×

กรมควบคุมโรคคาดการณ์อาจมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น หลังไตรมาสแรกปี 2563 มีผู้ป่วยกว่า 9 หมื่นราย

05.04.2020
  • LOADING...

วันนี้ (5 เมษายน) กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2563 (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มีนาคม 2563) มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 92,129 ราย เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยสะสมในภาพรวมของปี 2563 พบว่าสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากที่สุดคือ แรกเกิด-4 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี และ 10-14 ปี ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ จังหวัดพะเยา เชียงใหม่ หนองคาย ตามลำดับ 

 

สำหรับเหตุการณ์ที่พบผู้ป่วยสงสัยหรือยืนยันไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มก้อน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 เมษายน 2563 พบ 24 เหตุการณ์ใน 18 จังหวัด โดยพบมากในโรงเรียน/มหาวิทยาลัย เรือนจำ สถานที่ทำงาน 15 เหตุการณ์ การเข้าค่ายฝึกอบรม 3 เหตุการณ์ ซึ่งเป็นสถานที่รวมตัวกันเป็นหมู่มาก

 

กรมควบคุมโรคพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง บางพื้นที่อาจมีฝนตกจากพายุฤดูร้อน ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย 

 

ดังนั้นกรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก เช่น ห้างสรรพสินค้า และตลาด ซึ่งในช่วงนี้ควรงดจัดกิจกรรมและงานการแสดงต่างๆ ประชาชนควรป้องกันตนเองโดยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดบ่อยครั้ง หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่นหรือผู้ที่มีอาการป่วย รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ หมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ และพักผ่อนให้เพียงพอ  

 

สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือเด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มากกว่า 7 เดือน ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม ผู้ที่มีโรคประจำตัว และบุคลากรทางการแพทย์ ควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และหากมีอาการป่วยให้ไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X