×
SCB Omnibus Fund 2024

จากแนวคิดสู่การใช้จริง บริการทางการเงินจาก Decentralized Finance

โดย SCB 10X
24.03.2021
  • LOADING...
จากแนวคิดสู่การใช้จริง บริการทางการเงินจาก Decentralized Finance

ในบทความก่อน เราได้นำเสนอถึงนิยามและศักยภาพในอนาคตของแนวคิดทางการเงินใหม่อย่าง Decentralized Finance ให้ทุกท่านได้ทราบกันไปแล้ว แต่สิ่งที่จะบอกถึงแนวโน้มความสำคัญของ DeFi ได้ดีที่สุดคือตัวอย่างของบริการทางการเงินที่เกิดขึ้นด้วยแนวคิด DeFi ซึ่งปัจจุบันบริการที่เกิดขึ้นไม่เพียงจะเป็น Disruptor ของระบบการเงินแบบเดิมเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ให้ผู้คนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในวันนี้เราจึงขอแนะนำตัวอย่างการใช้งานของแนวคิดการเงินแบบ DeFi ที่น่าสนใจให้ทุกท่านได้รู้จักกัน

 

ตัวอย่างการใช้งาน DeFi ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

สิ่งที่ทำให้ DeFi ได้รับความสนใจจากทุกคนคือ บริการทางการเงินที่ทำงานได้ไกลกว่าขอบเขตของบริการรูปแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นความรวดเร็วและแม่นยำที่มากกว่า ต้นทุนดำเนินการต่ำลง ความปลอดภัยสูงกว่า ไปจนถึงความยืดหยุ่นของบริการที่ CeFi ยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งตัวอย่างการใช้เหล่านี้ล้วนเป็นบริการที่เกิดขึ้นแล้ว หรือกำลังอยู่ในความสนใจของธุรกิจและภาคนโยบายที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ประกอบด้วย

 

Decentralized Exchanges 

บริการแลกเปลี่ยนเงินถือเป็นบริการพื้นฐานที่ทุกคนใช้กัน ซึ่งเดิมทีในโลก CeFi ผู้ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนเงินระหว่างกันจะทำทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจดบันทึกรายการ การรับและส่งมอบเงิน ไปจนถึงการยืนยันตัวตน การยืนยันความถูกต้องของธุรกรรม การสร้างความปลอดภัยให้กับรายการธุรกรรม ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่มาก มีต้นทุนสูงค่าดำเนินการและค่ารักษาระบบสูง และเป็นต้นทุนที่ผู้ใช้ต้องมีส่วนช่วยรับผิดชอบด้วย

 

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการสร้างระบบ Decentralized Exchange หรือ DEX ที่กระจายหน้าที่ของบรรดาผู้ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนเงินให้ดำเนินการโดยระบบทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนจดบันทึก การรับและส่งมอบเงิน ขั้นตอนนี้จะดำเนินการโดยอัตโนมัติผ่าน Smart Contract โดยรายการธุรกรรมใหม่จะบันทึกไปยังผู้ใช้จำนวนมากในระบบ ธุรกรรมที่ถูกต้องจึงมีหลายชุด การปลอมแปลงเพื่อทุจริตต้องแก้ไขทั้งระบบซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งตัวกลางไม่ได้ทำหน้าที่จัดเก็บและทำธุรกรรม ส่งผลให้ค่าบำรุงรักษาลดลงอย่างมาก

 

ที่สำคัญ ธุรกรรมบน DEX เกิดขึ้นเฉพาะระหว่างรายย่อยด้วยกันหรือ Peer-to-Peer เท่านั้น แม้จะทำการโจมตีระบบก็ไม่สามารถสั่งให้เงินเคลื่อนย้ายไปที่ใดที่หนึ่งได้ ต่างจาก CeFi ซึ่งหากตัวกลางถูกโจมตี ก็เสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง

 

ตัวอย่างสตาร์ทอัพที่พัฒนาบริการ DEX ได้แก่ AirSwap ผู้ให้บริการ Peer-to-Peer Trading หรือ Ren Platform แลกเปลี่ยนอย่างง่ายที่พัฒนาให้รองรับการใช้งานคริปโตเคอร์เรนซียอดนิยมอย่างบิตคอยน์

 

Open Lending Platforms

อีกหนึ่งตัวอย่างการใช้งานที่ได้รับความสนใจอย่างมากในระบบการทำงานของ DeFi คือ Open Lending Platform โดยนอกจากตัวบล็อกเชนจะดำเนินการอัตโนมัติ ทำให้มีต้นทุนที่ต่ำแล้ว ยังเปลี่ยนวิธีการที่เราคิดกับการกู้ยืมเงินไปอย่างมาก

 

Open Lending Platform คือพื้นที่กลางที่เปิดรับทั้งผู้ให้กู้และผู้ขอกู้ โดยผู้ให้กู้จะวางเงินเข้าสู่ระบบและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนผู้ขอกู้จะดำเนินการขอเงินกู้โดยต้องวางสินทรัพย์ ซึ่งในระบบส่วนใหญ่จะใช้เป็นคริปโตเคอร์เรนซี

 

ขั้นตอนทั้งหมดจะดำเนินโดยอัตโนมัติผ่าน Smart Contract เริ่มตั้งแต่เมื่อมีผู้มาขอกู้เงินและวางสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อค้ำประกัน ผู้ขอกู้จะได้รับเงินสดที่มีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกัน และเมื่อผู้ขอกู้จะรับสินทรัพย์คืนก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มด้วยเล็กน้อย จึงจะสามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ค้ำประกันอยู่ออกมาได้ ซึ่งหากผู้ขอกู้ไม่สามารถคืนเงินได้ สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นก็จะถูกขายเพื่อเอาเงินสดมาคืนให้กับผู้ให้กู้ เพื่อควบคุมความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวนของคริปโตเคอร์เรนซีนั้น

 

จุดเด่นของ Open Lending Platform อยู่ที่มีต้นทุนดำเนินการที่ถูกกว่าการให้กู้แบบเดิม เหมาะสำหรับการกู้เงินจำนวนน้อยหรือ Micro-Lending ช่วยให้ผู้คนจำนวนมากเข้าถึงเงินสด โดยเฉพาะกลุ่ม Underbank ผู้ให้กู้เองนอกจากจะมีความเสี่ยงน้อยลงเนื่องจากได้เงินสดคืนหากเกิดความผิดพลาดแล้ว ยังสามารถเลือกกำหนดกลุ่มผู้ขอกู้ จำนวนเงิน ไปจนถึงเป้าหมายการใช้เงินซึ่งมีส่วนต่อผลตอบแทนด้วย

ผู้ให้บริการด้าน Open Lending ที่น่าสนใจ ได้แก่ BlockFi ผู้รับฝากคริปโตเคอร์เรนซี และให้บริการกู้เงินโดยมี Digital Asset เป็นตัวค้ำประกัน, Compound ตลาดเงินที่เชื่อมผู้กู้กับผู้ยืมบนอีเทอเรียม และ Aave Platform เปิดที่รองรับการฝากคริปโตเคอร์เรนซีและการกู้ โดยมี Digital Asset เป็นตัวค้ำประกัน

 

Decentralized Insurance

ประกันภัยเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยควบคุมความเสี่ยงของธุรกิจและส่วนบุคคลได้เป็นอย่างดี แต่ปัญหาคือเมื่อบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับประกันภัยและจัดหาเงินทั้งหมด ความเสี่ยงทั้งหมดก็จะตกอยู่ที่บริษัทประกันเอง ในโลก DeFi จึงมีแนวคิดกระจายความเสี่ยงและผลตอบแทนของบริษัทประกัน รวมถึงเพิ่มความโปร่งใสให้กับบริการกลุ่มประกันภัยด้วย

 

แทนที่การหาเงินระดมทุนจะเป็นหน้าที่ของบริษัทประกันเพียงฝ่ายเดียว Decentralized Insurance จะเปิดให้นักลงทุนร่วมลงขันในเงินกองกลาง ซึ่งผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากค่าพรีเมียมของผู้เอาประกัน ในขณะเดียวกัน บริษัทประกันภัยก็จะมีเงินชดเชยไว้สำหรับผู้เอาประกันอย่างแน่นอน

 

Decentralized Insurance ยังสร้างความโปร่งใสยิ่งขึ้นด้วยการยกเงื่อนไขเอาประกันให้อยู่ใน Smart Contract แบบสาธารณะ ผู้เอาประกันก็จะมั่นใจมากขึ้นเมื่อไม่ต้องขอเอาประกันด้วยเอกสารที่ดูคลุมเครือ และช่วยลดโอกาสปลอมแปลงความเสียหายเพื่อเอาประกัน ลดความเสี่ยงของบริษัทประกันในอีกทางหนึ่ง

 

สำหรับผู้ให้บริการด้าน Decentralized Insurance ที่น่าสนใจในปัจจุบัน ได้แก่ Etherisc ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเปิดให้ทุกคนออกแบบเงื่อนไขประกัยภัยร่วมกัน กับ Nexus Mutual ผู้ให้บริการประกันภัยแบบ Risk-sharing Pool ที่ทุกคนสามารถซื้อความคุ้มครองได้

 

Capital Market และ Tokenization

ตลาดทุนเป็นเขตแดนใหญ่ของโลกการเงินที่มีระบบซับซ้อน ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนส่วนใหญ่จะเป็นระบบปิดและยังไม่เป็นระบบอัตโนมัติ ทำให้ทั้งการสมัครใช้ การลงทะเบียนใช้งาน การซื้อขายแลกเปลี่ยนยังลำบากและมีต้นทุนที่สูงอยู่

 

แนวคิด DeFi จะเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวในโลกตลาดทุนด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานร่วมสำหรับบริการที่จำเป็นสำหรับนักลงทุน เช่น ขั้นตอนการระบุตัวตนลูกค้าหรือ Know-Your-Customer เพื่อเข้าใช้งานหรือส่งคำสั่งซื้อขายผ่าน สามารถเปลี่ยนจากการใช้ข้อมูลส่วนตัวทุกครั้งมาเป็น E-Signature หรือรหัส Cryptographic บนบล็อกเชน ตัวนักลงทุนจะไม่ต้องใช้ข้อมูลส่วนตัว และทุกขั้นตอนจะดำเนินไปโดยอัตโนมัติ ซึ่ง Goldman Sachs ระบุว่า การทำ KYC บนบล็อกเชนจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในอุตสาหกรรมการเงินถึงปีละ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

นอกจาก KYC แล้ว DeFi ยังรองรับการทำ Tokenization กับสินทรัพย์รูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ดิจิทัลไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ การทำ Tokenization จะช่วยแบ่งสิทธิ์ของสินทรัพย์ที่จะลงทุนได้ละเอียดยิ่งขึ้นโดยอาศัยบล็อกเชน เราจึงสามารถระดมทุนกับสินทรัพย์หลายชนิดที่ระบบแบบเดิมไม่สามารถทำได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์หน่วยย่อยระดับอาคารเดี่ยวหรือห้องอพาร์ตเมนต์ราคาสูง งานศิลปะชิ้นที่มีมูลค่าสูง ไปจนถึงวัตถุดิบผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ก็สามารถระดมทุนเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างผลตอบแทนได้

 

ผู้ให้บริการด้านการลงทุนแบบ DeFi ที่น่าสนใจได้แก่ Harbor ผู้ให้บริการ Tokenization สินทรัพย์ทางเลือก และ Securitize ผู้ให้บริการด้าน Digitize สินทรัพย์บนบล็อกเชนแบบครบวงจร

 

แม้ว่ายังมีกรณีศึกษาอีกมาก แต่จากตัวอย่างเหล่านี้ก็น่าจะทำให้ผู้อ่านทุกท่านได้เห็นถึงศักยภาพของ DeFi ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ใช้ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์เต็มที่หากโลกการเงินก้าวสู่การให้บริการแบบกระจายศูนย์มากขึ้น ทั้งนี้ โลกของ DeFi ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่ง SCB 10X จะนำเสนอแก่ทุกท่านในโอกาสต่อไป

 

#SCB10X# DE-FI#USE CASE DE-FI

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising