×

ทำไมการลาออกของประธานธนาคารโลก ถึงเป็นข่าวดีกับการต่อสู้ภาวะโลกรวน

17.02.2023
  • LOADING...
เดวิด มัลพาสส์

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (15 กุมภาพันธ์) เดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก ได้ประกาศข่าวสุดช็อกว่า เขาจะก้าวลงจากตำแหน่งสำคัญภายในเดือนมิถุนายนนี้ หรือก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งเกือบ 1 ปี 

 

แม้เขาจะไม่ได้เอ่ยถึงเหตุผลที่ทิ้งเก้าอี้ผู้นำเวิลด์แบงก์อย่างชัดเจน โดยกล่าวแค่เพียงว่า ตนเองได้คิดมาดีแล้ว และอยากที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ แต่การสละตำแหน่งของเขามีขึ้นท่ามกลางช่วงเวลาที่มรสุมถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มัลพาสส์เผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากกรณีที่เขาแสดงความคิดเห็นเชิงปฏิเสธปัญหาภาวะโลกรวน จนถึงขั้นขัดแย้งกับทำเนียบขาว และทำให้หลายฝ่ายเรียกร้องให้เขาก้าวลงจากตำแหน่งตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม การประกาศลาออกของมัลพาสส์ ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมออกมาแสดงความดีใจกันยกใหญ่ เพราะมองว่านี่เป็น ‘ข่าวดี’ ที่อาจนำไปสู่การเปิดศักราชใหม่สำหรับการจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ เปลี่ยนไปสู่แนวคิดเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เมื่อพ้นยุคของผู้นำธนาคารโลกที่ไม่ใส่ใจกับปัญหาโลกรวน

 

ผู้นำธนาคารโลกที่ไม่เชื่อเรื่องภาวะโลกรวน

  • ย้อนกลับไปเมื่อปี 2019 อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งนั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ได้แต่งตั้งให้มัลพาสส์ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลก โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น 5 ปีด้วยกัน ส่งผลให้มัสพาสส์ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ที่กุมบังเหียนองค์กรซึ่งทำหน้าที่ปล่อยกู้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับบรรดาประเทศยากจน เพื่อช่วยให้ประเทศเหล่านั้นสามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพ ความหิวโหยอดอยาก ความขัดแย้ง รวมไปถึงประเด็นเรื่องของภาวะโลกรวนด้วย

 

  • แต่แล้วในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุการณ์ที่สั่นคลอนเก้าอี้ของผู้นำเวิลด์แบงก์ เมื่อเขาได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้หลายคนถึงกับกุมหัว หลังจากที่มีนักข่าวยื่นคำถามให้เขาว่า เขายอมรับฉันทามติทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า “การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิโลกปรับตัวขึ้นหรือไม่” ซึ่งเขากลับตอบมาแบบมึนๆ ว่า “ผมไม่รู้ ผมไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์” จนทำให้ถูกโจมตีอย่างหนัก จนถึงกับมีผู้ที่กล่าวว่า ผู้นำธนาคารโลกยุคนี้เป็นพวก Climate Crisis Denier หรือผู้ที่ไม่เชื่อว่าภาวะโลกรวนเป็นเรื่องจริง

 

  • ประเด็นดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดย อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งโจมตีมัลพาสส์มาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า “ตลกมากเลยที่เรามีพวกปฏิเสธภาวะโลกรวนเป็นประธานธนาคารโลก” ขณะที่เลขาธิการสื่อมวลชนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวกับนักข่าวว่า “เราไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของมัลพาสส์ เราคาดหวังว่าธนาคารโลกจะเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เราขอประณามคำพูดของประธานธนาคารโลก”

 

  • แม้ในภายหลังมัลพาสส์จะออกมาแก้ต่างว่าเขาไม่ใช่กลุ่มคนที่ปฏิเสธภาวะโลกรวน และกล่าวด้วยว่ารู้สึกเสียใจที่ตนเองเลือกใช้คำพูดผิดจนก่อให้เกิดเรื่องวุ่นๆ ตามมา แต่ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของเขาก็เสียหายย่อยยับไปแล้ว

 

  • ประกอบกับที่ผ่านมา มัลพาสส์เผชิญกับกระแสเรียกร้องให้เขาก้าวลงจากตำแหน่งอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากเขา ‘ก้าวพลาด’ ในการบริหารจัดการทางการเงินอยู่หลายกรณี รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณด้านโลกรวนที่ต่ำกว่าที่ให้คำมั่นไว้ โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2022 การวิจัยของ Oxfam พบว่า จากจำนวนเงินมูลค่า 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ธนาคารโลกรายงานว่าใช้จ่ายไปกับการแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศในปี 2020 มีจำนวนเงินมากถึง 7 พันล้านดอลลาร์ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่านำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาด้านโลกรวนจริงหรือไม่

 

  • ต่อมาในการประชุม COP27 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 มัลพาสส์ก็เจอกับมรสุมลูกใหม่และใหญ่พอตัว เมื่อ มีอา มอตต์ลีย์ นายกรัฐมนตรีของประเทศบาร์เบโดส รับหน้าที่เป็นหัวหอกในการรวบรวมความสนับสนุนจากนานาชาติเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดตั้งระบบการเงินใหม่ที่มุ่งแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างตรงจุด และหัวใจสำคัญของแผนการนี้คือการปฏิรูปการดำเนินงานของธนาคารโลก

 

  • มอตต์ลีย์ประกาศต่อหน้าผู้นำโลกหลายชาติที่มาร่วมประชุมว่า “สถาบันที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ไม่ควรมีผลบังคับใช้มาถึงทศวรรษที่สามของศตวรรษที่ 21 เพราะมันไม่สามารถแก้ไขปัญหาในศตวรรษที่ 21 ได้ ปัญหาด้านสภาพอากาศยังไม่ใช่ประเด็นที่เกิดขึ้นหากย้อนไปในสมัยที่ธนาคารโลกก่อตั้ง” จากข้อเท็จจริงที่ว่าธนาคารโลกและองค์กรในเครือได้รับการจัดตั้งขึ้นภายใต้ Bretton Woods System ที่ตกลงกันในปี 1944 หรือตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

 

  • หนึ่งในประเด็นที่ธนาคารโลกถูกวิพากษ์วิจารณ์บ่อยที่สุด คืองบประมาณในการสนับสนุนการแก้ปัญหาด้านโลกรวนนั้นน้อยเกินไป กระจัดกระจายเกินไป และไม่ตรงเป้าหมาย แถมการเข้าถึงเงินทุนสำหรับประเทศยากจนก็มีเงื่อนไขที่ยุ่งยากมาก นอกจากนี้ ธนาคารโลกกลับเดินหน้าให้การสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วย โดยหากดูจากข้อมูลที่เปิดเผยเมื่อปีที่ผ่านมาจะพบว่าเวิลด์แบงก์ได้มอบเงินถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับโครงการด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลนับตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่มีการลงนามในข้อตกลงปารีส

 

  • คำกล่าวของมอตต์ลีย์ ตัวแทนจากบาร์เบโดส ประเทศเกาะเล็กๆ ที่เผชิญความเสี่ยงร้ายแรงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ได้รับเสียงเชียร์อย่างล้นหลามจากที่ประชุม COP27 รวมถึงมีประเทศต่างๆ จำนวนไม่น้อยที่ออกมาสนับสนุนแผนการของเธอ โดยผู้นำระดับโลก รวมถึง เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส, โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี, ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ จอห์น เคอร์รี ทูตด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ ได้หารือกันด้วยว่า การปฏิรูปธนาคารโลกที่มีการริเริ่มแนวคิดขึ้นมานี้ควรจะเป็นไปในทิศทางใดดี

 

  • ส่วนการประชุมดังกล่าว มัลพาสส์ทำได้แค่กล่าวเพียงว่า เวิลด์แบงก์ภายใต้การบริหารของเขานั้นอยู่ในระหว่างส่งมอบเงิน 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อแก้ไขวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ แต่ถึงเช่นนั้น หลายฝ่ายมองว่ายอดเงินดังกล่าวยังไม่ได้เสี้ยวของงบประมาณที่แท้จริงที่ควรนำไปใช้แก้ไขปัญหา ซึ่งอาจสูงถึงหลักแสนล้านหรือล้านล้านดอลลาร์

 

โอกาสดีสู่การปฏิรูปธนาคารโลก

 

  • ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมองว่า การประกาศลาออกจากตำแหน่งของมัสพาสส์ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน ควรนำไปสู่การปฏิรูปธนาคารโลกและสถาบันในเครือ เพื่อให้องค์กรโฟกัสไปที่ประเด็นด้านโลกรวนมากขึ้น โดย อัล กอร์ กล่าวว่า “มวลมนุษยชาติต้องการผู้นำธนาคารโลกที่ตระหนักและตอบสนองต่อภัยคุกคามจากภาวะโลกรวนอย่างสร้างสรรค์ ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้รับทราบว่าผู้นำคนใหม่กำลังจะมา นี่ต้องเป็นก้าวแรกสู่การปฏิรูปที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้ประเด็นด้านภาวะโลกรวนเป็นศูนย์กลางของนโยบายของเวิลด์แบงก์”

 

  • ที่ผ่านมานั้น บรรดาประเทศกำลังพัฒนาต่างรู้สึกผิดหวังกับงบประมาณแบบ ‘กระจิ๋วหลิว’ ของธนาคารโลกที่ให้การสนับสนุนพวกเขาในด้านการพัฒนาพลังงานสะอาด และช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ขณะที่บรรดาประเทศร่ำรวยผู้บริจาคเงินอุดหนุนในส่วนดังกล่าวก็พยายามผลักดันให้มีการปฏิรูปธนาคารโลกอย่างจริงจัง เพราะทนไม่ไหวที่เวิลด์แบงก์แทบไม่มีความคืบหน้าในการกำหนดแผนการด้านสภาพอากาศที่มีความครอบคลุม

 

  • เจค ชมิดท์ ผู้อำนวยการเชิงกลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศของสภาป้องกันทรัพยากรธรรมชาติแห่งสหรัฐฯ (US Natural Resources Defense Council) กล่าวว่า การลาออกของมัลพาสส์เปิดทางให้ธนาคารโลกได้กดปุ่มรีเซ็ตอีกครั้ง และเปิดทางสู่การสรรหาผู้นำคนใหม่ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านการเงินสำหรับภาวะโลกรวน เพราะในวันนี้ โลกต้องการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากขึ้น และต้องแก้กันอย่างเป็นระบบ เนื่องจากโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาก็ต้องการความช่วยเหลือมากขึ้นด้วย ซึ่งเขาหวังว่าเมื่อกระบวนการสรรหาผู้นำคนใหม่เสร็จสิ้นลง ธนาคารโลกจะมีการพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็วตามเสียงเรียกร้องของผู้เชี่ยวชาญและนานาประเทศทั่วโลก

 

  • ทั้งนี้ คาดการณ์ว่ามอตต์ลีย์จะแถลงรายละเอียดข้อเสนอของเธอ หรือที่เรียกว่า Bridgetown Agenda ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งรัฐบาลทั่วโลกจะร่วมหารือกันเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ก่อนที่การประชุมของกลุ่มธนาคารโลกช่วงฤดูใบไม้ผลิจะเปิดฉากขึ้นในเดือนเมษายน 

 

  • จากนั้นในปลายเดือนมิถุนายน มาครงจะจัดการประชุมสุดยอดทางการเงินเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีส ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น แผนใหม่ก็อาจพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการ หากนานาประเทศยังสามารถรักษาเจตนารมณ์ที่มีร่วมกันไว้ได้ และเมื่อถึงตอนนั้น ประธานธนาคารโลกคนใหม่ก็พร้อมที่จะมารับไม้ต่อแล้ว

 

นับตั้งแต่มีการก่อตั้งธนาคารโลก ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่แต่งตั้งประธานธนาคารฯ เสมอมา เช่นเดียวกับที่ผู้นำยุโรปได้ทำหน้าที่เลือกสรรหัวหน้ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศต้องการให้ประเพณีที่สืบทอดกันมานานดังกล่าวได้รับการปฏิรูปเช่นกัน โดยต้องการให้มีการแข่งขันกันในระดับโลกเพื่อเฟ้นหาประธานธนาคารโลกคนใหม่ แม้กระบวนการดังกล่าวอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้เร็วๆ นี้ แต่หากมีการผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริงก็จะถือเป็นมูฟสำคัญที่น่าจับตาอยู่ไม่น้อย

 

ภาพ: Kevin Dietsch / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising