×

ถ้าจะให้เด็กจบใหม่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาขนาดนี้ หนูควรลาออกดีไหมคะ

13.02.2019
  • LOADING...
deal-with-work-hard

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่พี่เจอก็คือเด็กรุ่นใหม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตมากขึ้น คุณภาพชีวิตในที่นี้หมายถึงอิสระในการจัดสรรเวลาให้มีทั้งเวลาที่เป็นส่วนตัว เวลาส่วนรวม และเวลาทำงานอยู่ร่วมกันได้ ความสำเร็จในชีวิตของพวกเขาอาจหมายถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่มาพร้อมการเติบโตในหน้าที่การงานไปด้วย ไม่ใช่การเติบโตในหน้าที่การงาน แต่ชีวิตด้านอื่นพังพินาศหมดเลย บางทีที่เด็กรุ่นใหม่คิดแบบนี้ก็เพราะได้เรียนรู้จากคนรุ่นก่อนว่าการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแบบที่ชีวิตส่วนตัวล่มสลายไม่ใช่ชีวิตที่ดี เขาคงไม่อยากเป็นคนที่มีตำแหน่งใหญ่โต มีชื่อเสียง แต่สุดท้ายทำงานจนเป็นมะเร็ง หรือขับรถหลับในเพราะทำงานหนัก แล้วสุดท้ายนอนเป็นผักอยู่บนเตียง
  • ใครที่เป็นผู้นำองค์กรทั้งหัวหน้าหรือเจ้าของบริษัท น่าจะทำความเข้าใจแล้วว่าไม่มีใครอยากจะทุ่มเทให้กับองค์กรจนเขาต้องสูญเสียชีวิตด้านอื่นไปหรอกครับ ถ้าอยากรักษาคนให้เติบโตในองค์กรได้ เราต้องออกแบบองค์กรที่ไม่ได้มองว่าพนักงานมาเพื่อ ‘ทำงาน’ อย่างเดียว แต่ให้มองว่าพนักงานมาเพื่อ ‘ใช้ชีวิต’ พอเป็นแบบนี้เราจะไม่ได้มองพนักงานเป็นเครื่องจักร แต่เรามองเขาเป็นสิ่งมีชีวิต เพราะฉะนั้นวิธีปฏิบัติต่อพนักงานจะไม่เหมือนกัน มองว่าเขาเป็นเครื่องจักรผลิตงานก็แบบหนึ่ง มองว่าเขาคือหนึ่งชีวิตที่เข้ามาใช้ชีวิตในบริษัทก็จะอีกแบบหนึ่ง
  • เรื่องหนึ่งที่พี่อยากบอกน้องก็คือมันไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ มันไม่มีงานที่ลงแรงน้อย ไม่ต้องเหนื่อย แต่ได้เงินเยอะ เวลาก็ว่าง พี่คิดว่าทุกอย่างมันต้องแลกกัน แต่ไม่ได้แปลว่าน้องจะมีชีวิตแบบที่น้องอยากมีไม่ได้ คำแนะนำของพี่สำหรับเด็กจบใหม่ก็คือช่วง 1-3 ปีแรกของการทำงาน เผลอๆ อาจจะ 5 ปีแรกด้วยซ้ำ ให้คิดไว้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการหาประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด เพราะน้องจะได้เรียนรู้ทุกอย่างตั้งแต่ในระดับพื้นฐานที่สุด แล้วการมีประสบการณ์นี่ล่ะครับที่จะทำให้น้องมีต้นทุนเพื่อออกแบบชีวิตในแบบที่น้องอยากมีได้

Q: หนูเพิ่งเรียนจบมาและกำลังทำงานแรกค่ะ ปัญหาของหนูก็คืองานที่ทำอยู่หนักมาก บางทีต้องหอบงานกลับมาทำที่บ้าน เสาร์-อาทิตย์บางทีก็ยังทำงานอยู่เลย ถ้าหนูไม่ทำ งานก็ไม่เสร็จ หนูเริ่มรู้สึกว่าทำไมงานมันหนักจัง เงินก็ให้น้อย เวลาให้ครอบครัวหนูก็ไม่ค่อยจะมีให้ เพราะทำแต่งาน หรือหนูควรลาออกไปทำงานที่มีเวลาและให้เงินมากกว่านี้ดีคะ

