×

จับตากระแส De-Dollarization หลังเงินดอลลาร์กลายเป็น ‘อาวุธนิวเคลียร์ทางการเงิน’ คาดประเทศเอเชียลดการสำรอง

22.12.2022
  • LOADING...
De-Dollarization

ตลอดทั้งปี 2022 ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นสูงสุดเกือบ 20% อ้างอิงจาก Dollar Index ที่วิ่งขึ้นจาก 95.97 ไปแตะจุดสูงสุดที่ 114.78 ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่ราว 104 สะท้อนถึงการแข็งค่าอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ของโลก

 

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าอย่างมากของสกุลเงินดอลลาร์ ทำให้ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายประเทศเริ่มมองหาแนวทางอื่นที่จะช่วยลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์

 

สำหรับประเทศเศรษฐกิจที่ขนาดเล็กกว่าอย่างหลายประเทศในเอเชีย ต่างกำลังทดลองลดการสำรองเงินดอลลาร์ (De-Dollarization) ขณะที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกก็กำลังลดสัดส่วนหนี้ในสกุลเงินท้องถิ่นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อลดความเสี่ยงจากการแข็งค่ามากขึ้นอีกของเงินดอลลาร์

 

การแข็งค่าอย่างมากของเงินดอลลาร์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการคว่ำบาตรรัสเซียในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่ตามมาคือ ประเทศอื่นๆ ต่างพยายามลดความเสี่ยงในลักษณะนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

John Mauldin นักกลยุทธ์การลงทุนของ Millennium Wave Advisors กล่าวว่า “รัฐบาลของ Joe Biden ทำผิดพลาดสำหรับการที่นำค่าเงินดอลลาร์และระบบการชำระเงินของโลกมาเป็นอาวุธ สิ่งที่เกิดขึ้นจะบีบบังคับให้นักลงทุนที่ไม่ได้ลงทุนในสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศอื่นๆ ต้องกระจายความเสี่ยงออกไปถือครองสกุลเงินอื่นๆ นอกเหนือจากดอลลาร์”

 

อย่างกรณีรัสเซียและจีนที่เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้วเกี่ยวกับการพยายามโปรโมตสกุลเงินของตัวเองเพื่อใช้เป็นตัวเลือกสำหรับการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย

 

เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศอย่างบังกลาเทศ คาซัคสถาน และสปป.ลาว ต่างเริ่มเจรจากับจีนเพื่อจะเพิ่มสัดส่วนการใช้เงินหยวน ขณะที่อินเดียก็พยายามจะผลักดันให้เงินรูปีถูกใช้มากขึ้นในระดับโลก อย่างการทำข้อตกลงเกี่ยวกับระบบการชำระเงินแบบทวิภาคี (Bilateral Payment) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเดือนนี้

 

ปัจจัยหลักที่ทำให้แต่ละประเทศพยายามหนีออกจากการใช้เงินดอลลาร์เกิดจากการตัดสินใจของยุโรปและสหรัฐฯ ในการตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ซึ่งถูกนิยามว่าเป็นการใช้ ‘อาวุธนิวเคลียร์ทางการเงิน’ ทำให้ธนาคารเกือบทั้งหมดของรัสเซียถูกตัดขาดจากธุรกรรมนับ 10 ล้านครั้งต่อวัน

 

นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังเป็นปัญหาอย่างมากต่อประเทศในเอเชียซึ่งเผชิญกับราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งภาระหนี้ที่หนักขึ้น และทำให้ปัญหาความยากจนยิ่งแย่ลง

 

ศรีลังกาเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด เนื่องจากศรีลังกาต้องผิดนัดชำระหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์เป็นครั้งแรก หลังจากที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจนกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ขณะที่เวียดนามก็กล่าวโทษการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ว่าทำให้เกิดปัญหาสำหรับการนำเข้าพลังงาน

 

แม้ว่าประเทศต่างๆ จะพยายามลดการพึ่งพิงสกุลเงินดอลลาร์ แต่ดูเหมือนสถานะของเงินดอลลาร์อาจจะยังไม่ถูกกระทบในเร็วๆ นี้ ความแข็งแกร่งและขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับการเก็บรักษาเงิน นอกจากนี้เงินดอลลาร์ยังมีสัดส่วนถึง 88% ของการค้าขายโลก แม้ว่าเงินหยวนจะได้รับความนิยมมากขึ้นแต่ก็ยังคิดเป็นเพียง 7% เท่านั้น

 

George Boubouras หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ K2 Asset Management ในออสเตรเลีย กล่าวว่า “มันค่อนข้างยากมากที่จะแข่งขันในสกุลเงินปกติ อย่างรัสเซียที่พยายามบังคับให้เกิดการใช้เงินรูเบิล ท้ายที่สุดแล้วนักลงทุนยังคงมองหาสิ่งที่มีสภาพคล่องสูงสุด ซึ่งคงไม่มีอะไรจะแทนที่เงินดอลลาร์ได้”

 

โดยสรุปแล้วเงินดอลลาร์ในฐานะ ‘ราชา’ จะยังคงครองบัลลังก์ของตัวเองไปอีกหลายทศวรรษที่กำลังจะมาถึง แต่โมเมนตัมของการใช้สกุลเงินอื่นๆ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงดำเนินต่อไป และบีบบังคับให้ประเทศต่างๆ มองหาแนวทางของตัวเอง

 

Sri Mulyani Indrawati รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย กล่าวว่า “สงครามในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียจะเป็นบทเรียนที่มีค่าอย่างมาก หลายประเทศรู้สึกว่าพวกเขาสามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้โดยตรงโดยใช้สกุลเงินของตัวเอง ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยสร้างสมดุลของระบบการชำระเงินของโลก”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X