ในการประชุม World Economic Forum จากทางไกลที่เพิ่งผ่านพ้นไป อูร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่าโลกจำเป็นต้องมีความตกลงด้านความหลากหลายทางชีวภาพในลักษณะเดียวกับความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวคือความตกลงพหุภาคีที่มีการกำหนดพันธกรณีเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าและทะเล โดยกำหนดเป็นตัวเลขเป้าหมายที่ชัดเจน
ประธานคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่าสาเหตุหนึ่งในการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาจากการทำลายป่า ทำให้สัตว์ถูกผลักดันให้อพยพจากป่าเข้าสู่เมือง และนำเชื้อโรคมาแพร่สู่คน ซึ่งหากเราไม่แก้ไขปัญหานี้ โรคระบาดครั้งใหม่ก็จะอุบัติขึ้นในไม่ช้า
ฟอน แดร์ เลเยน กล่าวต่อถึงความสำคัญของธรรมชาติกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ โดย GDP เกินครึ่งของโลกมาจากกิจกรรมที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติสูง เช่น อาหารและการท่องเที่ยว และรายงานความเสี่ยงโลก 2021 (World Economic Forum Global Risk Report) ได้ระบุว่าความเสี่ยงที่โลกต้องเผชิญ 5 อันดับแรกล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้นหมด เพราะปัญหาแต่ละอย่างต่างเกี่ยวโยงกัน เช่น การทำลายป่า การที่เราสูญเสียป่าไม้ไม่เพียงทำให้สูญเสียพื้นที่สีเขียว แต่เรายังสูญเสียตัวช่วยสำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน
ภายใต้ยุทธศาสตร์ความหลากหลายทางชีวภาพ สหภาพยุโรปวางแผนออกกฎหมายบังคับให้มีการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางบก 30% และทางทะเล 30% นอกจากนี้ 10% ของพื้นที่คุ้มครองดังกล่าวจะอยู่ภายใต้มาตรการอนุรักษ์ที่เคร่งครัด ซึ่งฟอน แดร์ เลเยน จะผลักดันให้ประชาคมโลกประกาศเป้าหมายเดียวกันกับสหภาพยุโรปที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายชีวภาพ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2021 ที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน
แนวคิดการตั้งเป้าหมายการรักษาผืนป่าและทะเลถอดแบบมาจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและได้รับฉันทามติของประชาคมโลก โดยมีภาคี 196 ประเทศ (รวมไทยด้วย) ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเคยมีความตกลงตกลงพหุภาคีเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยมรดกโลก ปี 1972 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ปี 1973 และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) ปี 2003 แต่ยังไม่มีความตกลงใดที่มุ่งกำหนดตัวเลขเป้าหมายการรักษาผืนป่าและทะเล
ตามสถิติของสหภาพยุโรป การบริโภคของชาวยุโรปเป็นต้นเหตุของการตัดไม้ทำลายป่าในโลกประมาณ 10% ดังนั้นนอกจากการกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พื้นที่ป่าและทะเลในทวีปยุโรปเองแล้ว สหภาพยุโรปยังพยายามลดการนำเข้าสินค้าที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า เช่น น้ำมันปาล์ม รวมทั้งบังคับให้บริษัทผู้นำเข้ามีการตรวจสอบด้านความยั่งยืนอย่างรอบด้าน (Sustainable Corporate Governance) กับคู่ค้าในประเทศที่สาม
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/speech_21_221
- https://www.euractiv.com/section/energy-environment/news/biodiversity-needs-its-own-paris-agreement-von-der-leyen-says/
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