 

A: ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่พี่เจอก็คือเด็กรุ่นใหม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตมากขึ้น คุณภาพชีวิตในที่นี้หมายถึงอิสระในการจัดสรรเวลาให้มีทั้งเวลาที่เป็นเวลาส่วนตัว เวลาส่วนรวม และเวลาทำงานอยู่ร่วมกันได้ ความสำเร็จในชีวิตของพวกเขาอาจหมายถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่มาพร้อมการเติบโตในหน้าที่การงานไปด้วย ไม่ใช่การเติบโตในหน้าที่การงาน แต่ชีวิตด้านอื่นพังพินาศหมดเลย

 

บางทีที่เด็กรุ่นใหม่คิดแบบนี้ก็เพราะได้เรียนรู้จากคนรุ่นก่อนว่าการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแบบที่ชีวิตส่วนตัวล่มสลายไม่ใช่ชีวิตที่ดี เขาคงไม่อยากเป็นคนที่มีตำแหน่งใหญ่โต มีชื่อเสียง แต่สุดท้ายทำงานจนเป็นมะเร็ง หรือขับรถหลับในเพราะทำงานหนัก แล้วสุดท้ายนอนเป็นผักอยู่บนเตียง

 

มันน่าเสียดายนะครับถ้าเราจะประสบความสำเร็จ แต่หันไปมองคนรอบข้างแล้วเราไม่เหลือใครที่ยินดีกับเราไปด้วย และต่อให้ไม่ได้เป็นเด็กรุ่นใหม่ ผมก็คิดว่าเราควรบริหารชีวิตให้ไปได้ดีทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตส่วนรวม และชีวิตหน้าที่การงาน

 

เพราะฉะนั้นใครที่เป็นผู้นำองค์กรทั้งหัวหน้าหรือเจ้าของบริษัท น่าจะทำความเข้าใจแล้วว่าไม่มีใครอยากจะทุ่มเทให้กับองค์กรจนเขาต้องสูญเสียชีวิตด้านอื่นไปหรอกครับ ถ้าอยากรักษาคนให้เติบโตในองค์กรได้ เราต้องออกแบบองค์กรที่ไม่ได้มองว่าพนักงานมาเพื่อ ‘ทำงาน’ อย่างเดียว แต่ให้มองว่าพนักงานมาเพื่อ ‘ใช้ชีวิต’ พอเป็นแบบนี้เราจะไม่ได้มองพนักงานเป็นเครื่องจักร แต่เรามองเขาเป็นสิ่งมีชีวิต เพราะฉะนั้นวิธีปฏิบัติต่อพนักงานจะไม่เหมือนกัน มองว่าเขาเป็นเครื่องจักรผลิตงานก็แบบหนึ่ง มองว่าเขาคือหนึ่งชีวิตที่เข้ามาใช้ชีวิตในบริษัทก็จะอีกแบบหนึ่ง

 

นั่นแปลว่าเราต้องไม่ได้คิดแค่ว่าเขาจะมาทำงานได้ดีอย่างไร แต่ต้องคิดเผื่อไปว่าบริษัทของเราจะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตดีได้อย่างไร แม้กระทั่งเมื่อเขาก้าวออกจากออฟฟิศเพื่อกลับไปที่บ้าน บริษัทก็ยังดูแลเขาหรือทำให้เขามีชีวิตที่บ้านที่ดีไปด้วยเหมือนกัน

 

แบบนั้นล่ะครับคือองค์กรที่มองพนักงานเป็นสิ่งมีชีวิตจริงๆ อันนี้คงต้องฝากหลายองค์กรกลับไปดูว่าดูแลพนักงานเป็นเครื่องจักรหรือสิ่งมีชีวิต แล้วดูแลเขาแค่ในบริษัทหรือดูแลเขาไปถึงชีวิตด้านอื่นๆ ด้วย

 

อย่างแรกพี่คิดว่าดีแล้วที่น้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตในการทำงาน เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญ เราคงไม่มีความสุขในการทำงานแน่ถ้าเราทำงานหนักเกินไป ถ้าเราไม่มีเวลาให้ครอบครัว ถ้าเรากลายเป็นคนที่หายใจเป็นงานอย่างเดียว งานมันไม่ใช่ทั้งหมดทั้งมวลในชีวิตนี่นะ เพราะฉะนั้นถ้าน้องจะบอกว่าหนูเบื่องานจัง เพราะงานหนักจนไม่มีเวลา แถมเงินก็น้อย เรื่องนี้ก็เข้าใจได้ครับ

 

เรื่องหนึ่งที่พี่อยากบอกน้องก็คือมันไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ มันไม่มีงานที่ลงแรงน้อย ไม่ต้องเหนื่อย แต่ได้เงินเยอะ เวลาก็ว่าง พี่คิดว่าทุกอย่างมันต้องแลกกัน แต่ไม่ได้แปลว่าน้องจะมีชีวิตแบบที่น้องอยากมีไม่ได้

 

คำแนะนำของพี่สำหรับเด็กจบใหม่ก็คือ ช่วง 1-3 ปีแรกของการทำงาน เผลอๆ อาจจะ 5 ปีแรกด้วยซ้ำ ให้คิดไว้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการหาประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด เพราะน้องจะได้เรียนรู้ทุกอย่างตั้งแต่ในระดับพื้นฐานที่สุด แล้วการมีประสบการณ์นี่ล่ะครับที่จะทำให้น้องมีต้นทุนในการออกแบบชีวิตแบบที่น้องอยากมีได้

 

ไม่ได้บอกว่าน้องจ๋า บ้างานไปเลยลูก แต่ทุกอย่างมันจะยากในตอนแรกเสมอ อะไรที่หนูรู้สึกว่าตอนนี้มันยากจังเลย หนักจังเลย พอน้องฝึกมากขึ้นมันก็จะง่ายขึ้น หรือน้องจะรู้ว่าจะรับมือกับมันอย่างไร จากเดิมที่เคยใช้เวลากับบางอย่างนานมากก็จะใช้เวลาน้อยลง แต่เป็นเวลาน้อยลงแบบที่ยังละเอียดกับมันอยู่ จากเดิมที่เคยต้องแบกงานกลับไปบ้าน น้องก็เริ่มบริหารเวลาให้ไม่ต้องหอบงานกลับไปทำที่บ้านได้ เพราะรู้แล้วว่าจะจัดการกับมันอย่างไร หรือถ้าต้องเอากลับไปทำที่บ้านจริงๆ ก็รู้ว่าจะปิดจ๊อบนี้ได้เร็วแค่ไหน

 

ระหว่างนี้มันจะมีเรื่องกวนใจน้องเสมอว่าทำไมมันหนักจัง ทำไมมันยากจัง เวลาก็มีน้อย เงินก็ให้นิดเดียว มันมีอยู่แล้วล่ะ แต่พี่อยากให้น้องโฟกัสว่ามันจะดีขึ้นเมื่อเราเก่งขึ้น แต่ ณ เวลานี้ขอให้เราอดทนเพื่อเรียนรู้ไปก่อน เราจำเป็นต้องสร้างภูมิต้านทานให้ตัวเองไว้เยอะๆ ตั้งแต่ทำงานใหม่ๆ นี่ล่ะครับ เพราะเมื่อโตไปน้องอาจจะเจอปัญหาหนักกว่านี้ น้องจะได้รู้ว่าต้องรับมือกับมันอย่างไร และน้องจะขอบคุณที่เคยผ่านความลำบากมาก่อน

 

อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้มากๆ ก็คือการคุยกับหัวหน้าหรือพี่ๆ ที่ทำงาน ยิ่งถามมากเราก็ยิ่งได้ความรู้เยอะ แล้วพอเรารู้มากขึ้น เราก็จะจัดสรรเวลาได้มากขึ้น เพราะเราจะไม่เสียเวลาไปกับความผิดพลาดที่มันควรจะป้องกันได้หรือไม่ควรเกิดขึ้น ไปจนถึงว่าถ้ารู้สึกว่างานมันหนักจริงๆ การบอกหัวหน้าก็เป็นเรื่องที่เราทำได้ครับ เป็นไปได้ไหมครับว่าวิธีการทำงานแบบเก่าๆ ที่ทำกันมามันทำให้ทุกคนเสียเวลาและต้องใช้เวลากับการทำงานมากจนกินเวลาส่วนตัวของทุกคนไปหมด ถ้าเราจะหาวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ ที่ลดการเสียเวลาของทุกคนได้ แต่ยังได้งานที่ดีอยู่ และคุณภาพชีวิตของทุกคนก็ยังดีได้ พี่คิดว่าเราก็น่าจะหาทางช่วยกันนะ ในเมื่อเราเห็นๆ อยู่ว่าวิธีการแบบเก่าๆ มันกินเวลาของเราเยอะ ใครจะรู้ หนูอาจจะเป็นคนที่ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของคนในที่ทำงานดีขึ้นมาก็ได้

 

ถ้ามันไม่ไหวจริงๆ ลองคุยกับหัวหน้านะครับ เราจะได้ช่วยกันออกแบบการทำงานที่ทุกคนไม่ต้องทำงานหนักขนาดนั้น การทำงานหนักตลอดจะได้งานที่ดีได้อย่างไร ถ้าหัวหน้าบอกว่าอย่างไรก็ต้องทำ อันนี้เราต้องมาคุยกันแล้วว่าทำได้ แต่จะมีวิธีการทำงานแบบไหนที่จะช่วยเราได้บ้าง แต่ไม่ได้แปลว่างานหนักแล้วเราก็จะไม่ทำนะครับ ถ้าเรากลายเป็นคนหยิบโหย่ง นั่นก็ทำไม่ได้ นี่ก็ทำไม่ได้ เราก็จะไม่เก่งเสียที เราจะโตไปเป็นคนกลวงๆ ซึ่งนั่นแหละคือการเติบโตที่น่ากลัวมาก

 

ส่วนเรื่องการมีเวลาให้ครอบครัว พี่คิดว่าก็เป็นเรื่องที่เราไม่ควรทิ้ง เมื่อไรก็ตามที่มีเวลาให้ครอบครัว เราก็ให้เวลาเต็มที่ บางทีมันอาจจะไม่ได้เป็นเวลาที่มากด้วยปริมาณ แต่ให้มากด้วยคุณภาพ เอาเป็นว่าโทรหาท่านบ่อยๆ ส่งข้อความหาท่าน ไปหาท่าน แสดงความเป็นห่วงอย่างที่เราควรทำ เล่าให้ท่านฟังบ่อยๆ ว่าแต่ละวันเราไปเจออะไรมาบ้าง และเราได้เรียนรู้อะไรจากมัน ทำทุกอย่างที่เราจะยังเชื่อมโยงกับครอบครัวอยู่ ทำให้เป็นนิสัยเลย ไม่อย่างนั้นพอเราทำงานไปมากๆ งานอาจจะถ่างความสัมพันธ์ของเรากับครอบครัวให้ห่างกันมากกว่าเดิม

 

ชีวิตจริงในการทำงานมันไม่ได้สวยหรูไปหมด แต่เราทำให้มันดีขึ้นได้ ณ เวลานี้ขอให้น้องอดทนเพื่อเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุดก่อน ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ เรียนรู้กันไป แล้วความตั้งใจของน้องนี่ล่ะครับจะพาให้น้องมีชีวิตอย่างที่น้องอยากมีได้ พี่เป็นกำลังใจให้ครับ

 

*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X