×

ทำไมสุภาพบุรุษลูกหนัง เดวิด เบ็คแฮม ถึงเป็นขวัญใจของชาว LGBT

07.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เดวิด เบ็คแฮม ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น 1 ใน 10 แคนดิเดตที่มีสิทธิ์รับรางวัลจากงาน The British LGBT Award ในหมวดพันธมิตรผู้มีชื่อเสียง (Celebrities Allies) ร่วมกับคนดังอีก 9 คน
  • ฝ่ายผู้จัดงานให้คำอธิบายถึงการเสนอชื่อเบ็คแฮมว่า “ไม่ว่าจะต้องพบกับเหล่าแฟนบอลมากหน้าหลายตา ไปจนถึงนักข่าว และการปรากฏตัวบนหน้าสื่อต่างๆ เบ็คแฮมไม่เคยจะอายในสถานะการเป็นไอคอนของชาวเกย์”
  • เบ็คแฮมเคยกล่าวต่อโลกอย่างภูมิใจว่า “ผมเป็นผู้ชาย ผมเป็นกัปตันทีมชาติอังกฤษ และผมคิดว่าการที่คนเราเป็นเกย์มันก็โอเคนี่นา”

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เดวิด เบ็คแฮม ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น 1 ใน 10 แคนดิเดตที่มีสิทธิ์รับรางวัลจากงาน The British LGBT Award ในหมวดพันธมิตรผู้มีชื่อเสียง (Celebrities Allies) ร่วมกับคนดังอีก 9 คนอย่าง เจมส์ คอร์เดน, อะรีอานา กรานเด ไปจนถึงแฮร์รี สไตล์ส โดยทางฝ่ายผู้จัดให้คำอธิบายถึงการเสนอชื่อเบ็คแฮมส่วนหนึ่งว่า “ไม่ว่าจะต้องพบกับเหล่าแฟนบอลมากหน้าหลายตา ไปจนถึงนักข่าว และการปรากฏตัวบนหน้าสื่อต่างๆ เบ็คแฮมไม่เคยจะอายในสถานะการเป็นไอคอนของชาวเกย์”

 

ซึ่งครั้งหนึ่งที่นักข่าวได้สัมภาษณ์เบ็คแฮมเมื่อปี 2008 เบ็คแฮมยิ้มรับสถานะที่ได้รับอย่างภาคภูมิใจและกล่าวว่า “ผมชอบแฟชั่นและชอบที่จะดูดีอยู่เสมอ การที่ได้อยู่ในสถานะของเกย์ไอคอน และการมีผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกในระดับนั้นนับเป็นเกียรติอย่างมาก” ซึ่งถือเป็นคำตอบที่บอกอะไรได้หลายๆ อย่างสำหรับผู้ชายที่ชื่อเดวิด เบ็คแฮม ผู้เปลี่ยนทัศนคติของฟุตบอลต่อแฟชั่นและ LGBT

 

สำหรับคนที่ไม่ใช่แฟนกีฬาตัวยง อาจจะไม่รู้ว่าวงการกีฬาในสมัยก่อนนั้นมีความหวาดกลัวและเลือกปฏิบัติกับชาวรักร่วมเพศเป็นอย่างมาก หนึ่งในตัวอย่างที่เลวร้ายที่สุดคือกรณีที่เกิดขึ้นกับ จัสติน ฟาชานู อดีตดาวรุ่งชาวอังกฤษเชื้อสายไนจีเรีย ผู้เล่นผิวสีคนแรกที่ย้ายทีมด้วยค่าตัวกว่า 1 ล้านปอนด์ แถมยิงประตูประจำฤดูกาลของ BBC ในปี 1980 ใส่ยอดทีมอย่างลิเวอร์พูลได้อีกด้วย พอเล่าอย่างนี้ใครๆ ก็คงคิดว่าอนาคตของนักฟุตบอลหนุ่มในวงการน่าจะสดใสไม่น้อย จนกระทั่งผู้จัดการทีมได้ข่าวว่า ‘เขาเป็นเกย์’

 

เหตุการณ์ครั้งนั้นตามมาด้วยการทะเลาะและผิดใจกัน การถูกย้ายทีม สุดท้ายจัสตินเปิดตัวในปี 1990 กับหนังสือพิมพ์ The Sun จากนั้นชีวิตของเขาก็พบกับกราฟดิ่งลงเหว หลังจากการย้ายทีมอีกนับครั้งไม่ถ้วน รวมถึงมรสุมแห่งความเกลียดชังที่ถาโถมทั้งจากสื่อ แฟนบอล รวมไปถึงผู้เล่นด้วยกัน จัสตินตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในวันที่ 3 พฤษภาคม 1998 หลังตกเป็นผู้ต้องหาคดีล่วงละเมิดเด็กชายคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา โดยจัสตินได้ทิ้งจดหมายว่า ตัวเองได้รับการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม เพราะการเป็นคนผิวสีและด้วยเพศสภาพ โศกนาฏกรรมครั้งนั้นทำให้การ Come Out เป็นเหมือนฝันร้ายของนักกีฬาหลายๆ คน

 

ขณะเดียวกันในยุค 90s ชายที่ชื่อเดวิด เบ็คแฮม ถูกส่งมาเพื่อเยียวยาคำสาปนั้น เด็กหนุ่มหน้าตาดีราวกับหลุดมาจากวงบอยแบนด์ลงสนามภายใต้สีเสื้อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พร้อมกับฝีเท้าที่แม่นยำราวจับวาง ได้สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลก อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของ แชส นิวคี-เบอร์เดน นักเขียนชาวอังกฤษผู้เขียนชีวประวัติของคนดังมากมายอย่าง อเดลและเทย์เลอร์ สวิฟต์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ถึงผลกระทบต่อวงการฟุตบอลของเบ็คแฮม โดยกล่าวว่า “ก่อนการมาถึงของเบ็คแฮม มันมีกฎที่ไม่มีใครกล้าพูดถึงการเลือกปฏิบัติในวงการฟุตบอลหากคุณเป็นเกย์”

 

นิวคี-เบอร์เดน อธิบายว่า เบ็คแฮมเป็นนักเตะแบบที่ไม่มีใครในโลกเคยเห็นมาก่อนโดยเฉพาะทัศนคติที่เขามีต่อ LGBT โดยเบ็คแฮมไม่เคยถือตัวใกล้ชิดกับแฟนคลับของเขาที่เป็นเกย์ แถมยังกล้าบอกว่าตัวเองได้รับเกียรติที่ได้อยู่ในฐานะเกย์ไอคอน และมีความสุขที่จะให้ภรรยาคนสวยของเขาประกาศเรื่องนี้ไปทั่วโลก นอกจากนั้นเบ็คแฮมยังเป็นนักฟุตบอลคนแรกที่ให้สัมภาษณ์กับนิตสารเกย์ ทำให้มีบทสัมภาษณ์นักฟุตบอลมากมายในนิตยสารเกย์ตามมาจนกลายเป็นเรื่องปกติในที่สุด

 

“เบ็คแฮมเป็นคนเปิดประตูนั้น และผู้เปิดประตูคือผู้สร้างความแตกต่าง” นิวคี-เบอร์เดนกล่าว

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตที่ประสบความสำเร็จทั้งในและนอกสนาม และความเป็นซูเปอร์สตาร์มากกว่าการเป็นนักฟุตบอลของเบ็คแฮม ทำให้เขากลายเป็นต้นแบบของเด็กผู้ชายหลายล้านคนทั่วโลกทั้งในและนอกวงการฟุตบอล ดูได้จากความเป็น metrosexual หรือความเป็นแฟชั่นนิสต้าที่มากขึ้นของนักฟุตบอลทั่วโลกหลังการมาถึงของเบ็คแฮม การแต่งตัวนอกสนาม การทำผมทรงแปลกๆ การดูแลตัวเอง คล้ายกับว่าเด็กหนุ่มผู้หลงรักลูกฟุตบอลนอกจากจะอยากยิงฟรีคิกให้ได้อย่างเบ็คแฮมแล้ว ยังอยากมีทรงผมสุดเฉียบแบบไอดอลที่ชื่นชอบด้วย

 

นิวคี-เบอร์เดนกล่าวว่า เรื่องนี้ส่งผลในวงกว้าง แม้กระทั่งต่อแฟนบอลที่เป็นเกย์เองก็ตาม ที่ในสมัยก่อนมีแนวโน้มที่จะชื่นชอบหรือเคารพผู้เล่นแบบที่มีลักษณะความเป็นชายสูง ตัวอย่างเช่น วินนี โจนส์ หรือ อลัน เชียเรอร์ แต่เบ็คแฮมทำให้พวกเขารู้สึกว่ามันเป็นปกติที่จะเป็นทั้งนักฟุตบอลที่ดีโดยที่ดูแลตัวเองไปด้วย เรียกได้ว่าเบ็คแฮมได้ปลดล็อกความเชื่อเก่า และทำให้แฟนบอล LGBT ได้ผ่อนคลายและเป็นตัวเองมากขึ้น อย่างที่เบ็คแฮมเคยกล่าวต่อโลกอย่างภูมิใจว่า “ผมเป็นผู้ชาย ผมเป็นกัปตันทีมชาติอังกฤษ และผมคิดว่าการที่คนเราเป็นเกย์มันก็โอเคนี่นา”

 

แน่นอนว่าการเหยียดเพศในวงการฟุตบอลนั้นยังมีอยู่ เช่นเดียวกับการเหยียดเชื้อชาติ เมื่อปี 2013 ร็อบบี โรเจอร์ส นักฟุตบอลชาวอเมริกันได้ประกาศแขวนสตั๊ดหลังจากเจ้าตัวตัดสินใจ Come Out และบอกว่ายังเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเขาในการไปค้าแข้งในอังกฤษที่ผ่านมา

 

แต่ถ้าไปดูสถิติจะเห็นว่า ปัญหานี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในอังกฤษ ซึ่งจากผลสำรวจของเว็บไซต์ Forza Football รายงานว่า ถึงแม้จะไม่มีนักเตะที่ Come Out ในลีกสูงสุด ณ ปัจจุบัน แต่ทัศนคติของแฟนบอลที่มีต่อนักเตะที่เป็นเกย์หรือไบเซ็กชวลก็ดีขึ้น โดยส่วนใหญ่กว่า 80% เผยว่า ยอมรับได้หากนักเตะที่ Come Out ติดทีมชาติ เพิ่มขึ้น 7% จากปี 2014 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

 

เช่นเดียวกับทัศนคติของซูเปอร์สตาร์ของโลกลูกหนังหลายๆ คน ตัวอย่างเช่น คริสเตียโน โรนัลโด ที่ถูกล้อเลียนในเรื่องเพศสภาพจากบุคลิกที่รักการดูแลตัวเอง ก็เปิดเผยว่าเขาไม่คิดมากในเรื่องนี้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติ และเจ้าตัวเองยังเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการแต่งงานในเพศเดียวกันของโปรตุเกสชาติบ้านเกิดอีกด้วย

 

 

การส่งต่อ ‘ลูก’ ที่สวยงาม

 

เดวิด เบ็คแฮมได้ชื่อว่าเป็นแฟมิลีแมนและเป็นคุณพ่อที่ดีของลูกๆ ทั้ง 4 คนมาโดยตลอด และเป็นสุภาพบุรุษที่ให้เกียรติภรรยาอยู่เสมอ เบ็คแฮมเคยกล่าวถึงความเป็นเฟมินิสต์ของตัวเองว่า รู้สึกชอบที่จะคิดว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ โดยเฉพาะเมื่อเขามีลูกสาว และยังสนับสนุนความเท่าเทียมของมนุษย์ทุกเพศทุกเชื้อชาติเช่นกัน ด้วยความที่มาจากพื้นเพครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวย เราจึงเห็นเบ็คแฮมทำการกุศลมากมายตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเพื่อคืนกำไรแก่สังคม เบ็คแฮมกล่าวถึงครอบครัวผ่านบทสัมภาษณ์ว่า

 

“การมีลูกสาวเป็นส่วนที่สำคัญมากในเรื่องนี้ (การเป็นเฟมินิสต์) พ่อแม่ของผมจะคอยสอนผมเสมอให้เคารพคุณแม่ พี่สาว และคุณย่าของผม ผมนำสิ่งนี้ติดตัวไว้เสมอมาและอยากจะถ่ายทอดสิ่งนี้ไปให้ลูกชายของผมด้วย”

 

และดูเหมือนว่าความเป็นเฟมินิสต์ผู้สนับสนุนสิทธิของ LGBT จะส่งต่อไปถึงลูกชายของเขาได้จริงๆ เพราะนอกจากบรู๊คลินจะเป็นเพื่อนสนิทของโคลอี มอเรตซ์ ดาราสาวผู้สนับสนุนชาวเควียร์อย่างเปิดเผยแล้ว ยังเคยมีคนจับภาพบรู๊คลินสวมเสื้อกล้ามสนับสนุนชาว LGBT (Pride) ก่อนไปเข้าคลาสออกกำลังกายกับคุณพ่ออีกด้วย

 

ถึงแม้ว่าการที่จะบังคับให้ทุกคนยอมรับทุกเพศสภาพเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่สำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายในปัจจุบัน การให้เกียรติซึ่งกันและกันเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง การเปิดใจและทำความเข้าใจต่อผู้อื่นโดยไม่ล้อเลียนหรือทำให้รู้สึกด้อยกว่าเป็นมารยาททางสังคมที่สุภาพบุรุษทุกคนควรทำตาม ซึ่งเบ็คแฮมได้สอนเด็กหนุ่มหลายล้านคนทั่วโลกที่มองเขาเป็นไอดอลตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เขากลายเป็นฮีโร่ที่แท้จริงทั้งในและนอกสนาม

 

อ้างอิง:

FYI
  • สามารถดูผลสำรวจเพิ่มเติมได้ที่ lgbt.forza.football
  • ผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 50,000 รายที่ใช้งานเว็บไซต์จาก 38 ประเทศใน 5 ทวีป
  • ทัศนคติต่อการยอมรับนักฟุตบอล LGBT หากติดทีมชาติ ชาวอังกฤษ 80% ชาวอเมริกา 65% ชาวไอร์แลนด์และไอซ์แลนด์ 87% ระบุว่ายอมรับได้
  • ทัศนคติต่อการที่สโมสรควรให้ความรู้แก่แฟนๆ เรื่องการเหยียดเพศมากขึ้น ชาวสเปนคิดว่าควรให้ความรู้มากขึ้น 82% ขณะที่ซาอุดีอาระเบียอยู่ที่ 23% เยอรมนี 56% และอังกฤษ 75%
  • ทัศนคติต่อการสนับสนุนการเผยแพร่แคมเปญ LGBT ต่างๆ ผ่านกีฬา เช่น การปักธงสายรุ้งบนเสื้อแข่ง ไอซ์แลนด์เห็นด้วย 77% ขณะอียิปต์มีเพียง 8% ที่เห็นด้วย ส่วนอังกฤษและสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 66% และ 51% ตามลำดับ
  • คุณเคยพบเห็นการเหยียดเพศสภาพในสนามระหว่างการแข่งขันหรือไม่ แฟนบอลชาวสเปนระบุว่า พบเหตุการณ์ถึง 66% อังกฤษ 42% และอเมริกา 34%
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X