วันนี้ (8 ตุลาคม) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้
กรมควบคุมโรคขอให้ประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนในช่วงฝนตกเพิ่มความระมัดระวัง โดยการตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน เช่น ที่ปัดน้ำฝน หรือระบบไฟฟ้า และไม่ขับรถเร็วขณะฝนตกหรือถนนเปียก ซึ่งช่วงที่ฝนตก 10 นาทีแรกเป็นช่วงที่รถมีโอกาสลื่นไถลมากที่สุด เพราะน้ำฝนจะชะล้างคราบน้ำมันและฝุ่นละอองที่ติดอยู่บนพื้นถนน ทำให้เกิดเป็นเสมือนแผ่นฟิล์มอยู่บนผิวถนน ซึ่งอาจส่งผลให้รถลื่นและเสียหลักจนเกิดอุบัติเหตุได้ จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคขอแนะนำผู้ขับขี่ควรปฏิบัติ 7 วิธีขับขี่ให้ปลอดภัยในช่วงฝนตกและน้ำท่วมขังดังนี้
- ลดความเร็ว ใช้ความเร็วที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ
- เปิดไฟหน้ารถเสมอ โดยเปิดไฟต่ำ เพื่อช่วยให้มองเห็นสิ่งต่างๆ บนถนนได้ชัดเจนขึ้น และให้รถคันอื่นมองเห็นรถของเราได้จากระยะไกล
- เปิดใบปัดน้ำฝน โดยปรับระดับความเร็วของใบปัดน้ำฝนให้สัมพันธ์กับความแรง และปริมาณของฝนที่ตกลงมา
- ทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้า เพราะสภาพถนนที่เปียกลื่น ต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้น
- หลีกเลี่ยงการแซง แต่หากจำเป็นควรประเมินสถานการณ์ให้ดีก่อนแซง
- กรณีรถลื่นไถลหรือเหินน้ำ ห้ามเหยียบเบรกจนล้อหยุดหมุนในทันที เพราะอาจทำให้รถพลิกคว่ำได้ ควรลดความเร็ว ใช้เกียร์ต่ำจนกว่ารถจะทรงตัวได้ แล้วจึงค่อยเหยียบเบรกเพื่อหยุดรถ
- เมื่อต้องขับรถผ่านน้ำท่วมขัง ให้หยุดเพื่อประเมินสถานการณ์ หากระดับน้ำลึกสูงกว่าขอบประตูรถ ไม่ควรขับฝ่าไป ควรเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น ทั้งนี้หากพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ให้โทรขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพทันที โทร. 1669
นพ.โอภาสกล่าวต่อไปว่า ขณะที่ฝนตกหนักอาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังหรือน้ำท่วมฉับพลัน เสี่ยงโดนสัตว์มีพิษกัดต่อยได้ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่หนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามมุมมืดต่างๆ ของบ้าน เช่น ตู้เก็บของในครัว ดังนั้นหลังจากฝนตกแล้วควรตรวจสอบจุดต่างๆ ของบ้าน เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษเข้าบ้าน และควรป้องกันไม่ให้สัตว์มีพิษกัดต่อย โดยไม่เข้าไปในที่รก ไม่แช่น้ำเป็นเวลานาน หากต้องลุยน้ำควรแต่งกายมิดชิด ใส่กางเกงขายาว สวมถุงพลาสติกหุ้มเท้าและปลายขากางเกงทั้งสองข้างแล้วรัดด้วยเชือกหรือยาง เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษเข้าไปในกางเกง
หากมีรายละเอียดสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล