‘คลินิกแก้หนี้ by SAM’ เผยผลงาน 6 ปี ช่วยคนเป็นหนี้เสียบัตร เข้าโครงการฯ แล้วประมาณ 120,000 บัญชี รวมมูลหนี้เกือบ 8,000 ล้านบาท เผยหลังปรับเกณฑ์หนี้เสียค้างชำระเกิน 120 วัน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา มียอดผู้สนใจสมัครพุ่งสูงกว่า 17,000 ราย หรือเพิ่มกว่าเดือนก่อนหน้าถึง 280% ด้านแบงก์ชาติตั้งเป้าเพิ่มผู้เข้าร่วมโครงการอีก 50,000 บัญชีในครึ่งปีหลังนี้
วันนี้ (19 มิถุนายน) ธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งได้รับมอบหมายจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เป็นผู้ดูแล ‘โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM’ ถึงปัจจุบัน มีจำนวนลูกค้าที่ลงนามสัญญาเข้าร่วมโครงการฯ แล้วทั้งสิ้น 40,030 ราย หรือ 116,947 บัญชี คิดเป็นภาระหนี้เงินต้นตามสัญญา 7,928 ล้านบาท
โดยเป็นลูกค้าที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว สามารถกลับไปดำเนินชีวิตหรือธุรกิจได้ตามปกติ จำนวน 1,312 ราย หรือ 3,351 บัญชี คิดเป็นภาระหนี้เงินต้นตามสัญญาประมาณ 179 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยังมีลูกค้าบางส่วนที่ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข ทำให้ต้องออกจากโครงการฯ และเสียโอกาสในการแก้ไขหนี้ โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM จึงได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่เริ่มมีปัญหาการผ่อนชำระ โดยจะพิจารณาปรับแผนการชำระหนี้ที่เหมาะสมให้กับลูกค้าเป็นรายกรณีตามเหตุผลและความจำเป็น เพื่อให้ลูกค้าสามารถผ่อนชำระได้ตามความสามารถที่แท้จริงอย่างต่อเนื่องและปลดหนี้ได้ในที่สุด
“หลังจากที่ได้มีการประกาศปรับเกณฑ์คุณสมบัติใหม่ให้กับลูกค้าที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ค้างชำระเกินกว่า 120 วัน (ตามรายงานเครดิตบูโร ณ เดือนปัจจุบันมีสถานะค้างชำระตั้งแต่ 121-150 วันขึ้นไป) สามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ได้เลย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา จากเดิมต้องมีสถานะเป็นหนี้เสียก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เท่านั้น ทำให้ยอดจำนวนผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นสูงถึง 17,600 ราย หรือเพิ่มขึ้น 288% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2566 จะมีจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นถึง 155,000 บัญชี” ธรัฐพรกล่าว
ธรัฐพรกล่าวอีกว่า ค่อนข้างพอใจกับโครงการคลินิกแก้หนี้ เนื่องจากมองว่าเป็นอีกกลไกที่มาช่วยตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยกล่าวว่า “ลูกค้าส่วนใหญ่ของโครงการคลินิกแก้หนี้ 90% มาจากช่วงที่โควิดระบาด สะท้อนว่าโครงการซึ่งเพิ่งเริ่มขึ้นในปี 2560 ได้ใช้ประโยชน์จริง ตอบโจทย์ และเน้นการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าจริง”
แบงก์ชาติตั้งเป้าเพิ่มผู้เข้าร่วมโครงการอีก 50,000 บัญชี
สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. กล่าวในงานว่า หนี้ครัวเรือนเป็นสิ่งที่ ธปท. ให้ความสำคัญและติดตามมาตลอด เพราะหากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงมาก ความแข็งแรงของเศรษฐกิจก็จะอ่อนแอลง เราจึงได้พูดคุยกับทางสถาบันการเงินว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร หนึ่งในแนวทางการแก้ก็คือโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน พร้อมทั้งตั้งเป้าให้โครงการเพิ่มจำนวนลูกค้าที่ลงนามสัญญาเข้าร่วมอีก 50,000 บัญชีภายในช่วงครึ่งปีหลังนี้
“จากการสำรวจทั่วประเทศ ธปท. พบว่า หนึ่งในปัญหาคือลูกหนี้ยังไม่ทราบเกี่ยวกับการมีอยู่ของโครงการนี้ จึงได้ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินและผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงินช่วยกันเผยแพร่ข่าวสาร” สิริธิดากล่าว
เปิดคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมและอัตราดอกเบี้ยโครงการ
คุณสมบัติผู้สนใจสมัครเข้าร่วม ‘โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM’ ได้แก่
- ต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ มีอายุไม่เกิน 70 ปี
- มียอดหนี้รวมกันไม่เกิน 2 ล้านบาท
- เป็นหนี้เสียค้างชำระมากกว่า 120 วัน
และเพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาผลการสมัคร ขอให้ลูกค้าเตรียมเอกสารสำคัญประกอบการสมัคร ดังนี้ 1. เอกสารรายงานเครดิตบูโร 2. สำเนาบัตรประชาชน 3. สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 1 เดือน หรือหนังสือรับรองเงินเดือน (กรณีผู้มีรายได้ประจำ) / รายการเดินบัญชี (Statement) อย่างน้อย 3 เดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ (กรณีอาชีพอิสระ)
โดยลูกค้าที่เป็นหนี้เสียรายใหม่และมีคุณสมบัติผ่านหลักเกณฑ์เข้าร่วม ‘โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM’ จะได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพียง 3-5% และระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 10 ปี โดยเสนอทางเลือกการปรับโครงสร้างหนี้เป็น 3 ทางเลือก คือ 1. ผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี 2. ผ่อนชำระนานกว่า 4 ปี ไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี 3. ผ่อนชำระนานกว่า 7 ปี ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี