×

ส่องกระแส De-Dollarization หลังนโยบาย Fed ป่วนสกุลเงินท้องถิ่นหนัก หรือโลกจะเข้าสู่ยุค Multipolar Currency?

10.07.2023
  • LOADING...
De-Dollarization

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีรายงานมากมายระบุว่าหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เนื่องมาจากการอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่น โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market)

 

โดยในปีนี้ได้เกิดกระแส De-Dollarization ขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) การใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย การแช่แข็งสินทรัพย์ของรัสเซีย และการตัดรัสเซียออกจากระบบการชำระเงินโลก

 

ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีข้อขัดแย้งกับสหรัฐอเมริการวมถึงจีน เร่งกระบวนการลดการพึ่งพาดอลลาร์หรือ De-Dollarization ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุค Multipolar Currency

 

การดำเนินนโยบาย Fed ฉุดสกุลเงินท้องถิ่นผันผวนหนัก

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมปี 2022 เงินบาทเคยอ่อนค่าไปแตะระดับ 38.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการอ่อนค่าหนักสุดตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2006 หรือในรอบราว 16 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาชี้แจงว่า การอ่อนค่าหนักของบาทในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นผลมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed

 

จีน

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2023 เงินหยวนได้อ่อนค่าแตะ 7.27 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิง (Benchmark Lending Rates) ถึง 2 ครั้งในเดือนมิถุนายน พร้อมทั้งได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอื่นๆ ด้วย โดยหลายฝ่ายมองว่า ความพยายามเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนอาจต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างเสถียรภาพให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่

 

โดยนักวิเคราะห์ของ CITIC Securities กล่าวเมื่อปลายเดือนมิถุนายนว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาจกระตุ้นให้เงินทุนไหลออกมากขึ้นในระยะสั้น ซึ่งช่วยลดความน่าดึงดูดใจของเงินหยวนต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

 

ไม่ใช่แค่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เท่านั้นที่ประสบกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน แต่ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นก็กำลังประสบความเสี่ยงที่คล้ายคลึงกัน

 

ญี่ปุ่น

โดยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2022 เงินเยนได้อ่อนค่าหลุดระดับ 145.07 ไป นับว่าอ่อนค่าหนักสุดในรอบกว่า 7 เดือน เนื่องจากข้อมูลทางเศรษฐกิจต่างๆ ของสหรัฐฯ เพิ่มความเป็นไปได้ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และอาจทำให้ Fed คงดอกเบี้ยระดับสูงไว้นานขึ้น

 

นอกจากนี้ยังมีการประเมินว่า ในช่วงที่เงินเยนอ่อนค่าหนักเมื่อเทียบกับยูโร ทำให้ขนาดเศรษฐกิจ (GDP) ของเยอรมนีแซงหน้าญี่ปุ่น (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกไปแล้ว

 

โดยเฉพาะหลังจากเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจคงนโยบายการเงินต่างๆ เอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งนโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี (YCC) และนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ทำให้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2023 เงินเยนได้อ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 ปีเมื่อเทียบกับยูโร ท่ามกลางการส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป

 

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าเงินเยนจะกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้ในระยะยาวขนาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะนำหน้าเยอรมนีต่อไป

 

จากตัวอย่างที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ทำให้เห็นว่า หลายประเทศกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพจากอัตราแลกเปลี่ยน จากการดำเนินนโยบายของ Fed และการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

 

‘ดอลลาร์สหรัฐ’ ในฐานะสกุลเงินหลักของโลก

จากข้อมูลเชิงสถิติแสดงให้เห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2023) ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ (US Dollar Index) แข็งค่าขึ้นราว 24.66% สำหรับหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจาก ‘สถานะสกุลเงินหลักของโลก’ ที่ถูกใช้เป็นเงินสำรองของธนาคารกลางต่างๆ มากที่สุด ถูกใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศมากที่สุด และถูกใช้ในตลาดเงินตลาดทุนมากที่สุด รวมไปถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ 

 

วิเคราะห์สถานะดอลลาร์: ด้านเงินสำรองระหว่างประเทศ

โดยตามข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ดอลลาร์สหรัฐครองสัดส่วนมากที่สุดในทุนสำรองทั่วโลก โดยอยู่ที่ 59.02% รองลงไปคือยูโร เยน และปอนด์สเตอร์ลิง

 

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวถือว่าลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน โดยตอนนั้นดอลลาร์เคยครองสัดส่วนกว่า 70% ในทุนสำรองของธนาคารกลางทั่วโลกในปี 1999

 

อย่างไรก็ตาม การวิจัยโดย Official Monetary and Financial Institutions Forum (OMFIF) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองของธนาคารกลางแห่งสหราชอาณาจักร เงินดอลลาร์ยังคงคิดเป็น 54% ของเงินสำรองทั้งหมดในเวลา 10 ปีข้างหน้า ซึ่งนับเป็นจำนวนมากอยู่ดี

 

การสำรวจของ OMFIF ยังพบว่า 16% ของธนาคารกลางทั่วโลกวางแผนเพิ่มความเสี่ยงกับเงินดอลลาร์สหรัฐต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ในทางตรงข้ามมี 10% ที่วางแผนลดความเสี่ยงกับเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ในอีก 10 ปีข้างหน้า ธนาคารกลางจำนวน 6% คาดว่าจะลดการถือครองเงินดอลลาร์

 

วิเคราะห์สถานะดอลลาร์: ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ตามการคำนวณของ Fed พบว่า ส่วนแบ่งของผลผลิตทางเศรษฐกิจโลก (World Output) ของสหรัฐฯ ลดลงจาก 32% ในปี 1980 เหลือ 24% ในปี 2020 ขณะที่ส่วนแบ่งการค้าโลกของสหรัฐฯ ก็ลดลงจาก 14% เป็น 11% ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

โดยถ้าหากแนวโน้มเช่นนี้ดำเนินไปต่อเนื่อง สถานะของดอลลาร์ก็อาจถูกสั่นคลอนเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเชิงโครงสร้างตลาดทุนของสหรัฐฯ ก็ยังคงมีสภาพคล่องมากพอ และความน่าดึงดูดที่ทำให้เม็ดเงินจากทั่วโลกเข้าไปในตลาดสหรัฐฯ ได้ 

 

วิเคราะห์ดอลลาร์: ในฐานะเงินที่ถูกซื้อขายแลกเปลี่ยนในระบบการค้าโลก

ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า ดอลลาร์สหรัฐคือสกุลเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบแลกเปลี่ยนมากที่สุดในโลก โดยครองสัดส่วนอยู่ที่ 88% ในปี 2022 รองลงมาคือยูโร เยน ปอนด์ หยวน และดอลลาร์ออสเตรเลีย นับเป็นระดับที่แข็งแกร่งอย่างมาก

 

ดังนั้นหากโครงสร้างเศรษฐกิจและการค้าโลกไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างยกเครื่องครั้งใหญ่ ดอลลาร์ก็ยังอาจครองสถานะสกุลเงินของโลกไปได้อีกอย่างน้อย 1 ทศวรรษ

 

จับตาประเทศตลาดเกิดใหม่ ‘แก้เกม’ ผ่านอาวุธ De-Dollarization

การครอบงำของดอลลาร์ค่อยๆ ลดลงในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเมื่อปี 2022 ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีข้อขัดแย้งกับสหรัฐฯ พยายามลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์มากขึ้น โดย THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมเหตุการณ์ De-Dollarization สำคัญๆ ในปีที่ผ่านมาดังนี้

 

BRICS ผลักดันการสร้าง ‘สกุลเงินร่วม’

โดยหนึ่งในกลุ่มประเทศที่แสดงถึงความพยายามในการท้าทายอำนาจของดอลลาร์อย่างโดดเด่นก็คือ BRICS ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยรัสเซีย อินเดีย และจีน

 

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศจากกลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งได้ประชุมหารือกัน พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมจากประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่อื่นๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และคาซัคสถาน โดยหนึ่งในวาระการประชุมคือการขยายจำนวนสมาชิกและการจัดตั้งสกุลเงินร่วมกัน

 

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บราซิลและอาร์เจนตินาอยู่ในขั้นตอนเบื้องต้นของการหารือเกี่ยวกับการออกสกุลเงินร่วมกัน เพื่อการทำธุรกรรมทางการเงินและการค้า เพื่อรับมือกับอุปสรรคทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งบ่อยครั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านอำนาจเงินสกุลดอลลาร์ในภูมิภาค

 

ทั้งนี้ หากความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จะทำให้สกุลเงินร่วมของทั้งสองประเทศกลายเป็นสกุลเงินร่วมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก 

 

‘จีน’ เร่งผลักดันหยวนสู่สากล

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนนับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่พยายามผลักดันให้ประเทศอื่นๆ ยอมรับสกุลเงินหยวนมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากเกิดสงครามในยูเครน ซึ่งนำไปสู่การแช่แข็งสินทรัพย์มูลค่ามหาศาลของรัสเซีย

 

โดยในปีนี้จีนได้เปิดตัวความร่วมมือเพื่อนำเงิน ‘หยวนสู่สากล’ จำนวนมาก เช่น การเจรจากับซาอุดีอาระเบียเพื่อซื้อขายน้ำมันด้วยเงินหยวน การประกาศข้อตกลงกับบราซิลเกี่ยวกับการหักบัญชีด้วยเงินหยวนสำหรับการค้าบางประเภท และการใช้เงินหยวนซื้อน้ำมัน ถ่านหิน และโลหะจากรัสเซีย

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ก็มีรายงานว่า ธนาคารกลางของอิรักเตรียมอนุญาตให้บริษัทในประเทศสามารถทำการค้ากับจีนโดยใช้เงินหยวนในการแลกเปลี่ยนได้เป็นครั้งแรก เพื่อชดเชยการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดท้องถิ่น 

 

ในเดือนมีนาคม รัฐบาลบราซิลประกาศว่า จีนและบราซิลบรรลุข้อตกลงการค้าโดยใช้สกุลเงินหยวนและเงินเรียลในการทำธุรกรรมกันโดยตรงแทนการใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินกลาง ซึ่งนับเป็นความพยายามล่าสุดของจีนที่จะลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ในการค้าระหว่างประเทศ

 

ด้านสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนของบราซิล (ApexBrasil) แถลงว่า “ข้อตกลงนี้เป็นที่คาดหวังว่าจะช่วยลดต้นทุน สนับสนุนการค้าทวิภาคียิ่งขึ้น และอำนวยความสะดวกในการลงทุน”

 

ตามข้อมูลจาก BIS ล่าสุดระบุว่า สัดส่วนของเงินหยวนในธุรกรรม FX ทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากเกือบ 0% เมื่อ 15 ปีก่อน เป็น 7% อย่างรวดเร็ว

 

ไทย

จากการเคลื่อนไหวที่ผันผวนของเงินบาทในบางช่วง ทำให้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธปท. ได้เปิดเผยแผนงานเกี่ยวกับ New FX Ecosystem ที่จะทำเพิ่มเติม ซึ่งรวมไปถึง ‘สนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างประเทศ’ ด้วย

 

ธปท. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับประเทศในภูมิภาคมีสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะประเทศจีนและญี่ปุ่น ขณะที่แนวโน้มทิศทางของเงินสกุลท้องถิ่นและเงินบาทมักเคลื่อนไหวในทางเดียวกัน ธปท. จึงสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) เช่น หยวน, เยน, ริงกิตมาเลเซีย และรูเปียห์อินโดนีเซีย ให้เป็นอีกทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของเงินดอลลาร์ ซึ่งมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

 

ประเทศเอเชียอื่นๆ

เมื่อเดือนมิถุนายน 2022 ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เตรียมเปิดการเจรจาเพื่อเพิ่มความร่วมมือด้าน ‘การแลกเปลี่ยนสกุลเงินเยนและวอน’ เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี หลังจากทั้งสองประเทศต้องเผชิญกับการอ่อนค่าของเงินสูงสุดในภูมิภาค และเผชิญกับความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ร่วมกันจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมถึงท่าทีของเกาหลีเหนือ

 

ในเดือนเมษายน อินเดียและมาเลเซียประกาศใช้เงินรูปีอินเดีย (INR) เป็นวิธีการชำระเงินนอกเหนือจากสกุลเงินอื่นๆ ยืนยันถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการผลักดันเงินรูปีสู่สากล หวังช่วยเพิ่มการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศ และลดต้นทุนการทำธุรกรรมสำหรับธุรกิจ

 

นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็มีรายงานว่า อินเดียกำลังซื้อน้ำมันรัสเซียในสกุลเงินเดอร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE Dirham) และรูเบิล

 

โลกอาจเข้าสู่ยุค Multipolar Currency 

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้ความเห็นถึงกระแส De-Dollarization ที่กำลังเกิดขึ้นว่า “ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีการพูดกันมากขึ้นว่าหยวนจะเข้ามาแทนดอลลาร์ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันดอลลาร์เริ่มมีบทบาทน้อยลงจริง แต่ถ้าเปรียบเทียบสัดส่วนจะเห็นว่า 58% กับ 3% ยังต่างกันมาก ถ้าหยวนจะเข้ามามีบทบาทในฐานะการเป็นเงินสกุลหลักมากขึ้นได้ สิ่งที่จีนต้องทำคือเปิดเสรีเงินทุนให้มีการซื้อขายเงินหยวนได้เสรี ซึ่งคงยังไม่เกิดขึ้นและคงต้องใช้เวลาอีกนานมาก”

 

รุ่งระบุว่า การแบ่งขั้วอำนาจของโลกที่เริ่มทวีความชัดเจนขึ้น ทำให้กลุ่มประเทศ BRICS พยายามจะเข้ามาท้าทายอำนาจของฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปด้วยการค้าขายกันด้วยสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น แต่คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานพอสมควรกว่าที่จะลดบทบาทของดอลลาร์ลงได้อย่างมีนัย และหากมีการเปลี่ยนระบบการเงินโลกมาทดแทนเงินดอลลาร์จริงก็เชื่อว่าจะอยู่ในรูปแบบ Multipolar Currency หรือการที่เงินหลายๆ สกุลเข้ามามีบทบาทพร้อมๆ กันมากกว่าการมีเงินสกุลใดสกุลหนึ่งขึ้นมาแทนที่ดอลลาร์

 

“ก่อนหน้านี้สกุลเงินที่ใกล้เคียงจะมาแทนดอลลาร์มากที่สุดคือเงินยูโร แต่ในปี 2012 กลับเกิดวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปขึ้น ทำให้แผนที่จะก้าวขึ้นมาแทนดอลลาร์จบและไปต่อไม่ได้ ตอนนี้คนจึงมามองที่เงินหยวนแทน แต่อย่างที่บอกไปว่าหนทางยังอีกยาวไกล สิ่งที่เราจะเห็นคงเป็นบทบาทของดอลลาร์ที่จะทยอยลดลงไปอย่างช้ามากกว่า” รุ่งกล่าว

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising