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยขอให้หมอพื้นบ้านและแพทย์แผนไทยนำร่องปลูกกัญชาภายในครัวเรือนไม่เกิน 6 ต้นก่อน เพื่อนำมาปรุงตำรับยา
ด้านสารี กล่าวว่า ตอนนี้รู้สึกผิดหวังมากที่ อย. ใช้เทคนิค และกฎหมายไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง โดยอาศัยกฎหมายของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ในการดูแลผู้ประกอบวิชาชีพ แต่กลับซื้อเวลาและผลักภาระให้เดชาตัดสินใจ สร้างปัญหาให้กับกลุ่มผู้ป่วยของเดชาที่กำลังรอยาอย่างมีความหวัง ก่อนหน้านี้ทางมูลนิธิฯ มีความพยายามที่จะนำตัวอย่างน้ำมันกัญชาที่แจกจ่ายในท้องตลาด แต่ไม่มีหน่วยงานใดรับตรวจ ส่วน อย. หากต้องการที่จะตรวจความปลอดภัยน้ำมันกัญชา ทางมูลนิธิฯ สามารถจัดหามาให้ตรวจได้ เพราะตอนนี้มีขายเกลื่อนตลาด โดยทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมต่อเดชาอย่างยิ่ง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์