วันนี้ (5 กรกฎาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้หารือเรื่องหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และรับทราบถึงหนี้ที่ยังไม่สามารถชำระให้บริษัทเอกชนได้ วงเงินรวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยเตรียมส่งเรื่องต่อให้รัฐบาลหน้า
ชัชชาติกล่าวว่า ขณะนี้เป็น ครม. รักษาการ สิ่งที่ กทม. ขอไปให้ช่วยชำระค่าโครงสร้างพื้นฐานและค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ก็คงอยู่นอกเหนือจากอำนาจของรัฐบาลชุดนี้ แต่อย่างน้อยก็เพื่อให้ท่านได้รับทราบว่า กทม. คิดอย่างไร
ซึ่งจริงๆ แล้ว กทม. ส่งเรื่องดังกล่าวให้ท่านพิจารณาตั้งนานแล้ว แต่ทั้งนี้ก็เป็นตามที่คาดการณ์ไว้แล้ว และ กทม. ต้องรอรัฐบาลใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ชัชชาติกล่าวว่า ส่วนของ กทม. มีการดำเนินการภายใน โดยคณะกรรมาธิการก็พูดคุยกันในเรื่องนี้ ทำให้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น และตนมองว่าปัจจุบันเริ่มมีความชัดเจนขึ้น แต่การที่ ครม. นำเรื่องเข้าไปเพื่อรับทราบก็ถือเป็นเรื่องที่ดี
เมื่อถามว่าหากยื้อเวลาออกไปจะมีผลต่อดอกเบี้ยในเดือนต่อๆ ไปหรือไม่นั้น ชัชชาติระบุว่า ดอกเบี้ยคงจะเจรจาได้ และหลายๆ อย่างได้ระบุไว้ ซึ่งการที่ กทม. ไม่ได้จ่ายหนี้ก็เพราะมีมาตรา 44 ที่กำหนดเงื่อนไขในการต่อสัญญาสัมปทานออกไปอีก 30 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดปี 2572 อย่างไรก็ตาม กทม. ไม่ได้ผิดสัญญาอะไร แต่เป็นเงื่อนไขการเจรจาที่ต่อเนื่องกันมา ตั้งแต่ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง
ชัชชาติกล่าวย้ำว่า สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลตัดสินใจคือเรื่องของมาตรา 44 จะเอาอย่างไรต่อ จะเดินหน้าหรือจะยุติ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากมีการรวมหนี้เก่าไปเป็นสัมปทานใหม่ ซึ่งหากจะไม่เอาก็ต้องยุติให้ชัดเจน เพราะมาตรา 44 เหมือน พ.ร.บ. ที่เราต้องปฏิบัติตาม
ส่วนอีกเรื่องคือเรื่องหนี้ที่ กทม. ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ คือ หนี้โครงสร้างพื้นที่ และหนี้ค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วง แบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งหากรัฐบาลช่วยได้ตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ก็เชื่อว่าน่าจะทำให้ดีขึ้นได้
เมื่อถามว่าประเด็นเรื่องการใช้มาตรา 44 จะต้องตัดสินใจให้จบในรัฐบาลนี้หรือไม่ ชัชชาติระบุว่า คงไม่ก้าวล่วง แล้วแต่ท่าน เราก็เคารพการตัดสินใจ ไม่มีปัญหา