×

มาตรการแก้หนี้ใหม่ ‘คุณสู้ เราช่วย’ มุ่งช่วย SM-NPL รวม 2.1 ล้านบัญชี รมว.คลัง หวังกดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ต่ำกว่า 80%

12.12.2024
  • LOADING...
คุณสู้ เราช่วย

มาตรการแก้หนี้ใหม่ ‘คุณสู้ เราช่วย’ มุ่งช่วยลูกหนี้ SM และ NPL รวมกว่า 2.1 ล้านบัญชี ด้าน รมว.คลัง หวังโครงการประสบความสำเร็จ เพื่อกดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ต่ำกว่า 80% ขณะที่แบงก์ชาติเผยลูกหนี้ Non-Bank จ่อได้รับความช่วยเหลือในระยะถัดไป

 

วานนี้ (11 ธันวาคม) กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์), สมาคมธนาคารไทย, สมาคมธนาคารนานาชาติ, สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs 

 

โดย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวครอบคลุมลูกหนี้รวมจำนวน 2.1 ล้านบัญชี คิดเป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านราย และมียอดหนี้รวมประมาณ 8.9 แสนล้านบาท พร้อมตั้งความหวังว่าโครงการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ โดยตนก็อยากเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงต่ำกว่า 80%

 

“ผมหวังว่าคนจะเข้าร่วมเยอะ เพื่อที่เราจะได้เห็นเงินต้นลดลง ลูกหนี้กลายเป็นเด็กดีต่อเนื่อง เป็นคนที่สู้ และเห็นยอด NPL ลดลง SM น้อยลง โดยหากมาตรการนี้สำเร็จด้วยดี และเศรษฐกิจไทยโตขึ้น คาดว่าจะลดหนี้ครัวเรือนไปได้หลาย 10% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดี” พิชัยกล่าว

 

พร้อมเสริมว่า การที่หนี้ครัวเรือนจะลดลงต่ำกว่า 80% ต่อ GDP ได้ สามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การลดหนี้ครัวเรือนในส่วนที่ไม่จำเป็นลง และทำให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ในระยะต่อไป

 

ขณะที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นงานที่ ธปท. ให้ความสำคัญและผลักดันมาต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยโครงการนี้มี 2 จุดสำคัญที่ต่างจากที่ผ่านมา 

 

  1. การปรับโครงสร้างหนี้ที่เน้นตัดเงินต้นและลดภาระผ่อนในช่วง 3 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ 2. การร่วมสมทบเงิน 
(Co-payment) จากภาครัฐและสถาบันการเงินเพื่อช่วยลดภาระจ่ายของลูกหนี้

 

“คุณสู้ สะท้อนถึงลูกหนี้ที่พร้อมจะสู้ต่อในการแก้ไขปัญหาหนี้ ส่วน เราช่วย คือภาครัฐและสถาบันการเงินที่พร้อมช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อลดภาระและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น ความสำเร็จของโครงการนี้จึงถือเป็นความร่วมมือจากทั้งลูกหนี้ ภาครัฐ และเจ้าหนี้ ในการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า “สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก พร้อมสนับสนุนภาครัฐในโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก ซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงบริษัทลูกในกลุ่มได้ราว 1.5 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท

 

วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ คาดว่ามีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ทั้ง 2 มาตรการของสถาบันการเงินของรัฐ จำนวนประมาณ 6 แสนบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4.5 แสนล้านบาท

 

สรุป 2 มาตรการย่อย

 

ทั้งนี้ โครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ แบ่งเป็น 2 มาตรการย่อย ได้แก่ มาตรการที่ 1 ‘จ่ายตรง คงทรัพย์’ และมาตรการที่ 2 ‘จ่าย ปิด จบ’

 

โดยมาตรการที่ 1 ‘จ่ายตรง คงทรัพย์’ เป็นการลดค่างวดเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยลูกหนี้ชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 50%, 70% และ 90% ของค่างวดเดิม ในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ ซึ่งค่างวดทั้งหมดจะนำไปตัดเงินต้น รวมทั้งพักดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับยกเว้นทั้งหมด หากลูกหนี้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่อยู่ภายใต้มาตรการ โดยมีสินเชื่อที่เข้าร่วมดังนี้

 

  • สินเชื่อบ้าน และ/หรือ บ้านแลกเงิน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
  • สินเชื่อเช่าซื้อ และ/หรือ จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 800,000 บาท
  • สินเชื่อเช่าซื้อ และ/หรือจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท
  • สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
  • กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือรถที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น สามารถพิจารณาเข้ามาตรการรวมหนี้ได้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรับได้ โดยวงเงินเมื่อรวมแล้วไม่เกินเงื่อนไขที่กำหนด

 

ส่วนมาตรการที่ 2 ‘จ่าย ปิด จบ’ มีรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและเงื่อนไข เช่น การปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรนโดยลดภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระ 10% ภาครัฐรับภาระ 45% และสถาบันการเงินรับภาระ 45% ของภาระหนี้คงค้าง

 

เปิดแหล่งเงินทำ 2 มาตรการย่อย 

 

  • การลดเงินนำส่งเข้า FIDF ของธนาคารพาณิชย์ (ที่ได้รับการละเว้นจากการปรับลดอัตรานำส่งเงินฯ) จำนวน 3.9 หมื่นล้านบาท
  • เงินสมทบของธนาคารพาณิชย์
  • เงินงบประมาณตามมาตรา 28 เพื่อชดเชยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) 6 แห่ง จำนวน 38,920 ล้านบาท

 

ลูกหนี้ Non-Bank จ่อได้รับความช่วยเหลือในระยะถัดไป

 

ในระยะต่อไปจะมีความช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-Bank อื่นๆ ออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไป เพื่อร่วมกันผลักดันให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างและครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น

 

รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เหตุผลที่มาตรการปัจจุบันยังไม่รวมผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ที่ไม่ใช่บริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน ทำให้มาตรการช่วยเหลืออาจแตกต่างกัน และแหล่งเงินทุนช่วยเหลือไม่ได้มีความชัดเจนเหมือนธนาคารพาณิชย์ (ที่ใช้ FIDF) หรือธนาคารรัฐ (ที่ใช้มาตรา 28) ดังนั้นจึงต้องหามาตรการลักษณะอื่นมาช่วย ซึ่งกำลังหารือกันอยู่ โดยคาดว่าอย่างช้าที่สุดจะชัดเจนภายในต้นปี 2568

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X