วันนี้ (3 เมษายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 32 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 วาระพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ซึ่งสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152
ศิริกัญญา ตันสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้กล่าวอภิปรายว่า รัฐบาลได้แถลงผลงาน 3 เดือน หลายเรื่อง หลายโครงการ ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนแรก เช่น เรื่องการลดรายจ่าย ต้องขอชื่นชม หลายโครงการยังอยู่ในระดับขับเคลื่อน ผลักดัน ส่งเสริม และเร่งรัด แต่ยังไม่มีผลสัมฤทธิ์อะไร ก็เอามาบรรจุเป็นผลงานไว้ และหลายเรื่องก็เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่แน่ใจว่าเป็นผลงานได้
อย่างไรก็ตามพบว่า มีการผลิตซ้ำผลงานเมื่อ 3 เดือนก่อนมาเป็นผลงาน 6 เดือน กลับกลายเป็นว่าผลงานที่เพิ่มขึ้นมามีน้อยมาก เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีเป็นแบบพาร์ตไทม์หรือไม่ แล้วเอาเวลาส่วนอื่นไปเป็นเซลส์แมน ทำให้ไม่มีใครมาบริหารราชการแผ่นดินแบบฟูลไทม์
ศิริกัญญาชี้ว่า มาตรการลดรายจ่ายทั้งหมดของรัฐบาลทยอยหมดอายุ ทั้งเรื่องลดค่าไฟ 3.999 บาทต่อหน่วย หมดอายุไป 3 เดือนที่แล้ว ในเดือนพฤษภาคมประชาชนจะต้องจ่ายคืนหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ความจริงต้นทุนของค่าไฟลดลงมาเหลือ 3 บาทกว่าแล้ว แต่ยังเหลือภาระหนี้ ขณะที่การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน 1 บาท หมดอายุไปตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม เช่นเดียวกับการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่กำลังจะหมดอายุในช่วงสงกรานต์นี้ จึงต้องตั้งคำถามว่าจะเอาอย่างไรต่อ หรือจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายแบบครั้งคราว แต่ไม่มีการแก้ไขปัญหาระยะยาว
นอกจากนี้การลดค่าใช้จ่ายยังเกิดภาระให้หน่วยงานอื่น เช่น กองทุนน้ำมันต้องทำหน้าที่แบก ข้อมูลเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ติดลบไปแล้ว 1 แสนล้านบาท ขณะที่เงินกู้ก็ใกล้เต็มเพดาน รัฐบาลจะมีแผนรองรับอย่างไร จะมีการออก พ.ร.บ.ขยายวงเงินกู้ยืม ให้กับกองทุนน้ำมันอีกหรือไม่ แล้วเราจะยังมีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอหรือเปล่า เมื่อจำเป็นต้องการพื้นที่นั้นสำหรับทำดิจิทัลวอลเล็ต
ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า รายได้ของเกษตรกรลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายว่ากำลังซื้อของเกษตรกรกำลังตกลง เช่นเดียวกับยอดการซื้อรถจักรยานยนต์ในปีนี้ติดลบไปแล้ว 10% รวมถึงยอดการซื้อรถปิกอัพจดทะเบียนในเดือนนี้หดตัวลง 36% ซึ่งเป็นปัญหา เพราะรถปิกอัพคือการลงทุนของผู้ประกอบการรายย่อยสำหรับขนส่ง รัฐบาลมีมาตรการอะไรมาพยุงกำลังซื้อในระยะสั้น
ศิริกัญญายังมองด้วยว่า มาตรการวีซ่าฟรีไม่ได้ช่วยอะไร เนื่องจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่หลังสถานการณ์โควิด โดยจำนวนที่นั่งไปเที่ยวบินจากจีนมาไทยลดลงจากเดือนก่อนหน้า ตามหลังญี่ปุ่นแล้ว รัฐบาลจะแก้ปัญหาโครงสร้างแบบนี้ที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนมากเกินไปได้อย่างไร
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลยังตั้งคำถามถึงความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะเมื่อจีนเริ่มรุกคืบในการดำเนินนโยบายการผลิตภายในประเทศมากขึ้น โดยไทยพึ่งพาสินค้าอุปโภคบริโภคนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นมาเป็น 41% ทำให้ไทยขาดดุลทางการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง
“ต้องขอทวงถามกับทางรัฐบาลว่าจะมีแนวทางอย่างไรในเรื่องนี้ ในเมื่อท่านเองได้ไปสัมภาษณ์กับสื่อของจีนเอาไว้ว่า ท่านมองประเทศจีนเหมือนเป็น Big Brother หรือตั่วเฮีย จึงไม่รู้ว่าท่านจะมีนโยบายอย่างไรกับเรื่องนี้ เมื่อจีนรุกคืบเข้ามาเรื่อยๆ ดิฉันไม่ได้บอกว่าเราต้องปกป้องคุ้มครองทุกอุตสาหกรรม แต่ถ้าเราจะเปิดกว้างแบบไม่เลือกอะไรเลย ไม่คุ้มครองอะไรเลย ก็ทำไม่ได้เช่นกัน” ศิริกัญญากล่าว
ศิริกัญญายังตั้งคำถามถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ค่อนข้างเปลี่ยนไปมาถึง 5 ครั้ง และเลื่อนการแจกเงินอย่างน้อย 4 ครั้ง จนต้องตั้งคำถามว่า รัฐบาลมีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาก่อนจริงๆ หรือไม่ แสดงว่าไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่เริ่มต้น และในเมื่อไม่เป็นไปตามที่แถลงก็จะเกิดความเสียหาย พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้ระบบเศรษฐกิจ
จุลพันธ์ยืนยัน 10 เมษายนนี้ มีข่าวดี
ด้าน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงเรื่องการประกาศตัวเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยเมื่อวานนี้ (2 เมษายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการแถลงยุทธศาสตร์ที่สมบูรณ์ หากสมาชิกไปติดตามดูก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนของประเทศไทยในอนาคต และรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้า FTA กับหลายประเทศในอนาคต ไม่ได้ละเลยและจะติดตามอย่างใกล้ชิด
“ส่วนข้อห่วงใยที่ว่าประเทศใหญ่ ผมไม่ขออนุญาตเอ่ยชื่อประเทศที่อาจจะมีผลกระทบกับภาคธุรกิจไทย ประเด็นเหล่านี้ทางภาครัฐได้ตระหนักและหากลไกในการป้องกันแน่นอน สำคัญที่สุดคือการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบ ระบบอุตสาหกรรมประเทศไทยจะกลายเป็นผู้ประกอบชิ้นส่วน เป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้ามาในประเทศไทย” จุลพันธ์กล่าว
สำหรับคำถามเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จุลพันธ์ระบุว่า ส่วนตัวก็อยากชี้แจงให้ชัดเจนเหมือนกับที่มีผู้อยากจะถาม แต่ต้องยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงจริงในหลายมิติ ทั้งในเรื่องของจำนวนคนที่เข้าสู่โครงการ เรื่องกลไกรายละเอียดปลีกย่อย รวมถึงแหล่งเงิน การเปลี่ยนแปลงทุกครั้งไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลอยากเปลี่ยน แต่ต้องเปลี่ยนไปตามกรอบกฎหมายและข้อเสนอแนะของหน่วยงาน เพื่อให้โครงการเดินหน้า
ทั้งนี้ จุลพันธ์ยืนยันว่า โครงการนี้ได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ อย่างเข้มข้น ถึงแม้จะยังไม่ได้เริ่มมอบเงินให้ประชาชน แต่ก็เป็นเรื่องที่ดี เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องชี้แจงปรับเปลี่ยนให้โครงการสอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ และขอความกรุณารอวันที่ 10 เมษายน 2567 ก็จะมีความชัดเจน เพราะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต